สธ.เตือนลุยน้ำนาน ระวังนกเขาไม่ขัน
อธิบดีกรมควบคุมโรค เตือนผู้ชายลุยน้ำเป็นเวลานานๆ เสี่ยงนกเขาไม่ขัน ส่วนเด็กเล่นน้ำระวังเป็นโรคปอดบวม
นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการเตรียมพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรณีอุทกภัยว่า การติดเชื้อบริเวณอวัยวะช่องทวาร ทางเดินปัสสาวะ และบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ ไม่ใช่เฉพาะผู้หญิงเท่านั้นที่ต้องระวัง แต่ผู้ชายก็ต้องระวังเช่นกัน เพราะอาจมีการติดเชื้อที่บริเวณอัณฑะ ซึ่งผิวหนังในบริเวณดังกล่าวบางมาก หรือแม้แต่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์โดยตรง ซึ่งหนังในบริเวณดังกล่าวบางมาก”ผู้ชายส่วนใหญ่ต้องแช่น้ำเป็นเวลานานกว่าผู้หญิงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการขนของหรือลุยน้ำออกไปด้านนอกที่พักอาศัย จึงเสี่ยงต่อการเกิดติดเชื้อทั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ซึ่งหากเกิดการอักเสบบริเวณอวัยวะเพศ เช่น มีอาการคัน แสบร้อน เป็นแผล หรือบวมแดง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดอันตรายได้เช่นเดียวกัน ที่ผ่านมาเราพบว่า การที่อวัยวะเพศของเพศชายต้องสัมผัสกับน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ก็จะไม่มีการตื่นตัวอยู่แล้ว และหลายคนก็เกิดอาการคัน ปัสสาวะขัด ยิ่งถ้ามีความเครียดด้วยก็จะส่งผลต่อสมรรถภาพทางเพศด้วย” นพ.พรเทพกล่าว
ด้าน ศ.พญ.อุษา ทิสยากร นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาวะน้ำท่วมอย่างหนัก หากเด็กที่ไปเล่นน้ำเกิดการสำลักน้ำอาจทำให้มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในปอดได้ ทำให้มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคต่างๆ ได้มากขึ้น โดยหนึ่งในโรคที่มากับน้ำท่วมที่สำคัญคือ โรคปอดบวม และโรคระบบทางเดินหายใจต่างๆ ซึ่งติดต่อกันได้ง่ายในสถานที่ที่มีเด็กอยู่รวมกันเยอะๆ รวมถึงสถานที่พักพิงผู้ประสบภัยน้ำท่วมก็อาจทำให้มีการแพร่ระบาดของโรคปอดบวมและโรคอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น”จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2554 พบผู้ป่วยโรคปอดบวมทั้งสิ้น 54,705 คน โดยพบผู้ป่วยเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี มากที่สุดถึงร้อยละ 40 รองลงมาเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ร้อยละ 29 ซึ่งในช่วงที่เกิดอุทกภัยและประชาชนเดือดร้อนมาก เชื่อว่าตัวเลขผู้ป่วยโรคปอดบวมมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นได้” ศ.พญ.อุษากล่าว
ส่วน ศ.เกียรติคุณ นพ.ธีรชัย ฉันทโรจน์ศิริ ที่ปรึกษาชมรมโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤติในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เชื้อที่ทำให้เกิดโรคปอดบวม คือ เชื้อนิวโมคอคคัสซึ่งหากแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ ก็อาจจะก่อให้เกิดโรคติดเชื้อรุนแรงในอวัยวะนั้นๆ ได้ และจะทำลายระบบต่างๆ ที่สำคัญของร่างกายในเวลาเพียงไม่กี่วัน ซึ่งเมื่อเนื้อเยื่อปอดถูกทำลาย ก็จะไม่สามารถส่งออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย หากรุนแรงจะทำให้ระบบหายใจล้มเหลวจนถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด นอกจากนี้เชื้อดังกล่าวยังสามารถก่อให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือฝีในสมอง โรคติดเชื้อในกระแสเลือด โรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน (หูน้ำหนวก) ได้ด้วย สำหรับอาการของโรคปอดบวมในเด็กคือ มีไข้ ไอ หายใจถี่และหอบ หายใจลำบากหรือมีเสียงดังวี้ดๆ หรือหายใจแรงจนซี่โครงบุ๋ม ถ้าพบว่าเด็กมีอาการไข้ ไอบ่อย หรือหายใจเร็ว ให้สงสัยว่าเด็กอาจเป็นโรคปอดอักเสบ ควรพาไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจยืนยันและการรักษาที่ถูกต้อง อย่าปล่อยทิ้งไว้เพราะหากอาการรุนแรงมากขึ้นอาจจะไม่ทันการ
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ