สถานการณ์โรคชิคุนกุนยาในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน
ที่มา : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
แฟ้มภาพ
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ เผยโรคชิคุนกุนยาเป็นโรคมีความรุนแรงแต่ไม่อันตราย แนะนำผู้ป่วยพักผ่อนให้เพียงพอ ป้องกันมิให้ยุงกัดและปฏิบัติตามมาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค
นายสวาท ชลพล นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือชิคุนกุนยา(Chikungunya) ในปีนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 26 มิถุนายน 2562 ทั่วประเทศ พบผู้ป่วยทั้งหมด 3,794 ราย จาก 27 จังหวัดคิดเป็นอัตราป่วย 5.8 คน ต่อแสนประชากร ในกลุ่มอายุ 25-30 ปี 35-40 ปี และ 15-20 ปี ซึ่งโดยปกติจะพบการระบาดทางภาคใต้มากสุด สำหรับพื้นที่ภาคเหนือตอนบนมีผู้ป่วยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน ซึ่งพบในกลุ่มอายุ55–60 ปี 45–50 ปี และ 35–40 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใหญ่
อาการของโรคมักคล้ายกับโรคไข้เลือดออก คือมีไข้สูงเฉียบพลัน มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย อาจมีอาการคันร่วมด้วย บางรายอาจมีตาแดง แต่ไม่พบจุดเลือดออกในตาขาว สิ่งที่แตกต่างจากโรคไข้เลือดออกคือ เชื้อไวรัสชิคุณกุนยา จะไม่ทำให้พลาสม่าหรือน้ำเลือดรั่วออกนอกเส้นเลือด ส่วนใหญ่จึงไม่ทำให้ผู้ป่วยช็อคได้ แต่สร้างความทุกข์ทรมานการปวดตามข้อและข้ออักเสบ ส่วนใหญ่ข้อที่ปวดจะปวดจะเป็นข้อเล็กๆ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า โดยเปลี่ยนตำแหน่งการปวดไปเรื่อยๆ อาการปวดอาจจะมากจนผู้ป่วยเคลื่อนไหวข้อไม่ได้ อาการปวดยาวนานต่อเนื่องถึง 12 สัปดาห์ โดยที่บางรายอาจมีอาการซ้ำเป็นปี
ทั้งนี้การรักษาโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ใช้หลักการเดียวกันกับโรคไข้เลือดออก คือการรักษาแบบประคับประคองและป้องกันภาวะแทรกซ้อนร่วมกับป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสชิคุณกุนยา สำหรับการรักษาแบบประคับประคองตามคำแนะนำของแพทย์ ได้แก่ การให้ยาลดไข้แก้ปวด การให้สารน้ำให้เพียงพอ พักผ่อนให้เพียงพอ ป้องกันมิให้ยุงกัด ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดและปฏิบัติตามมาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรคโทร.1422