สธ.กรุงเก่านำร่อง 1 พัน อสม.สร้างเสริมสุขภาพ

หวัง ปชช.มีงานทำ-รองรับผลกระทบจากเศรษฐกิจ

 

สธ.กรุงเก่านำร่อง 1 พัน อสม.สร้างเสริมสุขภาพ          ช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีสถานประกอบกิจการในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เลิกจ้างคนงานกว่า 100 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้างจำนวน 13,515 คน และคาดว่า ตลอดปี 2552 อาจมีผู้ถูกเลิกจ้าง 30,000-40,000 คน สอดคล้องกับการคาดการณ์ของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่คาดว่าปี 2552 ประเทศไทยจะมีอัตราการว่างงานร้อยละ 2.5-3.5 หรือว่างงานประมาณ 9 แสน-1.3 ล้านคน ในจำนวนนี้รวมถึงแรงงานที่สำเร็จการศึกษาใหม่ในปีนี้ประมาณ 5-8 แสนคน

 

          นายแพทย์รัตนชัย จุลเนตร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ทางสำนักงานฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงเห็นควรให้จัดทำ โครงการอาสาสมัครสร้างเสริมสุขภาพ รองรับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขึ้นเพื่อสนับสนุนให้กลุ่มผู้ประสบปัญหาการว่างงานได้เข้ามามีส่วนร่วมกับ สสส. ในการเป็นอาสาสมัครสร้างสรรค์กิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพในชุมชนถิ่นเกิดในลักษณะของการทำงานรูปแบบของจิตสาธารณะเป็นการสรรค์สร้างคุณค่าให้กับตนเอง และก่อให้เกิดประโยชน์สำหรับบุคคลอื่น รวมทั้งสังคมโดยรวม ขยายเครือข่ายอาสาสมัครสร้างเสริมสุขภาพ เพิ่มการขับเคลื่อนกระแสการสร้างเสริมสุขภาพในชุมชน เพื่อศึกษาประเด็นปัญหาด้านสุขภาพของพื้นที่ และนำเข้าสู่กระบวนการแก้ไขของชุมชน

 

          นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวอีกว่า ทั้งนี้เป็นการช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประสบปัญหาการว่างงานให้มีราย ได้จุนเจือครอบครัว ลดความเดือดร้อนในช่วงเวลาที่ประสบปัญหาการว่างงาน โดยเลือกจากผู้ว่างงานที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และลงทะเบียนเป็นผู้ว่างงานไว้ที่สำนักงานแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจำนวน 900 คน นักศึกษาจบใหม่ระดับ ปวส. หรือเทียบเท่าขึ้นไปจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ และมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ยังไม่มีงานทำจำนวน 100 คน ครอบคลุมพื้นที่ 16 อำเภอ ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

          หลังผ่านการอบรมแล้วอาสาสมัครฯ ออกสำรวจและเก็บข้อมูลตามแนวทางที่ได้รับการอบรม เป็นเวลา 2 เดือน โดยมีแนวทางการปฏิบัติงานออกสำรวจโดยใช้แบบสอบถาม 5 ชุดต่อวัน สัปดาห์ละ 5 วัน หรือ 25 ชุดต่อสัปดาห์ อาสาสมัครที่เป็นนักศึกษา ตรวจสอบจำนวนและความครบถ้วนถูกต้องของแบบสำรวจก่อนรวบรวมส่งผู้ดูแลรับผิดชอบ อาสาสมัครแต่ละกลุ่ม ผู้รับผิดชอบดูแลอาสาสมัครทุกกลุ่ม ส่งแบบสำรวจให้สำนักงานโครงการฯ ทุกสัปดาห์ เพื่อส่งต่อให้คณะทำงานวิชาการบันทึก และวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งเรื่องที่อาสาสมัครออกไปสอบถามได้แก่ เรื่องของสุขภาพจิตคนในครอบครัว เรื่องอาหารการกิน และการออกกำลังกาย ขณะที่การออกสำรวจนั้นตัวอาสาสมัครเองยังไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าที่ควร เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ไม่อยู่บ้าน และไม่ให้ข้อมูล

 

          นายแพทย์รัตนชัย บอกด้วยว่า นอกจากจะทำให้คนที่ประสบภาวะว่างงาน 900 คน ได้รับการช่วยเหลือให้มีรายได้เดือนละ 4,800 บาท เป็นเวลานาน 3 เดือน นักศึกษาจบใหม่ 100 คน ได้รับการสนับสนุนให้มีรายได้จุนเจือครอบครัว มีความเข้าใจ ให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพโดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง มาใช้หลัก 3 อ. (อารมณ์ อาหาร ออกกำลังกาย) ในการดำรงชีวิต อย่างน้อย ร้อยละ 50 กิจกรรมด้านส่งเสริมสุขภาพได้รับ การถ่ายทอดสู่ประชาชน 160,000 ครอบครัว จากนั้นหน่วยงานของรัฐ เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯ สสส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับข้อมูลเชิงวิเคราะห์ด้านสุขภาพจากชุมชน 160,000 ครอบครัว เป็นฐานข้อมูลในการทำงานด้านส่งเสริมสุขภาพในอนาคตต่อไป

 

          งานหนัก งานเบา หากไม่เลือก หรือไม่เกียจคร้าน สักวันหนึ่งจะพบช่องทางให้ก้าวเดินไปหาจุด  ที่คาดหวังไว้ ปัญหาการว่างงานก็จะลดน้อยลง การขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็จะไม่เกิดการสะดุด

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

 

 

update 08-09-52

อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ