“สงขลาส่องแสง” เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง

การมีส่วนร่วมของเยาวชนถือเป็นส่วนสำคัญพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ดังเช่นการทำงานของเยาวชนที่จังหวัดสงขลา ได้ร่วมแสดงพลังการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงผ่านเทศกาลเรียนรู้ “สงขลาส่องแสง ครั้งที่ 3”



งานนี้มีเยาวชน 18 โครงการชูประเด็นทางด้านสังคมทรัพยากรธรรมชาติ อนุรักษ์วัฒนธรรม จัดการขยะ และคุณภาพชีวิตทั้งเด็กและผู้สูงวัย ทั้งนี้ ผลจากการลงมือปฏิบัติทำให้เกิดแรงกระเพื่อมและความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในเมืองสงขลา โครงการนี้สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


โดยมีนายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เป็นประธาน พร้อมการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน โนรา ดิเกร์ฮูลู และการนำโครงการผ่านการแสดงหนังตะลุง การแสดงละคร ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมชมงานเป็นจำนวนมาก ณ หอประชุม 1 ม.ราชภัฏสงขลา จ.สงขลา เมื่อวันที่ 8 ต.ค. ที่ผ่านมา


นางพรรณิภา โสตถิพันธุ์ ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม กล่าวว่า โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลาเปิดโอกาสให้เยาวชนมีพื้นที่การเรียนรู้จากประเด็น สภาพปัญหาที่สนใจ ลุกขึ้นมาคิดและลงมือปฏิบัติจริง โดยร่วมมือกันทำงานเป็นทีม มีส่วนร่วมกับชุมชน เชื่อมโยงกับเรื่องจริง สถานการณ์จริง เกิดจิตสำนึกพลเมืองจากฐานงานของเยาวชน เพื่อให้เกิดการแปลี่ยนแปลง


ประกอบด้วยกระบวนการ 4 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ ข้อ 1 กระบวนการพัฒนาโครงการของเยาวชนด้วยวิธีกลั่นกรองจากมุมมองหลายมิติ ในรูปแบบวงกลมของการสะท้อนกลับและนำเสนอ


ข้อ 2 กระบวนการ Coaching พี่เลี้ยงที่ปรึกษา หรือโค้ช ที่มีบทบาทสำคัญในการฝังเรื่องทักษะชีวิต ซึ่งมีทักษะชีวิต 5 ข้อย่อย ได้แก่ 2.1 ด้านการคิด วิเคราะห์ วิจารณ์ คิดสร้างสรรค์ ตัดสินใจและเชื่อมโยง 2.2 ด้านตระหนักรู้ในตน ความเห็นใจผู้อื่น ความภูมิใจในตน 2.3 ด้านการจัดการอารมณ์และความเครียด 2.4 ด้านการสื่อสารสาธารณะอย่างมีพลัง และ 2.5 ด้านการมีส่วนร่วม ความรับผิดชอบต่อสังคมและจิตสำนึกพลเมือง เพื่อสร้างความเข้มแข็งของทีม การค้นหาคุณค่างานที่ทำเชื่อมโยงกับส่วนร่วม จิตสำนึกพลเมือง ฯลฯ


ข้อ 3 กระบวนการพัฒนาจิตสำนึกพลเมือง มุ่งเน้นให้เยาวชนเชื่อมโยงความคิดจากงานที่ทำไปสู่เรื่องจริง สถานการณ์จริงของสังคม ข้อ 4 กระบวนการสรุปบทเรียนและสื่อสารกับสาธารณะ จัดเวทีและเปลี่ยนเรียนรู้เชิงพื้นที่ เชิงประเด็น


“เมื่อเยาวชนผ่านกระบวนการทั้ง 4 ขั้นตอนแล้วจะมีความรับผิดชอบมากขึ้น เด็กบางกลุ่มสามารถจะเชื่อมโยงกับชุมชนได้ บางกลุ่มเชื่อมโยงตัวเขากับเพื่อน บางกลุ่มเชื่อมโยงโรงเรียนกับชุมชนได้ ดังเช่น กลุ่มป่าเสม็ดเขาเชื่อมโยงกับชุมชน โรงเรียนได้”


ด้านปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการนี้เกิดขึ้นจากที่มูลนิธิฯ ต้องหาหน่วยงานที่สนใจเกี่ยวกับการสร้างพลเมือง สงขลาฟอรั่มเป็นหน่วยงานที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว เรื่องที่จะทำงานเกี่ยวกับพลังเยาวชน เราก็เข้ามาหนุนสงขลาฟอรั่มทำงานด้านนี้ให้มีความเข้มแข็งและขยายตัวมากขึ้น เป็นความร่วมมือของมูลนิธิสยามกัมมาจลและ สสส.


นอกจากนี้ ในจังหวัดสงขลายังมีองค์ประกอบครบ มีคนรุ่นใหม่ที่มีความเป็นพลเมืองที่เรียกว่า Active Citizen รุ่นอาวุโสก็มาใส่ใจให้คนรุ่นใหม่มาใส่ใจบ้านเมือง ยังมีหน่วยงานต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัย 4-5 ที่จะเข้ามาจับมือกัน และยังเป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับ AEC ที่จะต้องตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลง


ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจลกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาทำให้กระบวนการเยาวชนคึกคักมากขึ้น คือคนรุ่นใหม่เริ่มใส่ใจในบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง และน้องๆ ส่งเข้ามาร่วมโครงการมากขึ้น


สิ่งที่เราภูมิใจก็คือว่า เห็นรุ่นพี่กลับเข้ามาดูแลรุ่นน้อง และก็เกิดเป็นเครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่เรียกว่าเข้ามาเฝ้าระวังความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของจังหวัดสงขลา อันนี้ก็เป็นเรื่องที่จริงๆ แล้วก็อยากจะสื่อรวมไปที่จังหวัดอื่น ถ้าเราใส่ใจคนรุ่นใหม่ให้เขามีโอกาสเข้ามาร่วมรับผิดชอบบ้านตัวเอง เริ่มตั้งแต่เล็กๆ น้อยๆ เขาก็จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม


“โครงการแบบนี้เราไม่ได้หนุนตลอดไป แต่ให้หน่ออ่อนกลไกจังหวัดสงขลาเข้มแข็งขึ้น จากพวกเขาจะต้องร่วมกันทำให้กลไกเกิดความเข้มแข็งมากขึ้น สสส.และมูลนิธิสยามกัมมาจลก็จะอยู่เป็นเพื่อนกับชาวสงขลาไปอีก 2 ปี หลังจากนี้คนสงขลาจะต้องดูแลกันต่อไป” ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจลกล่าวปิดท้าย


“มีน” ศิริวรรณ มาแซ เยาวชนแกนนำโครงการสร้างความสุขสู่ชุมชน บอกว่า ตอนแรกกลุ่มเราก็ไม่ได้มีความเป็นพลเมืองอะไรมากมาย แต่เมื่อลงไปศึกษาชุมชน อาจารย์บังคับให้ไปทำ ตอนแรกทำเพราะอยากได้คะแนน แต่พอเราทำแล้วรู้ว่ามันมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นจริงๆ ทำให้เกิดความรู้สึกร่วมและต้องการไปช่วยเหลือชุมชน จนเกิดเป็นจิตสำนึกที่ต้องการทำประโยชน์และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง


“ป้อ” จิตติกรณ์ บัวเพชร เยาวชนแกนนำโครงการตะลุงพันธุ์ใหม่ สานใจเยาวชนกลุ่มนายหนังพลเมือง บอกว่า ตอนเข้าโครงการแรกๆ ไม่ทราบคำว่าพลเมืองคืออะไร จนเกิดความเข้าใจเมื่อเข้ามาร่วมโครงการ จึงรู้แล้วว่ามีแบบบังคับด้วยกฎหมาย เช่น ไปเลือกตั้ง และจารีตประเพณีคือการดูแลบุพการี พ่อแม่ ผู้มีพระคุณ เราต้องตอบแทน ถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบ รวมทั้งต่อไปคิดจะทำอะไรต้องไม่เบียดเบียนใคร ทำแล้วคนอื่นไม่เดือดร้อน นั่นคือหน้าที่พลเมือง


บัดนี้พลังเยาวชนสงขลาได้ส่องแสงให้สังคมไทยได้รับรู้แล้วว่า พลเมืองเยาวชนสามารถยืนหยัดปกป้องบ้านเกิดด้วยมือของตนเองได้ ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ www.scbfoundation.com.


 


 


ที่มา: เว็บไซต์ไทยโพสต์ 

Shares:
QR Code :
QR Code