สธ.ชูอาหารดีล้อมรั้วกั้นโรค สานแนวคิดนายกฯ “อยากเห็นคนไทยสุขภาพดี”

 

สธ.ชูอาหารดีล้อมรั้วกั้นโรค สานแนวคิดนายกฯ "อยากเห็นคนไทยสุขภาพดี"

 

กระทรวงสาธารณสุข สานต่อนโยบาย “อยากเห็นคนไทยสุขภาพดี” ของนายกรัฐมนตรี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ชวน ลด “หวาน มัน เค็ม” เลี่ยงอ้วน ลดเสี่ยงโรคร้ายหนุน “ผัก-ผลไม้” ชูเมนูฮิต “น้ำพริก ผักจิ้ม” คู่ครัวไทยแนะวิธีเลือกรับประทานอาหารนอกบ้านสร้างคนไทยแข็งแรงส่งเสริมความแข็งแกร่งกคนชาติ

ปัจจุบันประเทศไทยพบผู้เสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคมะเร็งปีละกว่า 97,900 คน ร้อยละ 60 หรือจำนวน 58,000 คน เสียชีวิตขณะอายุยังไม่ถึง 60 ปี ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าคนไทยมีอายุสั้นลง โดยมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัวภายใน 5 ปีและยังพบอีกว่าคนไทยกินยาสูงถึงปีละ 47,000 ล้านเม็ด เฉลี่ยวันละ 128 ล้านเม็ด และสาเหตุหลักของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังส่วนใหญ่ร้อยละ 90 เกิดจากพฤติกรรมขาดการออกกำลังกาย น้ำหนักตัวเกิน สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า กินอาหารที่ไม่เหมาะสม เช่น รับประทานอาหารที่หวาน มัน เค็มมากขึ้น กินผักน้อย ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมสุขภาพที่ดีของคนไทยอันเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน รัฐบาลไทยนำโดย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และกระทรวงสาธารณสุข ประกาศวิสัยทัศน์ในการส่งเสริมให้คนไทยสุขภาพดี เริ่มต้นจากการเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณภาพ

สุขภาพของคนไทยขึ้นแท่นวาระแห่งชาติ

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นไปกระทรวงสาธารณสุขจะเน้นการส่งเสริม การสร้างสุขภาพแก่ประชาชนไทย เพื่อลดการเจ็บป่วย การเสียชีวิตอย่างจริงจัง โดยเฉพาะจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง สนองนโยบายของนายกรัฐมนตรี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่อยากเห็นคนไทยทุกคนมีสุขภาพดี และสนับสนุนนโยบายรัฐบาลและแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2555 – 2559 โดยจะบับเคลื่อนการดำเนินงานลงสู่ระดับปฏิบัติทุกภาคส่วนทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งเน้นการดำเนินงานเชิงบูรณาการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำถึงปลายย้ำ เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพที่แข็งแรง และนำพาสังคมไทยไปสู่สังคมการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยรวมทั้งเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

ลดหวานมันเค็มลดเสี่ยงโรคร้าย

เนื่องจากการสำรวจสุขภาพคนไทยครั้งที่ 4 พ.ศ.2551-2552 พบประชาชนไทยอ้วนขึ้นจากการสำรวจครั้งที่ 3 ระหว่างปี 2546-2547 โดยหญิงไทยมีความชุกโรคอ้วนเพิ่มจากร้อยละ 34.4 เป็นร้อยละ 40.7 ส่วนชายไทยมีความชุกโรคอ้วนจากร้อยละ 22.5 เพิ่มเป็นร้อยละ 28.4 และโรคอ้วน ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่โรคอื่นๆ

นายวิทยา กล่าวว่า โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นโรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ใน 3 ของการตายทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย โรคหัวใจที่พบบ่อยที่สุด คือ โรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งมักเป็นอย่างเฉียบพลัน ทั้งนี้ ก่อนที่จะเป็นโรคหัวใจ ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 70 มักจะมีปัญหาความอ้วน หรือมีไขมันในเลือดสูง ดังนั้นนโยบายสำคัญในการแก้ไขเรื่องนี้คือ การป้องกันเพื่อลดจำนวนผู้ป่วย โดยลดอาหารหวานมัน เค็ม เพิ่มกินผัก ผลไม้ และออกกำลังกาย ผลวิจัยกรมอนามัยล่าสุดปี 2554 พบคนไทยกินผักน้อยมากเฉลี่ยคนละ 1.8 กรัม หรือไม่ถึงวันละ 2 ขีด ขณะที่มาตรฐานองค์การอนามัยโลกกำหนดให้กินผักให้ได้วันละ 4 ขีด จึงจะมีผลในการป้องกันโรคได้ กล่าวได้ว่า พฤติกรรมของคนไทยในปัจจุบัน สวนทางกับการเป็นประเทศเกษตรกรรมซึ่งมีผักผลไม้ออกมาให้เลือกรับประทานตลอดปี ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุข จึงต้องการส่งเสริมให้คนไทยหันมารับประทานผักและผลไม้มากขึ้น โดยเฉพาะเมนูคู่ครัวไทยอย่าง “น้ำพริก ผักจิ้ม” และเป็นเมนูหลักของคนที่อายุยืนขณะนี้ ที่ผ่านมาได้จัดทำหนังสือ “84 เมนูน้ำพริก…ผักรักษ์สุขภาพ” จำนวน 10,000 เล่ม เผยแพร่ประชาชน ซึ่งจะมีรายการน้ำพริกมากถึง 84 เมนู ส่วนประกอบของน้ำพริกส่วนใหญ่จะมีสรรพคุณเป็นยา เช่น พริกขี้หนู จะช่วยขับลม แก้ท้องอืด ส่วนผัก ผักลวกจิ้ม จะให้เส้นใยอาหารช่วยการขับถ่ายเป็นปกติ ท้องไม่ผูก และในผักยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันการเกิดโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ และมะเร็ง ซึ่งในหนังสือเล่มนี้จะบอกถึงวิธีการกินน้ำพริกที่ได้ปแระโยชน์ ผักที่ใช้กินคู่กับน้ำพริก การเลือกซื้อผักและการล้างผักที่ถูกต้องด้วย นอกจากเมนูน้ำพริกแล้ว การรับประทานผักและผลไม้ ยังดัดแปลงได้อีกหลายเมนู แต่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการทำความสะอาดที่ถูกต้อง โดยประกอบด้วยหลายวิธี อาทิ

ใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต(ผงฟู) 1 ช้อนโต๊ะผสมน้ำอุ่น 1 กะละมัง (20 ลิตร) แช่นาน 15 นาที แล้วนำไปล้างน้ำอีกหลายๆครั้ง สารพิษที่ลดลง 90-95%

ใช้น้ำส้มสายชูที่มีกรดน้ำส้มความเข้มข้น 5% ผสมน้ำในอัตราส่วน 1:10 เพื่อให้เหลือความเข้มข้น 0.5% (เช่น ถ้าใช้น้ำส้มสายชู 1 ถ้วยตวง ให้เติมน้ำอีก 10 ถ้วยตวง เป็นต้น) แช่นาน 10-15 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดสารพิษที่ลดลง 60-85%

ล้างผักโดยให้น้ำไหลผ่าน โดยเด็ดผักเป็นใบๆ ใส่ตะแกรงโปร่ง เปิดน้ำให้แรงพอประมาณ ใช้มือช่วยคลี่ใบผักล้างนาน 2 นาที สารพิษลดลง 24-63%

นอกจากนั้น ยังมีวิธีการอื่นๆ เช่นลอกหรือปอกเปลือกชั้นนอกของผักออกทิ้ง เด็ดผักเป็นใบๆ แล้วแช่น้ำสะอาดนาน 5-15 นาที, ต้มหรือลวกผักด้วยน้ำร้อน, แช่น้ำซาวข้าว นาน 10 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด ฯลฯ

มั่นใจอย่างไรกับอาหารนอกบ้าน

การรับประทานอาหารนอกบ้าน หรือการซื้ออาหารสำเร็จรูปมารับประทาน ควรเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ หรืออาหารที่มีการอุ่นให้ร้อนเสมอ มีภาชนะสะอาดปกปิดใช้ช้อนกลางทุกครั้ง และล้างมือบ่อยๆ ขณะเดียวกันในส่วนของผู้ประกอบการ ควรมีการอุ่นอาหารให้ร้อนอยู่เสมอหรืออุ่นทุก 2 ชั่วโมง ไม่หยิบจับอาหารโดยตรงด้วยมือเปล่า ไม่ใช้อุบกรณ์สัมผัสอาหารดิบและอาหารสุกร่วมกัน และอาหารที่ปรุงสุกแล้วควรมีภาชนะปกปิด

สำหรับการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยของอาหาร ของกระทรวงสาธารณสุข ล่าสุดเมื่อสิ้นเดือนเมษายน 2555 ในด้านของสถานที่จำหน่ายอาหาร เช่น ตลาด ร้านอาหาร แผงลอยทั่วประเทศ ตรวจทั้งหมด 30,138 แห่ง ปรากฎว่าผ่านเกณฑ์ 26,269 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 87 สถานที่ที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ได้แก่ อันดับ 1 ได้แก่ ตลาดค้าส่งพบร้อยละ 45 รองลงมาคือ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ในห้างสรรพสินค้าร้อยละ 19 โรงอาหารในโรงเรียนร้อยละ 18 ศูนย์เด็กเล็กร้อยละ 15 แผงลอยร้อยละ 13 และร้านอาหารทั่วไปร้อยละ 12 ส่วนความปลอดภัยของอาหารทั่วไปร้อยละ 12 ส่วนความปลอดภัยของอาหารจากแหล่งจำหน่ายถึงผู้บริโภค โดยตรง 2 เรื่องได้แก่ด้านสารเคมี ได้แก่สารต้องห้ามเช่นบอแรกซ์ ตรวจ 114,283 ตัวอย่าง ส่วนใหญ่ปลอดภัย ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 99 ส่วนผลการตรวจความปลอดภัยด้านเชื้อจุรินทรีย์ก่อโรคระบบทางเดินอาหาร ยังพบปัญหาที่ร้านแผงลอยและร้านอาหาร ต้องเร่งเรื่องความสะอาด โดยตรวจพบเชื้อจุรินทรีย์ในมือผู้สัมผัสอาหารมากที่สุดร้อยละ 27 รองลงมาคือน้ำดื่ม น้ำแข็ง พบร้อยละ25 จากนี้ไปกระทรวงสาธารณสุขจะมีการกำหนดมาตรฐานควบคุมเป็นกฎหมายบังคับใช้ให้ร้านอาหารและแผงลอยต้องผ่านการอบรม และผ่านการรับรองจากสถาบันที่กำหนดภายใต้กฎหมายที่เชื่อถือได้ โดยได้มอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยด้านอาหารของกระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมวางแผนร่วมกับ กรมอนามัย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสมาคม ชมรมร้านอาหารและแผงลอย เพื่อพัฒนายกระดับมาตรฐานร้านอาหารและแผงลอยทั่วประเทศ โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวให้สะอาด ปลอดภัย เพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีของไทย

นายวิทยา กล่าวในตอนท้ายว่า อย่างไรก็ตามประชาชนซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจซื้อและผู้ปรุง รวมทั้งเลือกรับประทานอาหาร จำเป็นต้องพิจารณาถึงคุณภาพของอาหารแต่ละมื้อก่อนรับประทาน และพึงตระหนักว่า อาหารที่ไม่มีคุณภาพ หรือพฤติกรรมการรับประทานที่ไม่เหมาะสมเป็นต้นเหตุสำคัญของการนำไปสู่โรคร้าย แม้จะไม่เห็นผลในทันที แต่ภาวะความเจ็บป่วยของคนรอบข้าง ซึ่งมีอัตราที่สูงขึ้น เป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า จากนี้ไปเราจะดูแลตัวเองและคนที่เรารักอย่างไร

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

Shares:
QR Code :
QR Code