สงกรานต์เด็กจมน้ำ แนะผู้ปกครองดูแลใกล้ชิด
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
แฟ้มภาพ
ในเดือนเมษายนช่วงปิดเทอมและเทศกาลสงกรานต์ มักจะมีข่าวเด็กจมน้ำเสียชีวิต โดยเด็กๆ อาจชวนกันไปเล่นน้ำตามบริเวณแหล่งน้ำและอาจพลัดตก ลื่นลงน้ำ หรือเกิดการจมน้ำขณะเล่นน้ำ ดังนั้นในช่วงนี้พ่อแม่ผู้ปกครองต้องดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากข้อมูลกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัด สธ. พบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2554-2563) ในเดือนเมษายน มีคนจมน้ำเสียชีวิต 3,372 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิตในเดือนเมษายน 889 ราย เฉพาะเทศกาลสงกรานต์ 3 วัน (13-15 เมษายน) ในช่วง 10 ปี พบว่าในทุกกลุ่มอายุ จมน้ำเสียชีวิต 470 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 124 ราย เฉลี่ยวันละ 4 ราย มากกว่าช่วงวันปกติถึง 2 เท่า โดยในวันที่ 14 เมษายน พบว่ามีการเกิดเหตุเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงที่สุด เฉลี่ย 5 ราย
ข้อแนะนำมีดังนี้ 1.พ่อแม่ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กชวนกันไปเล่นน้ำกันเองตามบริเวณแหล่งน้ำต่างๆ 2.หากครอบครัวพาเด็กไปพักผ่อนตามแหล่งน้ำ ขอให้ดูแลเด็กอย่าให้คลาดสายตา ไม่ให้ยืนใกล้บริเวณขอบบ่อ/สระ 3.หากลงเล่นน้ำให้นำขวดน้ำพลาสติกเปล่าขนาด 1.5 ลิตร หรือแกลลอนพลาสติกเปล่า ปิดฝา ใช้สะพายแล่งติดตัวไปด้วย หากหมดแรงให้นำมากอดแนบหน้าอกและลอยตัวไว้ 4.ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือจมน้ำจะไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้
5.แหล่งน้ำที่จัดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ต้องมีเจ้าหน้าที่คอยดูแล มีเสื้อชูชีพให้บริการ มีกฎระเบียบให้ผู้มารับบริการทุกคนต้องสวมเสื้อชูชีพทุกครั้งที่เดินทาง หรือทำกิจกรรมทางน้ำ แบ่งเขตพื้นที่สำหรับเล่นน้ำหรือทำกิจกรรมทางน้ำที่ปลอดภัย ต้องมีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำติดตั้งเป็นระยะ มีเพียงพอ เข้าถึงได้ง่าย และติดป้ายแจ้งเตือน เช่น ห้ามลงเล่นน้ำ น้ำลึก น้ำวน เป็นต้น รวมทั้งป้ายบอกระดับความลึกของน้ำด้วย
และ 6.ใช้หลัก "ตะโกน โยน ยื่น" เพื่อช่วยเหลือคนตกน้ำ ได้แก่ ตะโกนเรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วยและโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 โยนอุปกรณ์ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำ เช่น เชือก ถังแกลลอน พลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น และยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัว เช่น ไม้ เสื้อ ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ