สงกรานต์ปลอดเหล้าเรายังสนุกได้
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากสำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์และแฟ้มภาพ
'สงกรานต์ทีไร ไม่ต่าง จากเทศกาลปล่อยผี' ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นกับผู้คนจำนวนไม่น้อย หลายคนไม่ได้ออกไปเล่นสงกรานต์ มานานแล้ว เพราะกลัวอันตราย กลัวโดนลูกหลง กลัวอุบัติเหตุ กลัวเจอเรื่องแย่ๆ ซึ่งสาเหตุใหญ่ล้วนมีต้นเหตุจากความเมา คึกคะนอง จนขาดสติ
แต่สงกรานต์ที่ "ถนนข้าวเหนียว" จังหวัดขอนแก่น และ "สงกรานต์โนแอล" ที่จังหวัดภูเก็ต ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างงานสงกรานต์ปลอดเหล้าที่เกิดขึ้นแล้วในเมืองไทย ฉีกกฎความเชื่อเดิมที่ว่า "สงกรานต์ถ้าไม่มีเหล้า ก็ไม่สนุก" ท่ามกลางกระแสที่ตอบรับจากผู้เข้าร่วมงานเพิ่มขึ้นทุกปี
จากถนนต้องห้าม..สู่ถนนปลอดภัย
เทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ถนนข้าวเหนียว จังหวัดขอนแก่น ยังคงจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ เช่นเคย ภายใต้แนวคิดหลัก "สนุก ปลอดภัย ไร้แอลกอฮอล์" โดย ธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น เล่าว่า ในอดีตก่อนหน้านี้ ภาพการจัดงาน สงกรานต์ที่นี่ไม่ต่างไปจากที่อื่นๆ ซึ่งมี ธุรกิจแอลกอฮอล์เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ มีการตั้งบูธขายเหล้าเบียร์ตลอดความยาวถนน มีเหตุการณ์ตีกันเป็นประจำทุกปี ชกต่อยกันแทบทุกชั่วโมง จนครั้งหนึ่งเคยเป็นถนนต้องห้ามที่พ่อแม่ผู้ปกครองห้าม ลูกหลานมาเล่นสงกรานต์
"ขนาดเราเดินเข้าไปในงานเองยังรู้สึกไม่ปลอดภัย แล้วประชาชนกับนักท่องเที่ยวจะปลอดภัยได้อย่างไร ในอดีตเราเคย ตั้งเป้าหมายอยากทำให้สงกรานต์ขอนแก่นมีชื่อเสียงดังระดับชาติ แต่ถ้าเรายังรับ สปอนเซอร์แอลกอฮอล์แล้วก็ปล่อยให้คนมาเมากันในงาน ไม่มีความปลอดภัย จะไปถึงเป้าหมายนั้นได้อย่างไร เราเลยตัดสินใจว่าต้องเปลี่ยน"
นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ถนนข้าวเหนียว จึงประกาศตัวเป็นถนนเล่นน้ำปลอดแอลกอฮอล์แห่งแรกของเมืองไทย โดยมีเครือข่ายพันธมิตรอย่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาร่วมชวนคิดชวนทำร่วมกัน นำมาสู่การวางแผนร่วมกัน มีทั้งมาตรการขอความร่วมมือ และมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างเอาจริงเอาจัง
"ตอนนั้นยอมรับว่ายากมากๆ เพราะถนนทุกสายเต็มไปด้วยร้านขายแอลกอฮอล์ มีทั้งเซเว่นฯ มีทั้งเอเย่นต์ที่ขายเหล้าที่ใหญ่ที่สุดในขอนแก่น มีทั้งร้านอาหารเปิดกระหน่ำช่วงสงกรานต์เพื่อรับสปอนเซอร์เหล้าเบียร์ ถึงแม้เราจะงด แต่ธุรกิจเขา ไม่งด สปอนเซอร์เหล้าเบียร์ยังมาจัดวงดนตรีประชันอยู่ในถนน เราก็ต้องไปพูดคุย ตามเข้าไปลุย ถึงขนาดเอารถดับเพลิง ปิดหน้าร้านก็มี"
โจทย์ที่ท้าทายในช่วงนั้นยังมีการสร้างการยอมรับจากสาธารณชน เพราะมีแต่เสียงเข้าหูในทำนองว่า "สงกรานต์ไม่มีเหล้าไม่มีทางสนุก" ค่านิยมแบบผิดๆ จึงต้องลบล้างด้วยการสร้างสรรค์กิจกรรมที่มีลูกเล่น มีความสนุกไม่แพ้ที่ไหนในประเทศ ตัวอย่างเช่น กิจกรรม Human Wave คลื่นมนุษย์ไร้แอลกอฮอล์ ที่มีคนหลายหมื่นคนมารวมตัวกัน เพื่อ "เล่นเวฟ" ต่อๆ กันต่อเนื่องตลอดถนนทั้งสาย โดยปีนี้ตั้งเป้าว่าจะมีผู้คนมาเข้าร่วมเล่นคลื่นมนุษย์ยาวต่อเนื่องสุดถนนไปจนถึงรางรถไฟ
ผลลัพธ์ของนโยบายปลอดแอลกอฮอล์ที่ผ่านมา ท่ามกลางกำลังตำรวจ ทหาร อาสาสมัครช่วยกันคุมเข้ม ถนนข้าวเหนียวจึงเปลี่ยนจากถนนต้องห้าม มาเป็นถนนปลอดภัย โดยสถิติการตีกันลดลงทุกปี จนนายกเทศมนตรีกล้ารับประกันความมั่นใจ ว่าเล่นน้ำที่นี่ ไม่ต้องหวาดผวา
เบื้องหลังความสำเร็จที่ทำให้ถนน ข้าวเหนียว ขอนแก่นก้าวมาถึงจุดนี้ มีปัจจัยหลักๆ มาจากการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายเข้มแข็งของทุกภาคส่วน เริ่มที่ภาครัฐ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกคนที่ผ่านมาให้ความสำคัญ โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นคนล่าสุด พงษ์ศักดิ์ ปรีชาวิทย์ซึ่งได้ประกาศนโยบายรุกคืบในปีนี้ กำหนดพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัย 26 แห่ง 26 อำเภอในจังหวัดขอนแก่น
นอกจากนี้ ยังมีการร่วมมืออย่าง เข้มแข็งกับภาคเอกชน ภาคชุมชน ภาคประชาสังคม เครือข่ายรณรงค์ปลอดเหล้า ที่ทำงานรณรงค์ต่อเนื่อง และพลังสำคัญ ที่ขาดไม่ได้ คือ สื่อมวลชน ซึ่งมีบทบาทในการเผยแพร่นำเสนอพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ที่เป็นตัวอย่างดีๆ สู่สังคม เมื่อสื่อให้การยกย่อง ปริมาณนักท่องเที่ยวมากขึ้น ความสำเร็จแท้จริงที่เกิดขึ้นในท้ายที่สุดคือ ประชาชนคนขอนแก่นเกิดความรู้สึก มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของบ้านร่วมกัน
"ครั้งหนึ่งเราเคยเสนอว่าอยากทำ มิดไนต์สงกรานต์ แต่ประชาชนไม่ยอม เพราะกลัวว่าจะเอาเหล้าเข้ามายุ่ง ตรงนี้ถือเป็นจุดที่ประสบความสำเร็จที่สุด ไม่ใช่ความโด่งดังอย่างเดียว แต่เราอยาก ชื่อเสียงที่ดีโดยที่ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของ และเกิดความหวงแหน" นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าว
สงกรานต์โนแอล..พื้นที่ปลอดเหล้าภูเก็ต
สงกรานต์ปีนี้ นับเป็นปีที่ 5 ของการ จัดงาน "สงกรานต์โนแอล" งานสงกรานต์ ปลอดแอลกอฮอล์แห่งแรกในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งริเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2555 โดยศูนย์การค้า ไลม์ไลท์อเวนิวภูเก็ต หนึ่งในตัวอย่างภาคเอกชนรายแรกๆ ที่มีสำนักรับผิดชอบต่อสังคมลุกขึ้นมาสร้างค่านิยมใหม่ "สงกรานต์ ไม่มีเหล้า ก็สนุกได้"
ณรงค์ พรหมจิตต ผู้จัดการฝ่ายอีเวนต์ ศูนย์การค้าไลม์ไลท์อเวนิวภูเก็ต เล่าว่า ไลม์ไลท์อเวนิวเป็นไลฟ์สไตล์มอลล์ ซึ่งมีโซนอินดี้มาร์เก็ต หรือ "หลาดปล่อยของ" เป็นจุดนัดพบรวมตัวกันของบรรดานักเรียน นักศึกษา คนรุ่นใหม่ ความตั้งใจของเจ้าของและทีมผู้บริหารที่มี พาณี โกยสมบูรณ์ เป็นหัวเรือใหญ่ จึงอยากดำเนินธุรกิจควบคู่กับการดูแลสังคม จุดเริ่มต้นของงานสงกรานต์โนแอล เริ่มขึ้นจากการตั้งคำถามร่วมกันในทีมผู้บริหารว่า งานสงกรานต์ แบบไหนที่เราอยากเห็น?
ที่ผ่านมา การจัดงานสงกรานต์ โดยทั่วไป ไม่ต่างจากชั่วโมงทองทำเงินของธุรกิจ เพราะบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พร้อมจะอัดเงินก้อนโตเป็นสปอนเซอร์สนับสนุนการจัดงานในทุกๆ ด้าน ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กันอย่างสนุกสนาน แต่เมื่อคำนึงถึงความยั่งยืนทางธุรกิจสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมและต่อลูกค้าโดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครองที่ให้ความ ไว้วางใจ การจัดงานสงกรานต์ชนิดตีหัว เข้าบ้าน ให้เด็กมาเมามายกันในงานเพื่อแลกกับรายได้ในช่วงสั้นๆ ย่อมไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาอยากเห็น
"หากคิดในแง่ธุรกิจ เราอาจ เสียโอกาสทางธุรกิจไปเยอะมากกับการที่จะได้ทั้งสปอนเซอร์ และการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันนั้นสำหรับคน 5,000 คน แต่ผู้บริหารใหญ่ของเรามีแนวคิดว่า การทำธุรกิจต้องแยกให้ชัดว่าอะไรที่จะเป็นตัวทำเงินให้กับธุรกิจ และอะไรที่จะเป็นตัวกิจกรรมที่ทำให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน"
ณรงค์ เล่าว่า ด้วยความที่ภาพลักษณ์ความเป็นเมืองท่องเที่ยวของภูเก็ต ช่วงปีแรกๆ ของการจัดงาน ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า จะทำสงกรานต์ปลอดเหล้าได้จริงหรือ ? หรือจะเป็นเพียงแค่ คอนเซปต์การตลาดสร้างภาพลักษณ์เพื่อสังคม "เราเริ่มต้นจากการดึงความร่วมมือจากเครือข่ายพันธมิตร ทั้งการเข้าไปหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ซึ่งให้ความร่วมมือ มีการเรียกประชุมองค์การบริหารจังหวัด องค์กรส่วนท้องถิ่น ตำรวจ ทหาร มาประชุมร่วมกัน"
นอกจากการกำหนดมาตรการหลักๆ ภายในพื้นที่จัดงานที่ต้องไม่มีการขาย ไม่มีการดื่มให้เห็น ห้ามแอลกอฮอล์ ห้ามบุหรี่ ห้ามคนเมา ฯลฯ คือ การตั้งกฎเหล็กจัดงานสงกรานต์เพียง 240 นาที หรือ 4 ชั่วโมง กำหนดเวลาตั้งแต่ 5 โมงเย็นถึง 3 ทุ่ม หากเกิดเหตุการณ์ทะเลาะวิวาท ลวนลาม เมาอาละวาดโวยวาย หากเคลียร์มาไม่ได้ หรือปัญหาบานปลาย มีการทำร้ายบาดเจ็บ กิจกรรมทุกอย่างจะหยุดหมดและเลิกจัดงานทันที
การจัดการโดยใช้มวลชนควบคุมกดดันกันเอง เพราะทุกคนอยากให้คอนเสิร์ต เล่นต่อ ไม่อยากหมดสนุก ทำให้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาของการจัดงานไม่เคยเกิดเหตุการณ์รุนแรง "เมื่อสิ่งที่เราทำเป็นสิ่งทีดี มีประโยชน์ต่อสังคม ผมเชื่อว่าคนภายนอกพร้อมจะความร่วมมือและเป็นพันธมิตรกับเราในทุกๆ ภาคส่วน ทั้งภาคราชการ เอกชน รวมถึง ผู้ปกครองที่ชื่นชม และขอบคุณที่เราจัดงานสงกรานต์แบบนี้ที่ทำให้ลูกหลานไม่ต้องไปเที่ยวในจุดที่สุ่มเสี่ยง" ตัวแทนผู้บริหาร ศูนย์การค้าไลม์ไลท์อเวนิวภูเก็ต กล่าว
สงกรานต์ค่ำคืน..โมเดลธุรกิจใหม่เหล้าเบียร์
จากตัวเลขสถิติการสูญเสีย บาดเจ็บ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุและปัญหาความรุนแรงจากการเล่นสงกรานต์หนักขึ้นทุกปี จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ผลักดันให้เกิดการพื้นที่สงกรานต์ปลอดเหล้า ปลอดภัย บนถนนข้าวเหนียว จังหวัดขอนแก่น นำร่องเป็นต้นแบบแห่งแรก เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว จนกระทั่งขยายผลไปสู่การโซนนิ่งพื้นที่ เล่นน้ำปลอดเหล้ากว่า 100 แห่ง และ สร้างกระแสถนนตระกูลข้าว เล่นน้ำ ปลอดเหล้ามากกว่า 50 แห่ง
วิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงในปีนี้ คือ ปรากฏการณ์ใหม่ที่ธุรกิจเอกชน กำลังจะทำให้สงกรานต์ย้ายจากถนนเล่นน้ำปลอดเหล้าในกลางวัน มาเป็นสงกรานต์กลางคืนที่เริ่มต้นหกโมงเย็น และจบเอาเที่ยงคืน ผ่านรูปแบบการจัดคอนเสิร์ตในพื้นที่ของเอกชน เช่น หน้าลานศูนย์การค้าต่างๆ ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ ปีที่แล้ว สอดคล้องกับสถิติตัวเลขของ ผู้บาดเจ็บหลังเที่ยงคืนเพิ่มมากขึ้น
"แม้พื้นที่ถนนข้าวเหนียว 1 กิโลเมตรจะรณรงค์ประสบความสำเร็จ แต่หัวถนน ยังมีห้างที่จัดลานเบียร์ ถนนอีกฝั่งหนึ่ง ยังมีธุรกิจเหล้าเต็มไปหมด สิ่งเหล่านี้บ่งบอกถึงความไม่รับผิดชอบของธุรกิจ ในขณะที่ทุกภาคส่วนออกมาช่วยกันรณรงค์ แต่หากภาคธุรกิจยังคงทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย โดยไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม สถิติการสูญเสียในช่วงสงกรานต์ก็คงยากจะ ลดลง ลองจินตนาการดูว่า ถ้าคนห้าพันคน หรือหนึ่งหมื่นคน ออกจากงานเที่ยงคืน ด้วยอาการเมาและออกสู่ท้องถนน โดยต้นทางคือลานเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อะไรจะเกิดขึ้น ต่อให้เรามีมาตรการออกมาแค่ไหนก็คงไม่สามารถดูแลป้องกันได้อย่างทั่วถึง" วิษณุ กล่าว
สงกรานต์กลายเป็นความน่ากลัวก็เพราะ "เหล้า" และ "คน" ..แต่จะดีกว่าไหม ถ้ามีพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ที่ใครๆ ก็สามารถออกมาเล่นน้ำได้อย่างสบายใจ ไร้กังวล เป็นเทศกาลสาดความสุขปลอดภัย ปลอดแอลกอฮอล์ เราอยากเห็นสงกรานต์แบบไหน ในสังคมไทย ลองถามใจดู?