สธ.ขอนแก่น เตือนดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ช่วงฤดูหนาว

 ที่มา :  สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์


สธ.ขอนแก่น เตือนดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ช่วงฤดูหนาว thaihealth


แฟ้มภาพ


สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น ประชาสัมพันธ์เตือนผู้ปกครองให้ดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ในช่วงฤดูหนาวที่อุณหภูมิของอากาศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และป้องกันโรคทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคหัด และพาบุตรหลานไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามกำหนด


นายแพทย์สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า ขณะนี้ ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย มีสภาพอากาศเริ่มหนาวเย็นลง ทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงที่จะป่วยได้ง่ายขึ้น ซึ่งโรคที่ต้องระวังในช่วงนี้นอกจากเป็นโรคทางเดินหายใจต่าง ๆ แล้ว โรคที่สำคัญโรคหนึ่ง คือ โรคหัด ซึ่งเป็นโรคไข้ออกผื่นที่มักพบได้ในทุกช่วงวัย


โดยเชื้อไวรัสหัดสามารถติดต่อและแพร่กระจายได้ง่าย ผ่านเสมหะ น้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วยและละอองอากาศ โดยเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายโดยการ ไอ จาม และพูดคุยในระยะใกล้ชิด ผู้ป่วยโรคหัดจะมีเชื้อไวรัสหัดอาศัยอยู่ในลำคอ ซึ่งสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ 1-2 วัน ก่อนเริ่มมีผื่นขึ้น โรคหัดเกิดจากเชื้อไวรัส Measles (มีเชิ่ล) ซึ่งเป็นไวรัสที่พบได้บ่อยในจมูกและลำคอของผู้ป่วย อาการที่พบบ่อยของโรคหัด คือ “ไข้ออกผื่น” โดยมักมีอาการ 3-4 วัน แล้วเริ่มมีผื่นนูนแดงขึ้น โดยผื่นเริ่มขึ้นจากหลังหูแล้วลามไปยังใบหน้าบริเวณชิดขอบผม แล้วแผ่กระจายไปตามลำตัว แขน ขา ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ คือ คออักเสบ หลอดลมอักเสบถึงปอดบวม หูชั้นกลางอักเสบ เยื่อบุตาอักเสบ ท้องเสีย และสมองอักเสบซึ่งเป็นภาวะที่รุนแรงที่สุด หากมีอาการที่กล่าวมา หรือสงสัยว่าเป็นโรคหัด ควรรีบพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยเก็บตัวอย่างเลือด ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการและรับการรักษา โรคหัดสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน และวัคซีนป้องกันโรคหัดมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้มากกว่าร้อยละ 95


ซึ่งตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข จะฉีดวัคซีนรวมป้องกันหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน จำนวน 2 เข็ม เข็มแรกเมื่อเด็กอายุ 9 เดือน และเข็มที่สองเมื่ออายุ 2 ปีครึ่ง หากพบว่าลูกหลานรับวัคซีนยังไม่ครบตามเกณฑ์ ผู้ปกครองสามารถพาไปรับวัคซีนได้ที่ สถานบริการสาธารณสุขของรัฐทุกแห่ง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโรคหัดจะมีอัตราการป่วยตายต่ำในเด็กทั่วไปที่มีสุขภาพแข็งแรง แต่ยังคงมีความเสี่ยงในเด็กเล็ก และเด็กที่มีภาวะขาดสารอาหาร หรือเด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการ ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนควบคุมโรค โทร.1422

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ