สธ.เตือนภัยพาสุนัขฉีดวัคซีนทุกปี
พิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่ร้ายแรง หากติดเชื้อจะไม่สามารถรักษาให้หายได้ ในไทยพบว่าสุนัขป่วยเป็นโรคนี้มากที่สุดร้อยละ 96 กระทรวงสาธารณสุขแนะให้ฉีดวัคซีนในสัตว์ทุกปี
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) เป็นโรคร้ายแรงที่พบได้ตลอดปี โรคนี้มีความเป็นพิเศษต่างจากโรคอื่นๆ คือ หากติดเชื้อจนมีอาการป่วยจะไม่สามารถรักษาให้หายได้ ต้องเสียชีวิตทุกราย แต่โรคนี้ป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนในสัตว์เลี้ยงและในคนหลังถูกสุนัขหรือแมวกัด แต่ละปีทั่วโลกมี ผู้เสียชีวิตจากโรคนี้กว่า 50,000 คน ประเทศไทยสัตว์ที่แพร่เชื้อมากที่สุดคือสุนัข พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี ในปี 2556 มี 6 ราย ทุกรายถูกสุนัขกัด และไม่ได้ฉีดวัคซีนหลังถูกกัด จึงนับว่าโรคนี้ยังเป็นปัญหาอยู่ เนื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนป้องกันในสุนัขบางพื้นที่ครอบคลุมไม่ถึงร้อยละ 80 ของสุนัขในพื้นที่ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ซึ่งคาดว่าทั่วประเทศมีประชากรสุนัขประมาณ 7 ล้านตัว ในแต่ละปีคนไทยถูกสุนัขกัดไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ในจำนวนนี้ประมาณร้อยละ 50 เท่านั้นที่มารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค
ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งสร้างพื้นที่ในชนบทและเขตเมืองทั่วประเทศให้ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ตั้งเป้าครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2558 เพื่อกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศภายในพ.ศ.2563 ตามเป้าที่องค์การอนามัยโลกและองค์การควบคุมโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศกำหนด โดยร่วมมือกับกรมปศุสัตว์และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขตั้งแต่อายุ 3 เดือนขึ้นไปครอบคลุมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของสุนัขที่มีในหมู่บ้าน ขึ้นทะเบียนการเลี้ยงทุกหลังคาเรือนและทำหมัน เพื่อควบคุมจำนวนสุนัขโดยเฉพาะสุนัขจรจัด และให้เจ้าของนำสุนัขไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคทุกปี
ทางด้าน นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ เกิดจากเชื้อไวรัส ก่อโรคในสัตว์เลือดอุ่นเลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น สุนัข แมว วัว ควาย ลิง ชะนี เป็นต้น ในไทยพบว่าสุนัขป่วยเป็นโรคนี้มากที่สุดร้อยละ 96 รองลงมาคือแมว เชื้อติดต่อสู่คนจากการถูกสัตว์ที่เป็นโรคกัด ข่วน เลีย น้ำลายกระเด็นเข้าทางตา ปาก หรือบาดแผลตามผิวหนัง โดยเชื้อไวรัสจะเพิ่มจำนวนที่บริเวณแผลถูกกัด หลังจากนั้นประมาณ 3 สัปดาห์-4 เดือน จะมีอาการป่วย บางรายอาจเร็วเพียง 4 วัน การป่วยจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับจำนวนเชื้อที่เข้าไป ตำแหน่งบาดแผล หากอยู่ใกล้สมอง เชื้อจะเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง หรือเข้าสู่สมองได้เร็ว ผู้ป่วยจะมีอาการคลุ้มคลั่ง ดุร้าย กระวนกระวาย หากเชื้อเข้าสู่ไขสันหลังจะทำให้สมองและไขสันหลังทำงานผิดปกติ มีอาการอัมพาตและเสียชีวิตในที่สุด
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า