ศ.นพ.ประกิต รับโล่เกียรติยศจาก WHO พาประเทศไทยไปสู่โลกปลอดควันบุหรี่

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข


ภาพประกอบจาก สสส.


“ศ.นพ.ประกิต”รับโล่เกียรติยศจาก WHO พาประเทศไทยไปสู่ “โลกปลอดควันบุหรี่” thaihealth


“ศ.นพ.ประกิต” รับโล่เกียรติยศจากองค์การอนามัยโลก ปลุกบุคลากรวิชาชีพสาธารณสุขรุ่นใหม่ พาประเทศไทยไปสู่ “โลกปลอดควันบุหรี่”


เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly : WHA) สมัยที่ 75 นายอาเหม็ด โรเบลห์ อับดิลเลห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจิบูตี ในฐานะประธานสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 75 (ประธาน WHA75) เป็นผู้เปิดวาระการประชุม โดยมี ดร.เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) เข้าร่วมพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณบุคคลและองค์กรที่มีผลงานโดดเด่นในการทำงานพัฒนาด้านสาธารณสุขในประเภทต่าง ๆ


“ศ.นพ.ประกิต”รับโล่เกียรติยศจาก WHO พาประเทศไทยไปสู่ “โลกปลอดควันบุหรี่” thaihealth


สำหรับปีนี้มีบุคลากรสาธารณสุขไทยได้รับรางวัลระดับโลก 2 ท่าน ได้แก่ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ในรางวัล Dr. LEE Jong-wook Memorial Prize for Public Health หรือ รางวัลเชิดชูเกียรติ นพ. ลี จอง-วุค เพื่อการสาธารณสุข และนพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรม สาขาจักษุวิทยา โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ในรางวัลซาซากาว่าแห่งสหประชาชาติเพื่อการสาธารณสุข (Sasakawa Health Prize) ซึ่งรางวัล Dr. LEE Jong-wook Memorial Prize for Public Health มีนางสุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์ เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เป็นผู้แทนรับมอบ


“ศ.นพ.ประกิต”รับโล่เกียรติยศจาก WHO พาประเทศไทยไปสู่ “โลกปลอดควันบุหรี่” thaihealth


ดร.ชางยุบ คิม ประธานมูลนิธิเพื่อการดูแลสุขภาพระหว่างประเทศ แห่งสาธารณรัฐเกาหลี เป็นตัวแทนมอบรางวัล กล่าวว่า รางวัล Dr. LEE Jong-wook Memorial Prize for Public Health เป็นรางวัลที่มอบให้กับบุคคลหรือสถาบันหรือสถาบันองค์กรหรือองค์กรของรัฐหรือเอกชน ที่มีผลงานโดดเด่นด้านสาธารณสุข สำหรับ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ตั้งแต่ปี 2529 และเป็นสมาชิกของคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติของประเทศไทย และเป็นอดีตคณบดีของ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาหลายระดับในระดับชาติและระดับภูมิภาคและในบริบทของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ ขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC) ตลอดชีวิตของศ.นพ.ประกิต อุทิศชีวิตการทำงานเพื่อควบคุมยาสูบ ถือเป็นผู้บุกเบิก ทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน พัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถของเครือข่าย และช่วยเหลือประเทศต่างๆ วางมาตรการควบคุมยาสูบที่มีประสิทธิภาพ  


ดร.เทดรอส กล่าวว่า ขอชื่นชม ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ จากประเทศไทย ผู้ทุ่มเททั้งชีวิตในการลดความชุกของโรคปอดและโรคอื่นๆที่มาจากการบริโภคยาสูบ ผ่านการผลักดันการขึ้นภาษียาสูบ การควบคุมการโฆษณา รวมทั้งการเพิ่มคุณภาพการดูแลผู้ป่วย


“ศ.นพ.ประกิต”รับโล่เกียรติยศจาก WHO พาประเทศไทยไปสู่ “โลกปลอดควันบุหรี่” thaihealth


ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ประเทศไทยมีกระบวนการควบคุมยาสูบทั้งงานรณรงค์และงานนโยบาย มีส่วนช่วยลดการเกิดจำนวนนักสูบได้มากกว่า 8 ล้านคน อย่างไรก็ตาม การสูบบุหรี่ก็ยังคงเป็นปัจจัยอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในประชากรไทยทั้งที่ป้องกันได้ รางวัลเชิดชูเกียรตินพ.ลี จอง-วุค เพื่อการสาธารณสุขถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติสูงสุดที่ได้รับ จากนี้ยืนยันที่จะทำงานควบคุมยาสูบต่อไปเพื่อเติมเต็มเจตนารมณ์ด้านสุขภาพที่มีมาอย่างยาวนานเพื่อสร้างบุคลากรวิชาชีพสาธารณสุขรุ่นใหม่ทุก ๆ ด้านมาร่วมเดินทางและพาประเทศไทยไปสู่โลกปลอดควันบุหรี่ด้วยกัน เชื่อว่าเราทำได้และจะต้องทำให้ได้


“ศ.นพ.ประกิต”รับโล่เกียรติยศจาก WHO พาประเทศไทยไปสู่ “โลกปลอดควันบุหรี่” thaihealth


อนึ่ง รางวัลจากองค์การอนามัยโลกในปีนี้มี 6 รางวัล ได้แก่ 1. รางวัลมูลนิธิสุขภาพครอบครัว อิซาน โดแกรมมาซี (Ihsan Doğramacı) มอบให้กับ ศ.เมห์เม็ต ฮาเบอรัล จากประเทศตุรกี 2.รางวัลซาซากาว่าแห่งสหประชาชาติเพื่อการสาธารณสุข มอบให้กับ ดร .ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข จากประเทศไทย 3. รางวัลมูลนิธิสุขภาพสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มอบให้กับ ศูนย์มาลาเลียแห่งชาติของกระทรวงสาธารณสุข ประเทศนิคารากัว 4. รางวัลชีค ซาบา อัล-อาเหม็ด อัล-ซาบาห์ เพื่อการวิจัยงานสาธารณสุขเพื่อการดูแลผู้สูงอายุและการส่งเสริมสุขภาพ มอบให้กับ ดร. ฮานาดี คลามิส มูบารัค อัล ฮาเม็ด จากประเทศกาตาร์ 5.รางวัล Dr. LEE Jong-wook Memorial Prize for Public Health มอบให้กับ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ จากประเทศไทย และศูนย์การรักษาโรคภาวะอุณหภูมิต่ำอย่างรุนแรง ประเทศโปแลนด์ และ 6. รางวัลเนลสันแมนเดลาเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ มอบให้กับ ดร.หวู่ จุนโหย่ว จากสาธารณรัฐประชาชนจีน

Shares:
QR Code :
QR Code