สถานศึกษาต้นแบบ โรงเรียนอ่านสร้างสุข

         ผลวิจัยชี้ชัด หลายปัญหารุมเร้าโรงเรียนไทย  สสส.จับมือภาคีการศึกษา เดินหน้า อ่านสร้างสุขในโรงเรียนและสถานศึกษาปี 3 สร้างต้นแบบ-กลไกให้การอ่านพัฒนาครูและนักเรียน  ยกระดับการศึกษาไทย   /data/content/25178/cms/e_bdegjkmnrtuy.jpg


          รศ.ดร.วิลาสินี  อดุลยานนท์     ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม   สสส. กล่าวว่า  สสส.ร่วมกับเครือข่ายเสียงประชาชน(we voice) สำรวจสถานการณ์ปัญหาในโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาพบว่า  สิ่งที่นักเรียนเห็นว่าเป็นปัญหาในโรงเรียนมากที่สุด คือ ทัศนคติ ความทุ่มเท  และอารมณ์ของครู ร้อยละ 84.9  การติดเกม 84.2  เนื้อหาการเรียนมีปริมาณมากไป/ไม่น่าสนใจ ร้อยละ 83.9   ด้านผลสำรวจในกลุ่มครูมองว่าสิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดคือ ด้านโภชนาการ น้ำหนักมากเกิน ร้อยละ 93.3  การติดเกม ร้อยละ 92.5 และปัญหาน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ร้อยละ 91.7


          เมื่อวัดระดับความรุนแรงปัญหาในโรงเรียนจากความคิดเห็นทั้งครูและนักเรียนใน 3 อันดับแรกพบว่า ปัญหาความรู้ ความสามารถของครูเป็นสิ่งที่มีระดับความรุนแรงของปัญหามากที่สุด  รองลงมาคือทัศนคติ ความทุ่มเท อารมณ์ของครู   และสุดท้ายคือปัญหาความเพียงพอของอุปกรณ์ สื่อ การเรียนการสอน 


        ดร.วิลาสินี กล่าวว่า ปัญหาเหล่านี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คุณภาพการศึกษาและผู้เรียนไทยด้อยกว่าประเทศอื่น   สสส. จึงร่วมกับ สพฐ.  สำนักงานกศน. กระทรวงศึกษาธิการ   กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร   เดินหน้าโครงการสถานศึกษาต้นแบบชุมชนอ่านสร้างสุข” ปี2557 ภายใต้แนวคิด “อ่านสร้างสุข”  เพื่อสร้างกลไกและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้การอ่านช่วยพัฒนาศักยภาพทั้งครูและนักเรียนในด้านวิชาการและสร้างทัศนคติในทางบวก  โดยเป็นกลไกที่ผสานการมีส่วนร่วมทั้งครู นักเรียน บ้านและชุมชน   ตลอด2 ปีที่ผ่านมาสร้างต้นแบบที่สามารถขยายผลได้มากกว่า 80 โรงเรียนทั่วประเทศ  คาดปีนี้จะเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 60   แห่ง   ตั้งเป้า 5 ปี เราจะมีโรงเรียนต้นแบบกว่า 200 แห่ง ทั่วประเทศเพื่อขยายแนวคิดนี้


         “ผลการศึกษาของโครงการในปี 2555 -2556 พบว่า ครูและนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการมีทัศนคติที่ดีต่อการอ่านเพื่อพัฒนาศักยภาพ และยังเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษา    ส่งผลให้การเรียนดีขึ้นอย่างชัดเจน  สามารถลดปัญหาอ่านไม่ออก อ่านไม่คล่อง    สามารถบูรณาการให้การอ่านเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนทุกวิชาได้    เกิดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านแนวใหม่จากความคิดของนักเรียนและครู  สร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้  ที่สำคัญคือทำให้การอ่านเป็นกลไกหนึ่งที่ขับเคลื่อนระบบสุขภาวะของชาติได้”


       ด้านนางสุดใจ  พรหมเกิด  ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส.กล่าวว่า 2 ปี ของกลไกอ่านสร้างสุขในโรงเรียนสร้างปรากฏการณ์สำคัญคือ การจับมือระหว่างโรงเรียน บ้าน และชุมชน เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้  นักเรียนและบุคลากรทางการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการมีทัศนคติที่ดีขึ้นในการพัฒนาคุณภาพการเรียน การสอน    ขณะที่ท้องถิ่นเข้ามาสนับสนุนจนเกิดนโยบายยั่งยืนระดับพื้นที่   และเกิดฑูตการอ่านและยุวทูตการอ่านที่มีสำนึกสาธารณะ  พัฒนาชุมชนด้วยการอ่านกว่า 1000 คนทั่วประเทศ


 


 


 


      ที่มา: แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส.


 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ