สธ.สั่งผลิตยาชุดน้ำท่วมเพิ่ม 4 เท่า
ตั้งเป้าต้องได้ 9 แสนชุดภายใน 5 วัน
จุรินทร์สั่งองค์การเภสัชกรรมผลิตยาเพิ่ม 4 เท่า ตั้งเป้าต้องได้ 9 แสนชุดภายใน 5 วัน ด้านตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 3 รวมยอดสะสมเป็น 59 คน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้องค์การเภสัชกรรมเพิ่มกำลังการผลิตยาชุดน้ำท่วม ซึ่งประกอบด้วย ยาแก้ไข้ ยาแก้น้ำกัดเท้าและยาแก้โรคผิวหนัง 4 เท่า จากเดิมที่ผลิตได้ 2.5 หมื่นชุด/วัน เป็น 1 แสนชุด/วัน และตั้งเป้าว่าจะต้องผลิตได้ 9 แสนชุดภายใน 5 วัน เพราะแม้ สธ.จะแจกยาไปแล้วกว่า 3 แสนชุด แต่ยังคงมีความต้องการในพื้นที่น้ำท่วมอีกมาก
ส่วนตัวเลขจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอุทกภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขสรุปสถานการณ์วันที่ 27 ต.ค. 2553 ระบุว่ามีตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 3 ราย ประกอบด้วย จ.สระบุรี 1 ราย จ.ชัยนาท 1 ราย และ จ.พิจิตร 1 ราย รวมตัวเลขผู้เสียชีวิตสะสมเป็น 59 ราย เป็นเพศชาย 46 รายและหญิง 13 ราย
ในจำนวนนี้เสียชีวิตจากการจมน้ำ 52 คน ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตพบว่าหลายรายมีพฤติกรรมเสี่ยงจนนำไปสู่การเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการออกจากบ้านช่วงน้ำหลาก การอุ้มเด็กฝ่ากระแสน้ำแล้วหลุดมือหรือการออกหาปลาแล้วจมน้ำ ดังนั้นขอให้ประชาชนดูแลตัวเองอย่านำตัวเองไปสู่ภาวะเสี่ยงโดยไม่จำเป็น
สำหรับโรคที่พบมากที่สุดคือน้ำกัดเท้า 46.9% ไข้หวัด/ระบบทางเดินหายใจ 15% และปวดเมื่อย 12.6% และมีโรคที่ต้องเฝ้าระวังหลังน้ำท่วม 6 โรคประกอบด้วย 1.โรคอุจจาระร่วง 2.โรคไข้หวัด 3.โรคไข้เลือดออก 4.โรคฉี่หนู 5.โรคหัด และ 6. โรคเครียด ซึ่งกรมสุขภาพจิตรายงานว่ามีผู้ป่วยทางจิตเดิมที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ 168 ราย
ด้านสถานบริการที่ได้รับความเสียหายขณะนี้เปิดบริหารได้ตามปกติ ได้แก่ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาและโรงพยาบาลชัยภูมิ ส่วนโรงพยาบาลพิมายระดับน้ำลดลงเล็กน้อย แต่ยังสามารถในบริการได้ตามปกติ รวมตัวเลขความเสียหายของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทั้งสิ้น 50.37 ล้านบาท แบ่งเป็น โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา 30 ล้านบาท โรงพยาบาลจิตเวช นครราชสีมาราชนครินทร์ 6 ล้านบาท โรงพยาบาลพิมาย 7 ล้านบาทและโรงพยาบาลชัยภูมิ 7.23 ล้านบาท
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
Update : 28-10-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร