สธ.สั่ง สสจ.ทั่วประเทศเฝ้าระวังไข้หวัดนก
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า จากกรณีที่ทางการเขตปกครองตนเองซินเจียง ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือประเทศจีน พบการระบาดของไข้หวัดนก เอช5 เอ็น1 (h5 n1) ในไก่ เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยได้ฆ่าไก่ไปแล้วกว่า 150,000 ตัวนั้น ในส่วนของไทย กระทรวงฯ ได้สั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด หรือ สสจ. ทุกจังหวัดติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในคนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูฝน สภาพอากาศชื้น อาจทำให้เชื้อไข้หวัดนกมีโอกาสแพร่ระบาดได้ แม้ว่าผลการเฝ้าระวังในประเทศไทยจะไม่พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกติดต่อกันมานานกว่า 5 ปีก็ตาม และขอความร่วมมือประชาชน หากพบสัตว์ปีกป่วย ตายผิดปกติ ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรืออาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) อย่านำมาทำเป็นอาหารเด็ดขาด เพราะหากสัตว์ติดเชื้อไข้หวัดนก เชื้อจะติดต่อถึงคนขณะชำแหละได้
ด้าน น.พ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วิธีการสังเกตสัตว์ปีกว่าอาจป่วยเป็นหวัดนกตามคำแนะนำของกรมปศุสัตว์ โดยทั่วไปจะมีอาการดังนี้ ซูบผอม ซึมมาก ไม่กินอาหาร ขนยุ่ง ไข่ลด ไอ จาม หายใจลำบาก น้ำตาไหลมาก หน้าบวม หงอนมีสีคล้ำ หรืออาจมีอาการของระบบประสาท และท้องเสีย ในรายที่รุนแรงจะตายอย่างรวดเร็วโดยไม่แสดงอาการ โดยหากพบสัตว์ปีกตายผิดสังเกต อาจเกิดจากโรคระบาดได้หลายโรค ซึ่งหากเป็นเชื้อไข้หวัดนก เชื้อจะแพร่ระบาดไปสู่สัตว์ตัวอื่นอย่างรวดเร็ว ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือ อสม. เพื่อจำกัดการแพร่ระบาดให้เร็วที่สุด โดยพื้นที่กรุงเทพมหานคร แจ้งสำนักงานเขตที่พบสัตว์ตาย หรือศูนย์ปฏิบัติการไข้หวัดนก กทม. โทร.สายด่วน 1555 หรือกรมปศุสัตว์ โทร.0-2653-4551-4 ต่อ 101-105 ส่วนต่างจังหวัด แจ้งปศุสัตว์อำเภอหรือจังหวัด อสม. เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เทศบาล อบต.
อย่างไรก็ตามการเก็บซากสัตว์ปีก ห้ามจับซากสัตว์ด้วยมือเปล่า ควรสวมถุงมือยาง ถ้าไม่มีให้ใช้ถุงพลาสติกหนาๆ สวมมือ เก็บใส่ลงในถุงพลาสติก รัดปากถุงให้แน่น แล้วนำไปเผาหรือฝัง หากใช้วิธีฝังควรราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือโรยปูนขาว หรืออาจใช้น้ำเดือดราดที่ซากก่อนกลบดินให้แน่น อย่าทิ้งซากสัตว์ลงในแม่น้ำ ลำคลอง-
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง