สธ.ตรวจคุณภาพ “อาหาร-ยาบริจาค”
สธ.ตรวจคุณภาพ “อาหาร-ยาบริจาค”
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับมอบจุลินทรีย์ผง จีพีโอคลีน จากองค์การเภสัชกรรม เพื่อใช้ในการบำบัดน้ำเสียจำนวน 2,000 กิโลกรัม มูลค่า 1 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะจัดส่งให้สถานพยาบาลที่ถูกน้ำท่วมใน 10 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ อุทัยธานี สิงห์บุรี ชัยนาท อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี เพื่อปรับปรุงสิ่งแวดล้อมภายในโรงพยาบาลหลังถูกน้ำท่วมให้สะอาดปลอดภัย
ในช่วงหลังน้ำลด ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 อยู่ในระยะของการฟื้นฟู ให้กลับมาสู่สภาวะปกติทั้งเรื่องของสุขภาพกาย สุขภาพจิต การดูแลความสะอาดบ้านเรือน บ่อน้ำ สถานที่ต่างๆ ตลาดสด โดยมอบให้ 3 กระทรวงหลัก ได้แก่ มหาดไทย ศึกษาธิการ และสาธารณสุข ร่วมบูรณาการดำเนินการ ทำความสะอาดครั้งใหญ่หรือ บิ๊ก คลีนนิ่ง เดย์ (Big Cleaning Day) เนื่องจากมีหน่วยงานที่กระจายถึงทุกชุมชน โดยนายกรัฐมนตรีจะกดปุ่มเปิดรณรงค์ทำความสะอาดในวันที่ 10 พ.ย.2554 ที่กระทรวงสาธารณสุข
นอกจากนี้ได้เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบความปลอดภัยอาหาร น้ำดื่ม น้ำแข็งบริโภค เพื่อสร้างความเชื่อมั่นเรื่องอาหารปลอดภัยอาหารแก่ประชาชนทุกคน โดยจะมีการส่งรถปฏิบัติการเคลื่อนที่ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สุ่มตรวจอาหาร น้ำ น้ำแข็งตรวจทุกวัน และมอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจความปลอดภัยอาหารและยาที่รับบริจาคที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ก่อนส่งมอบให้ประชาชน
นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปให้บริการผู้ประสบภัยในจังหวัดที่กำลังประสบภัยวิกฤติได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม และใน กทม. 9เขต ร่วมกับหน่วยแพทย์ของ กทม.ประกอบด้วย สายไหม ดอนเมือง บางพลัด ภาษีเจริญ บางกอกใหญ่ ตลิ่งชัน ลาดกระบัง ทวีวัฒนา และบางแค รวม 14ทีม เป็นทีมจากต่างจังหวัด แต่ละทีมจะมีรถสิบล้อ เรือท้องแบน เรือพาย เพื่อให้สามารถเดินทางเข้าถึงประชาชนในพื้นที่มากที่สุด ตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค. จนถึง 6 พ.ย.2554 พบผู้เจ็บป่วยสะสมแล้วกว่า 16,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรคน้ำกัดเท้า บาดแผลถูกสิ่งของมีคม และใน 25 จังหวัด ยอดผู้ป่วยสะสมรวมทั้งหมด 1,371,545 ราย อันดับ 1 ได้แก่ โรคน้ำกัดเท้า รองลงมาได้แก่ ไข้หวัด ผื่นคัน
“ยอดผู้ป่วยสะสมรวมทั้งหมด 1,371,545 รายอันดับ 1 ได้แก่โรคน้ำกัดเท้า”
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ