สธ.ปรับแผนดูแลผู้สูงอายุ
ที่มา : ข่าวสด
แฟ้มภาพ
การป้องกันความรุนแรงของโรคและภาวะแทรกซ้อน รวมถึงความพิการที่เหมาะสมที่สุด คือ การคัดกรองสุขภาพและประเมินกลุ่มโรคและอาการที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ทำให้ผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงและป่วยได้รับการส่งต่อเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพที่ตรงปัญหาต่อไป
นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากงานวิจัยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อเดือนตุลาคม 2561 พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น โดยผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวน 11.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 17.9 ของประชากรทั้งประเทศ โดยมีปัญหาสุขภาพ ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 41, โรคเบาหวาน ร้อยละ 18, ข้อเข่าเสื่อม ร้อยละ 9 จากสภาพปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน อื่นๆ ตามมา ดังนั้น การป้องกันความรุนแรงของโรคและภาวะแทรกซ้อน รวมถึงความพิการที่เหมาะสมที่สุด คือ การคัดกรองสุขภาพและประเมินกลุ่มโรคและอาการที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ทำให้ผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงและป่วยได้รับการส่งต่อเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพที่ตรงปัญหาต่อไป รวมถึงกลุ่มที่ปกติจะคัดแยกเข้าสู่บริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระดับปฐมภูมิได้อย่างทันท่วงที
นพ.สกานต์ บุนนาค รักษาราชการแทน ผอ.สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กล่าวว่า เวชศาสตร์ฯได้จัดโครงการสร้างเสริมศักยภาพและความมั่นคงในชีวิตด้านสุขภาพ โดยการป้องกันโรคระดับทุติยภูมิเพื่อดูแลรักษากลุ่มอาการหรือโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ โดยรูปแบบหนึ่งในการดำเนินการได้จัดประชุมชี้แจง "ระบบการคัดกรอง/ประเมินสุขภาพผู้สูงอายุและการจัดการข้อมูลเพื่อการส่งต่อเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพด้วย Aging Health Data โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม 370 คน จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ผู้แทนโรงพยาบาล จาก 60 จังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งสถานพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์
นพ.สกานต์กล่าวต่อว่า โดยมีการชี้แจงงบประมาณปี 2562 เพื่อดำเนินกิจกรรมด้านผู้สูงอายุในพื้นที่ อภิปรายเกี่ยวกับประโยชน์ของการจัดบริการสุขภาพผู้สูงอายุผ่านระบบ Aging Health Data ตลอดจนความสามารถในการทำงานของโปรแกรมที่พัฒนาเพิ่มเติมตามความต้องการและข้อเสนอแนะของพื้นที่ตลอดระยะเวลา 1-2 ปี ที่ผ่านมา
นพ.สกานต์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ นอกจากพื้นที่กรุงเทพฯที่ได้จัดประชุมไปแล้ว สถาบันเวชศาสตร์ฯ ได้วางแผนจัดประชุมในจังหวัดต่างๆ ได้แก่ เชียงราย ตาก สุโขทัย สิงห์บุรี ลพบุรี บึงกาฬ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ตรัง ยะลา โดยนำระบบ Aging Health Data มาคัดกรอง/ประเมินสุขภาพผู้สูงอายุ เพื่อจัดการข้อมูลเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพที่เป็นข้อมูลเดียวกันทั้งประเทศต่อไป