สธ.รับสภาพ “หมอขาดแคลน-งานล้น” รุกดูแลสวัสดิการ-ค่าตอบแทน

ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐ

                  สธ.รับสภาพ “หมอขาดแคลน-งานล้น” รุกดูแลสวัสดิการ-ค่าตอบแทน

                  นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในระบบสาธารณสุข ว่า ภาพรวมจำนวนแพทย์ในปัจจุบันมี 50,000-60,000 คน เป็นแพทย์สังกัดสธ. 24,649 คน ดูแลประชาชนตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บัตรทอง) 45 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 70-80 ของประชากรทั้งหมด สำหรับการกระจายแพทย์ในเขตสุขภาพพบว่าเขตสุขภาพที่ 7-8-9-10 พื้นที่ภาคอีสานมีแพทย์ 1,509-2,473 คน ขณะที่เขต 13 กรุงเทพฯ มีแพทย์ 10,595 คน ส่วนการผลิตแพทย์ปี 2561-2570 รวมประมาณ 33,780 คน หรือเฉลี่ยปีละ 3,000 คน ในจำนวนนี้สธ.ผลิตเอง 1,000 คน

                   ส่วนการจัดสรรแพทย์ ซึ่งมีคณะกรรมการจัดสรรให้แพทย์ใช้ทุนในหน่วยงานต่างๆ โดยปี 2566 แพทย์ที่จบปีการศึกษา 2565 จำนวน 2,759 คน ในส่วนนี้ สธ.ได้รับมา 1,960 คน จากที่ขอไป 2,061 คน ซึ่งสธ.เคยทำวิจัยว่า หากได้แพทย์มาเติมให้เพียงพอควรได้ 2,055 คนต่อปี ซึ่งบางปีได้รับจัดสรร 1,850 คน ขณะเดียวกันแพทย์ที่จบ 6 ปี แล้วต้องเพิ่มพูนทักษะ 1 ปี จึงเป็นหน้าที่ของบุคลากร สธ.ที่ต้องสอนแพทย์เพิ่มพูนทักษะด้วย

                   นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า ส่วนชั่วโมงการทำงานจากการสำรวจโรงพยาบาล 65 แห่ง เมื่อวันที่ 15-30 พ.ย. 2565 พบว่า แพทย์ทำงานมากกว่า 64 ชั่วโมง/สัปดาห์ 9 แห่ง, มากกว่า 59-63 ชม. มี 4 แห่ง, มากกว่า 52-58 ชม. มี 11 แห่ง, มากกว่า 46-52 ชม. มี 18 แห่ง, มากกว่า 40-46 ชม. มี 23 แห่ง ซึ่งโดยมาตรฐานของประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่ที่ 40 ชม.ต่อสัปดาห์ ซึ่งประเทศเหล่านั้นมีแพทย์มากกว่า 1 แสนคน ส่วนการลาออกนั้น ข้อมูล 10 ปีย้อนหลังปี 2556-2565 พบว่า มีแพทย์บรรจุรวม 19,355 คนแต่ละปีลาออกเฉลี่ย 455 คน เกษียณปีละ 150-200 คน

                   อย่างไรก็ตาม เรื่องภาระงานของแพทย์นั้น ต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยกันดูแลประชาชน สำหรับการดูแลบุคลากรนั้น ได้ดำเนินการ 4 ด้าน คือ เพิ่มค่าตอบแทน ให้สวัสดิการ โดยเน้นการปรับปรุงหอพัก บ้านพักบุคลากร ความก้าวหน้าในการศึกษาต่อ เลื่อนระดับ ส่วนภาระงานนั้น จะจัดภาระงานให้เหมาะสมสร้างสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว รวมทั้งขยายกรอบอัตรากำลัง โดยต้องหารือกับสำนักงาน ก.พ.ต่อไป

                   ซึ่ง ก.พ.มีข้อแนะนำให้ทดลองแซนด์บ็อก โดยว่าจ้างแพทย์แบบหลากหลายวิธี เช่น บรรจุแพทย์ที่จบจาก ม.เอกชน หรือต่างประเทศ เพราะไม่มีภาระการใช้ทุน เป็นต้น ส่วนการแก้ปัญหาเร่งด่วนนั้น ปลัด สธ.ได้ขอให้ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และ ผอ.รพ. ช่วยกันดูแลแพทย์จบใหม่เป็นรายคน.

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ