สธ.ชวนคนไทยร่วมปฏิญาณตนงดเหล้าเข้าพรรษานี้
ผลสำรวจพบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปดื่มเหล้ามากถึง 17 ล้านคน ในจำนวนนี้เกือบ 4 ล้านคน อยู่ในขั้นติดเหล้า พะเยาเป็นจังหวัดที่มีทั้งผู้ใหญ่ วัยรุ่นดื่มเหล้ามากสุด เร่งรณรงค์เชิญชวนคนไทย ร่วมลงนามปฏิญาณตน งดเหล้าเข้าพรรษา
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.จัดโครงการ “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ ทำดีถวายในหลวง 2556” รณรงค์ส่งเสริมให้คนไทยลด ละเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดในเทศกาลวันเข้าพรรษาประจำปี 2556 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระชนมายุครบ 86พรรษา และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีพระชันษาครบ 100 ปี ด้วยการร่วมลงชื่อปฏิญาณตน งดดื่มเหล้าตลอดช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ในสมุดทำความดีจำนวน 150,000 เล่ม ที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงงาน วัด โรงเรียนทุกแห่ง หรือลงนามผ่านระบบออนไลน์24 ชั่วโมง ที่ www.thaiantialcohol .com และwww.1king1heart.net ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
หลังจากนั้นจะรวบรวมรายชื่อทั้งหมดทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ โรงพยาบาลศิริราช ประมาณเดือนสิงหาคม 2556 ในเบื้องต้นตั้งเป้าให้มีผู้เข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน ซึ่งจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์พร้อมลงนามปฏิญาณตนในวันที่ 17 กรกฎาคมนี้ ที่สนามกีฬากระทรวงสาธารณสุข
สำหรับผลสำรวจพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กลุ่มผู้มีอายุ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ ในปี 2554 พบว่ามีผู้ดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด 17 ล้านคน ดื่มเป็นประจำเกือบ 8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 44 เพิ่มขึ้นจากในปี 2544 ที่มีจำนวนร้อยละ 35 โดยมีเกือบ 4 ล้านคนอยู่ในขั้นติดเหล้าต้องดื่มทุกวัน จังหวัดที่มีนักดื่มสูงสุด 3 อันดับแรกในประชากรผู้ใหญ่ คือ พะเยา แพร่ เชียงราย จังหวัดที่มีนักดื่มสูงสุด 3 อันดับแรกในประชากรวัยรุ่นอายุ 15-19 ปีคือ พะเยา สุโขทัย เลย จังหวัดที่มีนักดื่มหนักสูงสุด 3 อันดับแรกคือ แม่ฮ่องสอน นครนายก พะเยา ส่วน กทม.พบร้อยละ9 โดยเฉลี่ยเริ่มดื่มเมื่ออายุ 20 ปี และมักดื่มเป็นกลุ่ม มักนิยมดื่มในสถานที่ส่วนตัวมากที่สุด โดยเฉพาะที่บ้านของคนอื่น เนื่องมาจาก 4 ปัจจัยหลักคือ อิทธิพลสื่อโฆษณาทำให้อยากลอง สิ่งแวดล้อมภายในครอบครัว จากเพื่อน และเข้าถึงเครื่องดื่มชนิดนี้ง่าย ทั้งนี้ การแก้ไขและป้องกันจะต้องเข้มข้นด้านการใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ควบคู่กับการรณรงค์สร้างค่านิยมใหม่ สังคมไทยไม่ดื่มสุรา และเปิดคลินิกบำบัดผู้ติดเหล้าในโรงพยาบาลทุกแห่ง เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ที่ต้องการเลิกดื่ม
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน