“ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ” ชีวิตสุดท้ายเพื่อ Happy Soul
พหูสูตแห่งสุขภาวะที่ดีในการใช้ชีวิต
“อะไรที่เป็นสัจธรรม ผมเขียนและบรรยายได้หมด ไม่ว่าจะทางวิทยาศาสตร์ สังคม ชีววิทยา ผมทำได้ทุกเรื่อง ชีวิตที่ผ่านมา ทำทำงานทุกวัน ไม่เคยพักร้อนตอนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยก็ไม่เคยพัก การทำงานก็คือ การพัก ที่เราไม่เครียดเพราะเราช่างคุย ก็แบ่งเบาเรื่องในใจออกไปได้ แม้บางครั้งเครียด เพราะเอนไซม์ในสมองเปลี่ยน ต้องพึ่งพายาเหมือนกัน”เป็นคำพูดของ ศาสตราจารย์ นพ.ประสาน ต่างใจ ผู้มีประสบการณ์ในชีวิตมายาวนาน
คุณหมอประสาน มีชีวิตตั้งแต่เมื่อ 23 กันยายน 2471 นับกาลเวลายาวนานจนอายุเกือบจะ 80 ปี ในเดือนกันยายนนี้แล้ว ที่สำคัญ ผู้คนทั้งหลาย เรียกคุณหมอว่า “พหูสูต “เพราะความเป็นคุณหมอที่อ่านมาก เห็นมาก รู้เรื่องราวเป็นไปในสังคมมากมาย ด้วยสายตาที่พบปะผู้คน บวกกับความสนใจเป็นมาเป็นไปของกระแสโลก โดยเฉพาะ เรื่องความ ปรัชญา ศาสนา และความเชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ในฐานะเป็นแพทย์
“ผมเป็นคนที่อยู่ใกล้เคียงกับพุทธศาสนามาตั้งแต่ไหนแต่ไรเด็กๆ แม่เป็นนายกพุทธบริษัทของจังหวัด ใกล้ชิดวัดใช้ชีวิตส่วนตัวอย่างมีความสมดุลมาตลอด เพราะมีความศรัทธาในศาสนาและมีศีลธรรมในการดำเนินชีวิต (happy soul-ทางสงบ) ทำตั้งแต่เด็กจนเป็นชีวิตจิตใจ”
แม้วันนี้ คุณหมอประสาน จะเกษียณอายุราชการมาหลายปี แต่ทำงานทุกวัน เหมือนหนุ่มสาวออฟฟิศ โดยใช้เวลาจำนวนหนึ่งไปกับการอ่านหนังสือเพื่อใช้เขียนหนังสือทำวิจัยเป็น happy brain เพราะศึกษาหาความรู้ พัฒนาตนเองตลอดเวลา จากแหล่ง ต่างๆ นำไปสู่การเป็นมืออาชีพ และความมั่นคงก้าวหน้าในการทำงานเป็นปกติในความรู้สึกเหมือนว่า ตัวเองเกิดมาจะต้องทำอย่างนั้น หมอประสานชี้ชัดว่า มันคุ้นเคยกับงานเหมือนกับการท่องเที่ยว ฉะนั้น ประโยชน์ที่จะได้ คือสิ่งที่รู้ไปสอนคนอื่นนั่นเอง
สิ่งที่เรียนรู้ ทำให้เรารู้จักตัวเอง รู้จักความสัมพันธ์ของตัวเองกับโลก ความสัมพันธ์ของเรากับสิ่งแวดล้อม ด้านหนึ่ง เรารู้ว่าต้องมีความรัก สามัคคี เอื้อเฟื้อต่อชุมชน สังคมและสภาพแวดล้อมที่ดี (happy society)
นำไปสู่การรักษาความสมดุลในตัว เพื่อทำตนเป็นประโยชน์กับผู้อื่นบ้าง โดยคิดถึงตัวเองให้น้อย แต่รู้ตัวตลอดเวลาว่าทำอะไรอยู่ทำสิ่งใดให้กับส่วนร่วม กับมนุษย์ชาติ กับโลก กับจักรวาล ถือเป็นเป้าหมาย ที่ นพ.ประสาน ตั้งใจทำให้กับสังคม
“ผมเชื่อว่าชีวิตเกิดมามีหน้าที่ อันนี้คือการทำงาน เพื่อเรียนรู้และก้าวเดินผ่านไปตลอดเวลา เรียนรู้ผ่านตัวตน ผ่านความสัมพันธ์ระหว่างตัวตนกับสิ่งแวดล้อม กับโลก จักรวาล โดยเฉพาะระยะหลังทำงานใกล้คนเจ็บป่วยระยะสุดท้าย คนที่ใกล้ตาย เป็นคนที่เราจะต้องเข้าไปช่วยเหลือ เพราะคนกลุ่มนี้พอถึงเวลาจริงๆ ทำให้เขารู้ตัวว่า คุณต้องหยุดพัก เลิกห่วงได้แล้ว หยุดคิด มันเป็นเวลาที่ต้องคิดถึงตัวเอง คิดถึงอนาคต นึกถึงวัน นรรานณุสติตลอดเวลา “นี่เองที่คุณหมอประสาน พยายามสะกิดใจคนป่วยให้ใช้ชีวิตบั้นปลายสุดท้ายอย่าง “รู้สติ”
ทุกคนต้องเกิด แก่ เจ็บและตายร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีใครหนีพ้นการเกิดแก่เจ็บตายเหล่านี้ แต่ละขั้นตอนเป็นการเรียนรู้มหาศาลมากกว่าหนังสือที่พวกเราเรียนจากมหาวิทยาลัย คือเรียนจากหนังสือจากวิชาแพทย์วิทยา วิทยาศาสตร์ แทบจะไม่มีความหมาย เมื่อเทียบกับความรู้ที่ได้จากการสะสมประสบการณ์การอ่าน การฟัง และการพูดคุยกับผู้อื่น
ฉะนั้น คนที่เป็นอาจารย์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยส่วนมากเข้าใจตัวเองเป็นนักวิทยาศาสตร์ จบแค่นั้น ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่จริงๆ แล้ว ทุกอย่างเปลี่ยนแปลง เลื่อนไหล เคลื่อนที่ เป็นอนิจจังตลอดเมื่อเรารู้ว่า เป็นอนิจจัง จะไปยึดถือทำไม ไม่เห็นต้องยึดถือตัวตนต้องให้ก้าวผ่านไปให้ได้
เพราะชีวิตสุดท้าย เป้าหมายเพื่อ happy soul หากทำให้ชีวิตสงบได้ happy heart ย่อมจะก่อเกิดความมีน้ำใจ เอื้ออาทรต่อกันและกัน เมื่อนั้นกายและใจย่อมเข้มแข็ง ปลาบปลื้ม นำมาสู่ happy body ที่สมบูรณ์ตามมานั่นเอง
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต
update : 27-08-51