สธ.ทำโปรแกรมบันทึกดูแล ผู้สูงอายุ
ที่มา : MGR Online
แฟ้มภาพ
สธ.ทำโปรแกรมบันทึกการดูแล "ผู้สูงอายุ" กรอกง่ายกว่าเดิม 10 นาทีเสร็จ จากเดิมใช้เวลากว่าชั่วโมง พร้อมส่งข้อมูลส่งตรงถึง สธ.และ สปสช.ในการเบิกจ่าย ไม่ต้องกรอกซ้ำซ้อน ลดภาระงานเจ้าหน้าที่ ให้เวลาดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังลงนามความร่วมมือการพัฒนาเชื่อมต่อระบบโปรแกรมการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ (Long Term Care) ด้วยโปรแกรม “Long Term Care 3 C” ระหว่าง สธ.และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่า ในปี 2562 จะเป็นปีแรกที่มีผู้สูงอายุมากกว่าเด็กและในอีก 3 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ คือ มีผู้สูงอายุอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยต้องการทำให้เป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพเป็นหลักชัยให้สังคม แต่ต้องยอมรับว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งผู้สูงอายุก็มีปัญหาสุขภาพ มีภาวะพึ่งพิง ติดบ้าน ติดเตียง ซึ่งคาดว่ากระจายทั่วประเทศประมาณ 2 แสนคน ทั้งนี้ รัฐบาล มีโครงการเข้าไปดูแลผู้สูงอายุระยะยาว โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ติดบ้านติดเตียงถึงที่ ตั้งแต่ปี 2559 ช่วยให้ผู้สูงอายุร้อยละ 30 สามารถลุกจากเตียงขึ้นมาดูแลช่วยเหลือตัวเองได้และบางส่วนสามารถทำกิจกรรมนอกบ้านได้
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า การดูแลผู้สูงอายุฯ จะมีการพัฒนาอบรมผู้จัดการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ผู้ดูแลผู้สูงอายุ โดยอบรมเพิ่มอีก 50 ชั่วโมง จากเดิมอบรม 70 ชั่วโมง รวมเป็น 120 ชั่วโมง เพื่อให้เป็นนักบริบาลชุมชน ส่วนการพัฒนาโปรแกรม “Long Term Care 3 C” นั้นจะเข้ามาเสริมเรื่องการส่งต่อข้อมูล ทั้งการวิเคราะห์ว่าผู้อายุเป็นอย่างไร การติดตาม การเบิกจ่ายเป็นอย่างไร ทำให้เกิดความสะดวกทั้ง 2 ฝ่าย ลดเวลาในการกรอกข้อมูลจาก 1 ชั่วโมงเหลือ 10 นาที ซึ่งประโยชน์จะเกิดกับผู้สูงอายุทั่วประเทศที่จะได้รับการดูแลที่ชัดเจน ทั้งนี้เรื่องการดูแลผู้สูงอายุนั้นครอบคลุมทุกสิทธิการรักษา
ในการดูแลดังกล่าวครอบคลุมทุกสิทธิ์การรักษาหรือไม่นั้น ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ไม่ได้ครอบคลุมเพียงสิทธิ์บัตรทองเท่านั้น แต่ดูแลครอบคลุมทุกสิทธิ์ ทั้ง 3 สิทธิ์ ทั้งบัตรทอง ข้าราชการ และประกันสังคม ซึ่งวันนี้ก็ได้มีการประชุมผ่านวิดิโอคอนเฟอร์เรนซ์ทั่วประเทศ กับสาธารณสุขจังหวัดและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติ ว่ามีปัญหาในการใช้โปรแกรมหรือไม่ ทุกฝ่ายต่างชื่นชมว่าทำงานน้อยลงไม่ซ้ำซ้อนและได้ข้อมูลที่ชัดเจนขึ้นในการดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงที่พัฒนาไปอีกระดับ ซึ่งในส่วนของงบประมาณนั้นก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น
เมื่อถามถึงการแก้ปัญหากรณีระเบียบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่เอื้อต่อการเบิกจ่าย ทำให้คนทำงานด้านนี้ไม่กล้าใช้โปรแกรม นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า จริงๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย แก้ไขเรื่องนี้ แต่หากรอนานระบบก็ไปไม่ได้ ดังนั้น จึงได้ออกระบบการเบิกจ่ายผ่าน สปสช. ลงไปสู่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปก่อน ซึ่งจะเริ่มวันที่ 1 ธ.ค. ก็คิดว่าจะมีความชัดเจนและสามารถเบิกจ่ายได้ และรอจนกรมส่งเสริมฯ ออกระเบียบมา ซึ่งก็จะคล่องกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน