สธ.เตือนป้องกัน 15 โรคฤดูฝน ปี 54 ป่วยเกือบ 7 แสน
สธ.เตือน ระวังโรคติดต่อที่มาพร้อมฤดูฝน 15 โรคสำคัญ อาทิ โรคท้องร่วง โรคฉี่หนู ปอดบวม ไข้เลือดออก มาลาเรีย เผยฤดูฝนปี 2554 ทั่วประเทศพบป่วยกว่า 7 แสนคนเสียชีวิต 477 คน สั่งจับตาโรค ตั้งแต่เดือนนี้ไปจนถึงเดือน ก.ย.วันที่ 20 พ.ค.
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน สภาพอากาศที่ชื้นเย็น ทำให้เชื้อโรคหลายชนิดแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว ที่สำคัญเช่น ไข้เลือดออก โรคฉี่หนู ไข้หวัดใหญ่ ไข้มาลาเรีย โรคไข้สมองอักเสบ โรคปอดอักเสบ โรคไข้หวัดนก เป็นต้น ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลทุกแห่ง จับตาเป็นพิเศษตั้งแต่เนิ่นๆ เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2555 ขอให้แพทย์ตรวจคัดกรองผู้ป่วยโดยละเอียดโดยโรคที่ต้องติดตามต่อเนื่องคือโรคไข้หวัดนกที่แพร่ระบาดมาจากสัตว์ปีก ซึ่งในไทยไม่พบผู้ป่วยมาเป็นเวลาเกือบ 6 ปี แต่ประมาทไม่ได้ เพราะหากมีโรคนี้เกิดขึ้นในฤดูฝน เชื้ออาจมีการผสมข้ามสายพันธุ์กับเชื้อไข้หวัดใหญ่ในคนที่อยู่ในช่วงระบาดในฤดูฝน ได้ให้กรมควบคุมโรคออกประกาศคำเตือนประชาชน เพื่อป้องกันโรคติดต่อที่พบบ่อยในฤดูฝน จัดส่งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเพื่อ เผยแพร่ความรู้ให้ประชาชนในการดูแลสุขภาพตนเองและคนในครอบครัว ไม่ให้เจ็บป่วยทาง
ด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคที่มักมาพร้อมฤดูฝนที่พบบ่อยมี 5 กลุ่ม รวม 15 โรค ได้แก่ 1. กลุ่มโรคติดต่อทางน้ำและอาหาร ที่พบบ่อย มี 5 โรค ได้แก่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน บิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ และตับอักเสบ สาเหตุเกิดจากกินอาหาร ดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน หรือกินสุกๆ ดิบๆ 2. กลุ่มโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ที่พบบ่อย 5โรค ได้แก่ โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ และโรคปอดบวม โดยเฉพาะโรคปอดบวม มีอันตรายอาจถึงชีวิตได้ อาการเริ่มจากไข้ ไอ หายใจเร็วหรือหอบเหนื่อย
3. กลุ่มโรคติดเชื้อผ่านทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนัง ที่พบบ่อยคือโรคเลปโตสไปโรซิสหรือโรคไข้ฉี่หนู อาการเด่นของโรคนี้คือ ไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะมักปวดกล้ามเนื้อบริเวณน่องและโคนขาอย่างรุนแรง และตาแดง 4. กลุ่มโรคติดต่อที่เกิดจากยุง ที่สำคัญ 3 โรค ได้แก่ ไข้เลือดออกมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งกว่าร้อยละ 80 เป็นยุงลายที่อยู่ในบ้าน ไข้สมองอักเสบ เจ อี (japanese encephalitis) ตัวนำโรคมาจากยุงรำคาญ ซึ่งมักแพร่พันธุ์ตามแหล่งน้ำในทุ่งนา และโรคมาลาเรีย ซึ่งมียุงก้นปล่องที่อยู่ในป่าเป็นพาหะนำโรค ทั้ง 3 โรคนี้ อาการเริ่มจากมีไข้สูงปวดศีรษะมาก คลื่นไส้อาเจียน โดยเฉพาะโรคไข้สมองอักเสบ อาจทำให้พิการภายหลังได้
และ 5. กลุ่มโรคเยื่อบุตาอักเสบหรือโรคตาแดง เกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำสกปรก กระเด็นเข้าตานอกจากนี้ ยังมีโรคอื่นๆ ที่พบได้ในฤดูฝนทุกปี ได้แก่ โรคน้ำกัดเท้าจากเชื้อรา เกิดจากการเดินลุยน้ำสกปรกนานๆ หรือเดินลุยน้ำท่วมขังในช่วงที่มีฝนตกหนัก การถูกสัตว์มีพิษกัด ต่อย เช่น งู ตะขาบ แมงป่องที่หนีน้ำท่วมมาอาศัยในบ้านเรือน และโรคอาหารเป็นพิษจากกินเห็ดพิษที่ขึ้นเองตามธรรมชาติในป่า
ทั้งนี้จากการเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในช่วงฤดูฝนในปี 2554 ตั้งแต่เดือนมิถุนายน – กันยายน พบผู้ป่วยจาก 15 โรคฤดูฝน 658,429 คน มากที่สุดคือโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน 397,703 คน รองลงมาคือโรคปอดบวม 63,945 คน และไข้หวัดใหญ่ 32,950 คน เสียชีวิตรวม 551 คน อันดับ 1จากปอดบวม 401คน โรคฉี่หนู 74 คน ไข้เลือดออก 40 คน และอุจจาระร่วงเฉียบพลัน 21 คน
นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อาการนำของโรคติดเชื้อที่เป็นลักษณะเด่นหลักๆ คือ อาการไข้ ดังนั้น ในช่วงนี้ หากมีไข้สูงและเช็ดตัวหรือกินยาลดไข้แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือไข้ยังไม่ลดลงภายใน 3 วัน ขอแนะนำให้ไปพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง เพื่อรับการตรวจรักษาที่ถูกกับโรคโดยเฉพาะถ้าเป็นเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือแพทย์ทันที ห้ามกินยาจำพวกแอสไพรินเด็ดขาด โดยเฉพาะไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ และโรคไข้ฉี่หนู ซึ่ง 3 โรคนี้จะมีเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ ในร่างกายได้อยู่แล้ว หากกินยาแอสไพรินซึ่งเป็นยาที่มีสารป้องกันเลือดแข็งตัว จะทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น โอกาสเสี่ยงเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้น
นายแพทย์พรเทพ กล่าวต่อว่า ในการป้องกันโรคในฤดูฝน ขอให้ประชาชนออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรค สวมเสื้อผ้ารักษาความอบอุ่นแก่ร่างกาย โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุควรดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากร่างกายมีระดับภูมิต้านทานโรคต่ำกว่าคนวัยอื่นๆ มีโอกาสติดเชื้อโรคทางเดินหายใจได้ง่าย ควรดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุก รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง และถ่ายอุจจาระลงส้วม หากในช่วงที่มีน้ำท่วมขังและส้วมใช้การไม่ได้ ห้ามถ่ายอุจจาระลงน้ำ ขอให้ถ่ายอุจจาระลงในถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้แน่นแล้วนำไปฝังกลบ จัดการให้ถูกสุขลักษณะ
นอกจากนี้ ควรตรวจดูโอ่งน้ำหรือภาชนะเก็บน้ำอื่น ให้มีฝาปิดมิดชิด และเปลี่ยนน้ำจานรองขาตู้ แจกันดอกไม้ประดับทุก 7 วัน ปล่อยปลาหางนกยูงในอ่างบัว ทำลายแหล่งที่มีน้ำขัง เช่น กะลา กระป๋อง ยางรถยนต์เก่าเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และภายหลังเดินย่ำน้ำหรือเดินลุยน้ำแช่ขัง น้ำสกปรกทุกครั้ง ต้องล้างเท้าให้สะอาด แล้วเช็ดให้แห้งด้วยผ้าที่สะอาด อย่าปล่อยให้อับชื้นเป็นเวลานาน ควรใส่รองเท้าบูทให้เป็นนิสัย หลีกเลี่ยงการสัมผัสพื้นที่ชื้นแฉะ หรือสัมผัสปัสสาวะสัตว์ รวมทั้งดูแลบ้านเรือนและบริเวณบ้านให้สะอาดเป็นระเบียบ เพื่อไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์มีพิษ หรือเป็นแหล่งเพาะพันธุ์หนู แมลงวัน
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ