สกก.อินทรีย์เชียงใหม่ ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์

ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ


ภาพประกอบจากเว็บไซต์คมชัดลึก


สกก.อินทรีย์เชียงใหม่ ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ thaihealth


สกก.อินทรีย์เชียงใหม่ จำกัด ส่งเสริมสมาชิกยึดอาชีพทำเกษตรอินทรีย์


การขับเคลื่อนนโยบายเกษตรอินทรีย์ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ปี 2560-2564 มีเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในปี 2564 ไม่น้อยกว่า 1,333,860 ไร่ และมีจำนวนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 96,670 ราย เพิ่มสัดส่วนตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศ ร้อยละ 40 และตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 60 รวมทั้งยกระดับกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีพื้นบ้านเพิ่มขึ้น โดยมุ่งให้ความสำคัญกับกลุ่มเกษตรอินทรีย์ที่มีความพร้อมเป็นผู้นำต้นแบบในการดำเนินการเพื่อให้มีอาหารปลอดภัยและได้มาตรฐาน โดยทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมกันบูรณาการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายที่วางไว้


สหกรณ์เกษตรอินทรีย์เชียงใหม่จำกัด เป็นสถาบันการเกษตรที่มีเป้าหมายหลักในการส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่หันมาปลูกพืชเกษตรอินทรีย์แทนการปลูกพืชแบบสารเคมี เพื่อให้ชาวบ้านมีความปลอดภัยทั้งคนปลูกและคนกิน พร้อมทั้งจัดหาตลาดชุมชนเพื่อเป็นจุดจำหน่ายผลผลิตให้กับเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคที่หันมาสนใจเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพ และพิถีพิถันกับการเลือกซื้อพืชผักผลไม้อินทรีย์ไปบริโภคจำนวนมาก และเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับประชาชนในพื้นที่ได้มีโอกาสซื้อหาสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น


สหกรณ์ฯ ได้ส่งเสริมสมาชิกปลูกพืชผักเกษตรอินทรีย์ ส่วนใหญ่เป็นผักพื้นบ้านและผักสวนครัว และผลไม้ส่วนหนึ่งรวมถึงยังส่งเสริมให้เกษตรกรมีการปลูกข้าวอินทรีย์ ประเภทข้าวกล้องและข้าวไรซ์เบอร์รี เพื่อรองรับธุรกิจรวบรวมและแปรรูปผลผลิต โดยมีช่องทางจำหน่ายผลผลิตเกษตรอินทรีย์ของสมาชิกสหกรณ์ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ อาทิ ตลาดในโรงเรียนดาราวิทยาลัย ตลาดในโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ตลาดนัดเจเจมาร์เก็ต ซึ่งจำหน่ายในวันเสาร์ ตลาดในมหาวิทยาลัยแม่โจ้ หมู่บ้าน Land and House ใกล้กับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และช่องทางการจำหน่ายข้าวอินทรีย์ ได้แก่ร้านค้าสหกรณ์เกษตรอินทรีย์เชียงใหม่จำกัด รวมทั้งได้เพิ่มช่องทางการจำหน่ายทาง website / Face book / Line และส่งไปจำหน่ายยัง ตลาดนัดเกษตรอินทรีย์และเครือข่ายร้านค้าสหกรณ์ในจังหวัดและต่างจังหวัด อีกทั้งได้ร่วมกับสำนักงาน สสส.นำผลผลิตไปจำหน่ายที่ตลาดเกษตรอินทรีย์ ณ บริเวณโครงการจริงใจมาร์เก็ต และที่ตลาดต้องชม ซึ่งร่วมกับพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ด้วย


สกก.อินทรีย์เชียงใหม่ ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ thaihealth


นอกจากนี้ สหกรณ์ฯ ได้ดำเนินการส่งเสริมและให้บริการสมาชิกในด้านการประกอบอาชีพเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน PGS ซึ่งเป็นจังหวัดนำร่องการรับรองร่วมกับมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย มีการอบรมถ่ายทอดความรู้ให้แก่สมาชิก ได้แก่ หลักสูตรการเรียนรู้เรื่องการผลิตในระบบอินทรีย์ การลดต้นทุนการผลิตพืชด้วยการผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนในครัวเรือนและการผลิตจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง การนำผลผลิตทางการเกษตรของสมาชิกมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาผลิตภัณฑ์/บรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับกลุ่มสมาชิก และประชาสัมพันธ์ตลาด โดยเน้นสร้างความเข้าใจในระบบเกษตรอินทรีย์ให้กับผู้บริโภค เช่นผู้บริโภคสัญจรไร่นา


นางผ่องพรรณ สะหลี สมาชิกสหกรณ์เกษตรอินทรีย์เชียงใหม่ จำกัด กล่าวว่า แต่เดิมทำนาข้าว 2 ไร่ 70 ตารางวาต่อมาได้มีการขุดบ่อและขุดร่องทำสวนเมื่อปี 2556 เช่น ผักกาด คะน้า กะหล่ำปลีถั่วฝักยาว ถั่วพู ถั่วลันเตา พริกขี้หนู จิงจูฉ่าย ผักบุ้ง ผักตามฤดูกาล หรือผักเมืองหนาว และปลูกไม้ผลชนิดต่างๆ เช่น มะม่วง ลำไย กล้วย มะพร้าว หม่อน อัญชันเสาวรส โดยยึดการทำเกษตรแบบผสมผสานและหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวงเป็นแบบอย่าง ซึ่งสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ ได้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือในเรื่องของจัดหาตลาดให้เกษตรกรไปจำหน่ายผลผลิต ทุกวันนี้ทำให้มีพืชผักไปวางขายที่กาดแม่โจ้ และตลาดเจเจ ขายเฉพาะวันศุกร์-อาทิตย์ มีรายได้ 8,000 กว่าบาท/สัปดาห์


"รู้สึกภูมิใจที่ได้มีอาชีพเกษตรกร มีชีวิตอย่างพอเพียง และยังเป็นเกษตรกรต้นแบบให้แก่เกษตรกรรายอื่นๆ อีก ซึ่งในอนาคตมีโครงการจะขยายพื้นที่ปลูกพืชผักอินทรีย์เพิ่มขึ้นอีกด้วย เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคมีมากขึ้น จึงอยากจะเชิญชวนให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชอินทรีย์กันมากขึ้น เพราะจะช่วยให้ผู้บริโภคมีความปลอดภัย และส่งผลดีต่อสุขภาพของเกษตรกรและยังมีรายได้ดีกว่าการปลูกพืชด้วยสารเคมีอีกด้วย"


ด้าน นางจันทร์ทอน เสาร์แก้ว ผู้จัดการสหกรณ์เกษตรอินทรีย์เชียงใหม่จำกัด กล่าวว่า สหกรณ์ฯ มีการรวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการผลิตสินค้าเกษตร เริ่มแรกสมาชิกได้ทำการปลูกผักปลอดสารพิษ ซึ่งตอนนั้นยังไม่รู้จักคำว่า "อินทรีย์" ส่วนหน้าที่หลักๆ ของสหกรณ์ฯ ก็จะมีการส่งเสริมสมาชิกในเรื่องของการผลิต การแปรรูป การตลาด การตรวจสารพิษตกค้าง การผลิตสินค้าตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์และมาตรฐานอื่นๆ ที่สามารถส่งออกได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคโดยทางสหกรณ์ฯ เข้าไปแนะนำสมาชิกให้ปลูกพืช ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นดินในแต่ละพื้นที่


นอกจากนี้ สหกรณ์ฯ ได้เซ็นสัญญากับห้างสรรพสินค้าต่างๆ ในการจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ ปัจจุบันมีสมาชิกสหกรณ์ 300 กว่าราย ที่ผ่านการอบรมเพิ่มความรู้ในการปลูกพืชด้วยเกษตรอินทรีย์ เริ่มตั้งแต่การปรับปรุงดิน การปลูกพืชผักแบบเกษตรอินทรีย์ การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ เพื่อความยั่งยืนของเกษตรกร ตลอดจนการพัฒนาสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต ด้วยการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น แยมลูกหม่อน แชมพูน้ำยาล้างจาน ฯลฯ


"อยากจะบอกว่า การทำเกษตรอินทรีย์ในช่วงแรกๆ จะมีต้นทุนการผลิตสูงหน่อย ส่วนปีต่อๆ ไปต้นทุนก็จะลดลง ส่วนใหญ่จะใช้แรงงานภายในครัวเรือน เพราะจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มากทีเดียว โดยจะเน้นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและได้รับมาตรฐานเป็นหลัก สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชม สวนเกษตรอินทรีย์ของสมาชิกสหกรณ์ฯ ได้ตลอดเวลา"

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ