สธ.-สสส. สานพลังภาคี หนุนแผนนโยบายลดโซเดียม มุ่งเป้าคนไทยลดบริโภคเค็ม 30% ภายในปี 68

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

ภาพประกอบจาก สสส.

                    ‘สะเทือนไต’ เมนูยอดฮิต บุฟเฟต์-หมูกระทะ-อาหารสำเร็จรูป ทำไทยกินเค็มเกินเกณฑ์เกือบ 2 เท่า ป่วย NCDs ทะลุ 22 ล้านคน สธ.-สสส.-มหาวิทยาลัยมหิดล-เครือข่ายลดบริโภคเค็ม สานพลัง หนุนแผนนโยบายลดบริโภคเกลือฯ มุ่งเป้าลดเค็ม 30% ภายในปี 68 แนะ ลดซด ลดปรุง ลดโรค จ่อฟื้นขึ้น ‘ภาษีเค็ม’ เตรียมเริ่มปรับราคาอาหาร 3 กลุ่ม ยันไม่ซ้ำเติมผู้บริโภค ชงสรรพสามิตทบทวน หลังชะลอช่วงโควิด ทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่เย็นสำเร็จรูป และขนมกรุบกรอบ

                    เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2567 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) น.ส.นิรมล ราศรี ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. โดยแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ ได้ร่วมกับเครือข่ายลดการบริโภคเค็ม รณรงค์ขับเคลื่อนสังคมด้วยองค์ความรู้ นวัตกรรม และการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ เพื่อสร้างความรอบรู้ด้านการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ ลดการบริโภคเค็ม (โซเดียม) พร้อมทั้งส่งเสริมการจัดสภาพแวดล้อมด้านอาหารเพื่อสุขภาวะที่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เพื่อนำไปสู่การลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ซึ่งเกิดผลการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ 1. สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในวิถีการบริโภคอาหารของประชาชน และการผลักดันมาตรการหรือนโยบายการลดการบริโภคเค็มในประเทศไทย มีการพัฒนากระบวนการและแนวทางการขยายผลการให้ความรู้แก่ประชาชน ได้แก่ นวัตกรรมเครื่องตรวจวัดโซเดียมในอาหาร (Salt Meter) , ต้นแบบผลิตภัณฑ์เกลือลดโซเดียม , น้ำปรุงลดโซเดียม , การปรับสูตรลดโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารชุมชน-ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป และพัฒนาเมนูอาหารลดโซเดียมร่วมกับผู้ประกอบการร้านค้า 2. การสื่อสารรณรงค์ “ลดเค็มครึ่งหนึ่ง” และ “ลดเค็ม ลดโรค” เพื่อทำให้ประชาชนเกิดความตระหนักต่อผลกระทบทางสุขภาพจากการบริโภคเค็มเกินความจำเป็นของร่างกาย โดยการรณรงค์มุ่งเน้นสร้างความรอบรู้ทางสุขภาพเพื่อลดการบริโภคเค็มจากการปรุงประกอบอาหาร การเลือกบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และสนับสนุนผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีต่อสุขภาพ 3. การผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ จากองค์ความรู้ และข้อมูลทางวิชาการ เพื่อให้เกิดมาตรการหรือกลไกการจัดการสภาพแวดล้อมด้านอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ประสานความร่วมมือส่งเสริมมาตรการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการอาหารปรับลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารลง และ 4. การสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย ให้นำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ การขับเคลื่อนโครงการโรงพยาบาลเค็มน้อย อร่อย (3) ดี  และชุมชนลดเค็ม กว่า 150 ชุมชนทั่วประเทศ โดยเครือข่ายฯ ร่วมเป็นวิทยากรในการถ่ายถอดความรู้ และสนับสนุนเครื่องวัดความเค็มในอาหาร เป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับเจ้าที่สาธารณสุขในการติดตามและประเมินผลการลดโซเดียมในเมนูอาหารชุมชน

                    สสส. สนับสนุนการพัฒนา Salt Meter โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเป็นอุปกรณ์วัดความเค็มแบบตรวจสอบค่าการนำกระแสไฟฟ้าของสารละลาย ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่มีความสะดวกสบายในการใช้ในชีวิตประจำวัน เหมาะสำหรับการใช้วัดปริมาณโซเดียมในอาหารไทยที่มีส่วนผสมเครื่องเทศมากกว่าอาหารต่างประเทศ โดยผลการศึกษาการใช้เครื่อง Salt Meter ในอาหารร่วมกับการให้ความรู้ในชุมชน พบว่าการใช้เครื่อง Salt Meter ร่วมกับการให้ความรู้ในชุมชนผ่านกลไกการทำงานของระบบบริการสุขภาพภาครัฐ สามารถลดความดันโลหิตและลดการบริโภคเค็มในกลุ่มผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติและนัยสำคัญทางคลินิกเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนเริ่มมีการใช้เครื่อง Salt Meter ในอาหาร

                    รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า เครือข่ายฯ ได้ขับเคลื่อนรณรงค์เพื่อลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2555 ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. โดยมีบทบาทในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข WHO ประจำประเทศไทย และภาคีเครือข่ายจาก สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม การวิจัย และการรณรงค์เตือนภัยผ่านช่องทางต่างๆ

                    การกินเค็มหรือโซเดียมเป็นภัยเงียบ อาจไม่เห็นผลเสียทันที ยกเว้นคนที่ไวต่อการกินเค็ม เช่น ผู้สูงอายุหรือคนที่มีโรคประจำตัว จะมีอาการตาบวม ขาบวม ความดันโลหิตขึ้น ปวดหัว หิวน้ำบ่อย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ปัจจุบันพบคนไข้ป่วยเป็นโรคไตหรือไตวายอายุน้อยลงอยู่ที่ 35 – 40 ปี จากเดิมที่อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 50 – 60 ปี มีผลจากวัฒนธรรมการกินของคนไทยที่เปลี่ยนไป นิยมอาหารสำเร็จรูป บุฟเฟ่ต์ ปิ้งย่าง หมูกระทะ อาหารญี่ปุ่น-เกาหลี ที่มีรสเค็มจัดจากการหมักดองเกลือ หรือใส่เครื่องปรุงจำนวนมาก เมื่อกินสะสมบ่อยๆ จึงติดรสเค็มแบบไม่รู้ตัว อีกปัจจัยคือการกินเค็มตั้งแต่เด็ก เช่น ขนมกรุบกรอบ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กซอง-ถ้วย อาหารพวกนี้มีโซเดียมสูง แม้กระทั่งอาหารที่ผู้ปกครองปรุงเอง แต่ใช้ความเค็มสูง เมื่อเด็กที่น้ำหนักตัวน้อยกิน ก็ทำให้บริโภคโซเดียมเกินเกณฑ์ เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ลิ้นจะติดเค็ม มีผลทำให้เป็นโรคไม่ติดต่อ (NCDs) เร็วขึ้น ดังนั้นอาหารที่กินแต่ละวัน ผู้บริโภคมักคิดว่าอาหารที่เค็มจะมีโซเดียมสูง เพราะปรุงรสด้วย เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว น้ำมันหอย น้ำพริก ปลาร้า และซอสหรือผงปรุงรสอื่น ๆ แต่ทางการแพทย์พบว่ามีโซเดียมที่ไม่เค็ม คือ โมโนโซเดียมกลูตาเมต (MSG) หรือ ผงชูรส แต่มีผลต่อสุขภาพไม่ต่างกัน เปรียบเทียบง่าย ๆ การกินก๋วยเตี๋ยว น้ำซุปที่ร้านค้าปรุงจะใส่ซุปก้อนสำเร็จรูป ผงชูรส ซีอิ๊ว ซอสปรุง ในน้ำจะมีโซเดียม 60 – 70% ขณะที่เส้น ผัก เนื้อสัตว์ มีโซเดียมไม่ถึง 30 – 40% แม้ความอร่อยจะอยู่ในน้ำซุป แต่เป็นความอร่อยที่แฝงไปด้วยภัยเงียบ

                    นพ.กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค  กล่าวถึงแผนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมว่า โรคไม่ติดต่อ หรือ กลุ่มโรค NCDs ประกอบด้วยหลายโรคหลัก เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมถึงโรคไตเรื้อรัง เหล่านี้ เป็นปัญหาสุขภาพสำคัญระดับประเทศ ร้อยละ 73 ของการเสียชีวิตทุกสาเหตุในประเทศไทยก็มาจากโรค NCDs ซึ่งการได้รับโซเดียมเกินอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จะเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงอย่างมีนัยสำคัญ และการได้รับโซเดียมเกินยังส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายตามมา เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตเรื้อรัง ซึ่งมีคนไทยป่วยด้วยโรคที่สัมพันธ์กับการบริโภคโซเดียมจำนวนถึง 22.05 ล้านคน (โรคความดันโลหิตสูง 13.2 ล้านคน โรคไต 7.6 ล้านคน โรคหัวใจขาดเลือด 0.75 ล้านคน โรคหลอดเลือดสมอง 0.5 ล้านคน) จึงต้องมีหลายมาตรการและหลายหน่วยงานรวมถึงผู้ประกอบการ มาร่วมช่วยกันลดโซเดียมในอาหาร

                    กรมควบคุมโรคตั้งเป้าหมายให้ลดการบริโภคโซเดียมลง ร้อยละ 30 ภายในปี พ.ศ.2568 ซึ่งสอดคล้องกับมติสหประชาชาติในการติดตามผล 9 เป้าหมายของการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อระดับโลก บทบาทของกรมควบคุมโรค ในฐานะเป็นเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการลดการบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อระดับชาติ ดำเนินการสร้างกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย (พ.ศ.2559-2568) บูรณาการการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานภาคสาธารณสุขและภายนอกภาคสาธารณสุข และการติดตามประเมินผล โดยสนับสนุนเครื่อง Salt Meter เพื่อดำเนินในกิจกรรมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมให้ประชาชนได้บริโภคอาหารลดเกลือและโซเดียมในองค์กรต่าง ๆ ได้แก่ โรงพยาบาลเค็มน้อย อร่อย 3  ดี สถานที่ทำงาน สถานประกอบการ รวมถึง ชุมชนลดเค็ม และใช้สำหรับการดำเนินงานเฝ้าระวังและลดการบริโภคเกลือและโซเดียมระดับจังหวัด โดยกรมควบคุมโรค จัดทำ “แนวทางการดำเนินงานเฝ้าระวังและลดการบริโภคเกลือและโซเดียมระดับจังหวัด” เพื่อให้เป็นเครื่องมือการดำเนินงานลดการบริโภคเกลือและโซเดียม มาตรการหลักสำคัญ ประกอบด้วย

  • การจัดทำข้อมูลเฝ้าระวังเพื่อสะท้อนสถานการณ์การบริโภคอาหารและแหล่งอาหารที่มีเกลือและโซเดียมสูง โดยการสำรวจปริมาณเกลือและโซเดียมในอาหารด้วยเครื่อง Salt Meter
  • การจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการลดการบริโภคเกลือและโซเดียมทั้งระดับจังหวัดและอำเภอ
  • การจัดการสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีในพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ โรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่ทำงาน สถานประกอบการ และชุมชน
  • การปรับลดปริมาณเกลือและโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร/อาหารท้องถิ่น/อาหารปรุงสุกที่จำหน่าย
  • การให้ความรู้สร้างความตระหนักต่อผลกระทบจากการบริโภคเกลือและโซเดียม และการสำรวจการประเมินความตระหนักรู้ความเสี่ยงการบริโภคเกลือและโซเดียมระดับจังหวัด
  • การขยายพื้นที่ชุมชนลดเค็ม หรือการป้องกันควบคุมโรคไตในชุมชน ผ่านกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.)

                    โดยดำเนินงานร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขตและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รวมทั้งหมด 36 จังหวัด และมีแผนขยายผลการดำเนินงานเฝ้าระวังและลดการบริโภคเกลือและโซเดียมระดับจังหวัดให้ครอบคลุมทุกจังหวัด ภายในปี พ.ศ.2568  สำหรับการดำเนินงานชุมชนลดเค็ม เขตภาคเหนือ โดยสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1, 2 ,3 จำนวน 50 ชุมชน เป็นการคัดเลือกหมู่บ้านที่มีปัญหาผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไตเรื้อรัง และมีความพร้อมในการจัดการปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มีการสำรวจข้อมูลการประเมินสุขภาพด้านโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เกี่ยวกับความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรม เพื่อป้องกันโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงและโรคไตเรื้อรัง มีการคืนข้อมูลเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาตามบริบทของพื้นที่ นอกจากนี้มีการดำเนินงานชุมชนลดเค็มตามแนวทางการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน: ชุมชนวิถีใหม่ ห่างไกล NCDs จำนวน 48 ชุมชน

                    รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงแผนการต่อยอดสู่ภาคอุตสาหกรรมและการวางแผนการผลิต เริ่มจากการศึกษาความต้องการของผู้ใช้ทั้งที่เป็นประชาชนทั่วไป กลุ่มผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าระวังการบริโภคโซเดียม นักวิชาการโภชนาการ และนักวิจัยทางการแพทย์ โดยติดตั้งวงจรที่มีอุปกรณ์สำหรับวัดค่าความเค็ม ประมวลผล เก็บข้อมูลและส่งข้อมูลไร้สาย เพื่อเชื่อมต่อและแสดงค่าความเค็มบนโทรศัพท์สมาร์ทโฟน สำหรับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข นักวิจัย ผู้ป่วย หรือบุคคลทั่วไปที่ต้องการดูผลค่าความเค็ม/ปริมาณโซเดียมแบบละเอียดและติดตามผลการบริโภคโซเดียม และนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในเชิงการบริหารจัดการและรณรงค์การลดการบริโภคโซเดียมในอนาคต โดยพัฒนาความแม่นยำในการวัดค่าความเค็ม ความเสถียรของตัวเครื่อง คุณภาพการผลิต รวมถึงต้นทุนและระยะเวลาในการผลิต โดยการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ในท้องตลาดมากกว่าการใช้อุปกรณ์ที่มีความเฉพาะ มีการลดชิ้นส่วนที่ไม่จาเป็นเพื่อลดต้นทุนการผลิต และมีการออกแบบให้สามารถผลิต ประกอบและทดสอบได้ด้วยเครื่องจักรพร้อมๆ กันหลายชิ้น ทำให้สามารถนำไปผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักรได้ สามารถควบคุมมาตรฐานการผลิต ควบคุมระยะเวลา และต้นทุนการผลิตได้ ทำให้จำนวนการผลิตเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1,000–3,000 เครื่องในระยะเวลา 3 เดือน เพื่อให้สินค้าออกมาทันตามความต้องการของผู้บริโภค

                    นอกจากนี้ได้วางแผนการจัดจำหน่าย Salt Meter ซึ่งปัจจุบันขายในชื่อ “Chem Meter” ผ่านมหาวิทยาลัยมหิดล โดยการแต่งตั้งสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นตัวแทนจาหน่าย ทางทีมวิจัยได้วางแผนในการดำเนินงานปรับปรุงช่องทางการจัดจำหน่าย โดยร่วมกับสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) เพื่อดำเนินการสรรหาบริษัทเพื่อมาถือสิทธิในการจัดจำหน่าย , จัดตั้งแผนกการขายและการตลาดเพื่อมาดำเนินการดูแลการขาย , วางนโยบายการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายทางร้านขายยา และช่องทางออนไลน์ , จัดตั้งแผนกดูแลลูกค้า (customer service) เพื่อมาตอบคาถามการใช้งาน ดูแลเครื่องที่มีปัญหา และรับเปลี่ยนเครื่องที่อยู่ในประกัน และประสานความร่วมมือกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อขยายผลสร้างการเข้าถึงนวัตกรรม Salt Meter ด้วยกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่

Shares:
QR Code :
QR Code