“สงกรานต์นี้ ทุกคนต้องปลอดภัย” ลดความสูญเสียจากความเมาไม่ได้สติ

เรื่องโดย ภินันท์ชญา สมคำ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก  งานรณรงค์ “สงกรานต์ปลอดภัย สังคมไทยเคารพสิทธิ”

ภาพโดย ฐิติชญา สัมปุรณะพันธุ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                    องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ไทย” เป็นตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ  พร้อมต้อนรับผู้มาเยือนจากทั่วทุกมุมโลกมาร่วมสัมผัสประสบการณ์ประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย

                    ในความสำคัญ สงกรานต์ เป็นประเพณีในวันปีใหม่ไทย โดยใช้ “น้ำ” เป็นสื่อในการสร้างสัมพันธไมตรี ที่ได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ทุกกิจกรรมบ่งบอกถึงความงดงาม ความเอื้ออาทรปรารถนาดีต่อกัน สะท้อนถึงบรรยากาศของความกตัญญูกตเวที ความสามัคคี สนุกสนาน  อบอุ่น และการให้เกียรติเคารพต่อกัน แต่ปัจจุบันเทศกาลสงกรานต์ไทยได้เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคม ซึ่งจะมีปัจจัยเสี่ยงจากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เป็นสาเหตุอุบัติเหตุทางถนน การทะเลาะวิวาท ส่งผลให้เกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินแล้ว ยังตามมาด้วยปัญหาความรุนแรงทางเพศหรือการคุกคามทางเพศ อีกด้วย

                    ดังนั้น “สงกรานต์วิถีไทย ดื่มไม่ขับ 2567” ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วม สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) และ ภาคีเครือข่าย ร่วมกันรณรงค์ เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน ควบคู่ร่วมรักษาประเพณีอันดีงามของสงกรานต์แบบไทย สนุกสนาน อย่างให้เกียรติกันและกัน จึงเป็นปรากฎการณ์ที่ความสอดคล้องลงตัวอย่างยิ่ง

                    โดย น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ จากข้อมูลของ สธ. พบผู้ดื่มแล้วขับ 4,340 ราย และเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 502 ราย ตรวจพบแอลกอฮอล์ในอุบัติเหตุที่เกิดทุกครั้ง สสส. ยังต้องเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยทางถนน ดื่มไม่ขับ

                    ข้อมูลของ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ที่พบว่าร้อยละ 56 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์ เสียชีวิตใกล้บ้าน รัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร สสส. สนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) ขับเคลื่อนป้องกันอุบัติเหตุในพื้นที่อำเภอเสี่ยง 222 อำเภอ เน้นมาตรการ ดื่มไม่ขับ-ไม่ขับเร็ว-สวมหมวกนิรภัย

                    ในส่วนการถูกฉวยโอกาสลวนลามฯ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2566 จากการสำรวจของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบ ร้อยละ 87.9 ถูกปะแป้ง,ถูกแซว/ผิวปากหรือใช้สายตาจ้องมอง ทำให้อึดอัด  และ ร้อยละ 84.2 ถูกก่อกวนจากคนเมาหรือถูกบังคับให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

                    ตามด้วยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เกี่ยวกับเทศกาลสงกรานต์ 2567 ระหว่างวันที่ 26-29 มี.ค. 2567 จากสวนดุสิตโพล  พบในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่างระบุพบพฤติกรรมการคุกคามทางเพศ  ขอสรุปคิดเป็นร้อยละเรียงจากมากที่สุดไปหาน้อย ดังนี้…

                    ถูกจับมือ/แขน/เบียดเสียด 61.45 ถูกประแป้งที่ใบหน้า 57.79 ถูกสัมผัสร่างกาย 37.19 ถูกจับแก้ม 34.47  ใช้สายตาจ้องมอง แทะโลม ทำให้รู้สึกอึดอัด ไม่ปลอดภัย 22.45 ถูกแซว/ล้อเลียนส่อไปในเรื่องเพศ 21.54  และถูกสัมผัส/ล้วงอวัยวะอื่น ๆ ที่เกินเลย 16.55

                    เมื่อสอบถามประชาชนทั่วไปว่าปี 2567 นี้ พบว่า ไม่ออกไปเล่นน้ำสงกรานต์แน่นอน ร้อยละ 37.70  มาจากกังวลเรื่องอันตราย/อุบัติเหตุมากสุด  85.06 ,และ การล่วงละเมิดทางเพศ 34.13 จากตัวเลขการสำรวจดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า แม้ประเพณีสงกรานต์จะงดงามเพียงใด แต่ก็ยังมีคนกลุ่มหนึ่งทำให้เกิดวัฒนธรรมฉกฉวยโอกาสคุกคามทางเพศได้อย่างปกติในช่วงเทศกาล

                    เหตุดังกล่าว จึงทำให้สังคมประเทศเห็นพ้องกันว่า ประเพณีสงกรานต์ ควรเป็นพื้นที่ของสังคมทุกคนทุกเพศวัยปลอดภัยจากการคุกคาม จำเป็นต้องร่วมกันสร้างกระแส สร้างความเข้าใจเรื่องการเคารพให้เกียรติเคารพในสิทธิเนื้อตัวของผู้อื่น ไม่ควรเกิดขึ้นในทุกรูปแบบ โดยรณรงค์ต่อเนื่อง ไม่เฉพาะเทศกาลสงกรานต์เท่านั้น นี่คือ การเป็นที่มาของแนวคิด งานรณรงค์ “สงกรานต์ปลอดภัย สังคมไทยเคารพสิทธิ”

                    นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า การรณรงค์ครั้งนี้ เพื่อสร้างการรับรู้ถึงปัญหาการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์  ไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใดก็เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และผิดกฎหมาย

                    ขณะที่ นก ยลลดา Miss Fabulous Thailand กล่าวว่า ในหลายคนอาจมองเหยื่อแต่งตัวไม่เหมาะสม เราจำเป็นต้องปรับทัศนคติใหม่ว่า “เขาจะแต่งตัวอย่างไรก็ได้มันเป็นสิทธิของเขาแต่คุณไม่มีสิทธิที่จะไปละเมิดสิทธิของเขา”

                    ช่องทางร้องทุกข์ สายด่วน 1300  โทรได้ตลอด 24 ชั่วโมง กรณีถูกทำร้ายหรือล่วงละเมิดทางเพศ พม.มีแอปพลิเคชัน ESS Help me ที่เชื่อมต่อกับสำนักงานตำรวจให้ทราบถึงตำแหน่งที่ตั้งที่ร้องเรียนทันที

                    สสส. หน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วน ตระหนักและให้ความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อให้เทศกาลสงกรานต์เป็นเทศกาลที่มีความปลอดภัย ปลอดการคุกคามทางเพศ ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ฉวยโอกาสลวนลาม คุกคามทางเพศ เพื่อสื่อถึงประเพณีวัฒนธรรมที่ดีของสังคมไทย

Shares:
QR Code :
QR Code