ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ กับทรรศนะ.. สมานฉันท์ในสังคมไทย สร้างอย่างไรดี?

ลดความขัดแย้ง นำความสุขให้คนไทย

 

 ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ กับทรรศนะ.. สมานฉันท์ในสังคมไทย สร้างอย่างไรดี?

             สถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบัน มองไปทางใดก็เหมือนจะมีแต่ความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ความขัดแย้งทางด้านการเมือง หรือปัญหาสังคมต่างๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้คนไทยมีความสุขน้อยลง ดังผลสำรวจแนวโน้มความสุขมวลรวมของคนไทยภายในประเทศที่บ่งชี้เช่นนั้น

 

             วิธีที่น่าจะลดความขัดแย้งและนำความสุขมาให้กับคนไทยคงจะเป็น “ความสมานฉันท์” แต่การจะสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นจะต้องทำอย่างไร คงไม่ใช่คำถามที่หาคำตอบง่ายๆ

 

             เมื่อวันที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา 4 หน่วยงานประกอบด้วย กระทรวงยุติธรรม สถาบันพระปกเกล้า มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

             ได้มาร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางสังคม ภายใต้ “โครงการศึกษากระบวนการสมานฉันท์เพื่อสร้างสุขภาวะในสังคม”

 

             ซึ่งในงานนี้เอง ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าได้แสดงทรรศนะถึงความพยายามในการสร้างสมานฉันท์ในสังคมไว้อย่างน่าสนใจ โดยเริ่มเล่าถึงการที่สถาบันพระปกเกล้าได้ให้ความสำคัญกับการสร้างสมานฉันท์มาตลอด เริ่มจากการตั้ง “สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล” ขึ้น เพื่อที่จะนำเสนอการบริหารแบบป้องกันความขัดแย้ง โดยเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในโครงการใดๆ ตั้งแต่ต้น หรือที่ให้ประชาชนมาประเมินระดับการให้บริการสาธารณะของรัฐและท้องถิ่น ทำให้ประชาชนมีความตื่นตัวขึ้นที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสาธารณะมากขึ้น รวมถึงมีโครงการศึกษาวิจัยและอบรมเรื่องการะงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี

 

              “อีกโครงการที่เพิ่งเปิดไปเร็วๆ นี้คือหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงเสริมสร้างสังคมสันติสุข ซึ่งนำเอาผู้นำในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการทหาร ฝ่ายความมั่นคง ตลอดจน สส. สว. ภาคเอกชน สื่อมวลชน มาร่วมกันดูความขัดแย้งทั้งในและต่างประเทศ ว่าปัญหาเกิดจากอะไร ทำไมจึงแก้ได้ หรือแก้ไม่ได้ การเรียนรู้ร่วมกันเช่นนี้น่าจะทำให้เกิดความสมานฉันท์ขึ้นได้”

 

ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ กับทรรศนะ.. สมานฉันท์ในสังคมไทย สร้างอย่างไรดี?

             อาจารย์บวรศักดิ์กล่าวอีกว่า สถาบันพระปกเกล้ายังมีภารกิจตามกฎหมายสภาพัฒนาการเมือง ซึ่งกำหนดให้มีสภาพัฒนาการเมืองขึ้นตามรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่ทำแผนพัฒนาการเมืองและส่งเสริมวัฒนธรรมประชาธิปไตยและสันติวิธีในหมู่ประชาชน โดยสมาชิกสภาพัฒนาการเมืองนี้จะมาจากตัวแทนประชาชน 76 จังหวัด จังหวัดละ 1 คน เอ็นจีโอ 16 คน นักวิชาการ 10 คน หัวหน้าพรรคหรือผู้แทนที่มี สส.ในสภา ประธานกรรมาธิการวุฒิสภาและผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ หลายตำแหน่ง สภาพัฒนาการเมืองนี้จะมีบทบาทมากในการสร้างสมานฉันท์ในสังคม

 ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ กับทรรศนะ.. สมานฉันท์ในสังคมไทย สร้างอย่างไรดี?

              “การพัฒนาการเมืองระดับภาคในโครงสร้างทางการเมืองในเวลานี้ก็มีปัญหา ดูไม่ค่อยมีความหวัง แต่ถ้าเราให้ความสนใจกับการพัฒนาการเมืองระดับเยาวชน ระดับประชาชนรากหญ้าก็น่าจะมีความหวังมากกว่า แม้จะเป็นเรื่องที่ช้าหน่อย แต่น่าจะดีกว่าที่จะไปเริ่มในระดับบน ซึ่งไม่รู้ว่าใครจะพูดกับคนสองฝ่ายที่กำลังขัดแย้งกันอยู่ และหาทางออกไม่ได้

 

             อาจารย์บวรศักดิ์ หวังว่า การที่ สสส. สนับสนุนให้สถาบันต่างๆ เข้ามาทำงานร่วมกันในการสร้างสมานฉันท์น่าจะทำให้เกิดความเคลื่อนไหวเชิงสันติวิธีขึ้นได้ทั่วประเทศและทำให้ในระยะยาวบ้านเมืองน่าจะมีความหวังมากขึ้น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา : จดหมายข่าวชุมชนคนรักสุขภาพฉบับสร้างสุข ฉบับที่ 84 กันยายน 2551

 

 

 

 

update 26-09-51

Shares:
QR Code :
QR Code