‘ศูนย์เด็กเล็กบ้านร่องห้า’ ความสุขที่งอกงามอย่างมีคุณค่า
อากาศที่เหมาะสม ดินที่ดีมีแร่ธาตุ น้ำสะอาดอย่างเพียงพอ อยู่ในที่แดดส่องถึง และการดูแลใส่ใจด้วยความรัก ไม่ว่าเมล็ดพันธ์ชนิดใดก็จะแตกรากผลิใบออกมางอกงามได้อย่างแข็งแรง เด็กๆ หรือเยาวชนของเราก็เช่นเดียวกัน อย่างที่ตำบลบ้านต๋อม อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ที่นี่เป็นพื้นที่ในเขตกึ่งเมืองกึ่งชนบท มีทั้งความเสี่ยงในเรื่องปัญหาสังคมด้านต่างๆ อีกทั้งผู้ปกครองที่พอมีศักยภาพทางเศรษฐกิจ มีทางเลือกหลากหลายที่จะพาลูกหลานไปเรียนในเมืองได้ไม่ยาก ดังนั้นโรงเรียนในพื้นที่จึงมักจะเป็นโรงเรียนซึ่งถูกมองข้าม เป็นทางผ่าน หรือไม่ได้รับความสนใจจากผู้ปกครองบางส่วนที่อาจจะกังวลกับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนชุมชน
ที่ “ศูนย์เด็กเล็กบ้านร่องห้า” ที่นี้มีเด็กนักเรียนอายุ 2-4 ขวบ อยู่ประมาณ 60 คนมีครูผู้ดูแลเด็ก 3 คน แต่มีพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา พระ ในชุมชนอีกหลายสิบคน หมุนเวียนมาสอน ทำกิจกรรมให้ความรู้นอกห้องเรียนแก่ลูกหลานของพวกเขา เพราะเชื่อว่าศูนย์เด็กเล็กแห่งนี้เป็นของทุกคน และแม้จะส่งลูกถึงหน้าห้องเรียน แต่หน้าที่การดูแลอบรม ก็ใช่ภาระที่ฝากฝังไว้กับครูเพียงลำพัง การเรียนการสอนสำหรับเด็ก 2-4 ขวบที่นี่ เน้นการพัฒนาด้านร่างกาย อารมณ์สังคม จิตใจ โดยที่ผู้ปกครอง และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เกิดการปรับหน่วยการเรียนรู้ตามหลักสูตรออกมาให้เป็นกิจกรรมการเรียนรู้อย่างเหมาะสม เพื่อให้เด็กได้มีประสบการณ์ตรงมากกว่าการเรียนการสอนหน้าชั้นเรียนเท่านั้น
ครูปุ้ย วรรณา เพ็งศรี เล่าถึงกิจกรรมในศูนย์ว่า ที่นี่จะมีศาลานั่งเล่น หรือจะเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าศาลาภูมิปัญญาท้องถิ่นปลูกผักสวนครัวด้วยกันก็เอามาบูรณาการเรียนทำอาหาร ชาวบ้านร่องห้าเลี้ยงปลาดุกในสระใหญ่ ได้จัดให้เด็กมีส่วนร่วมโดยให้เด็กเลี้ยงปลาในท่อซีเมนต์ หน้าโรงเรียนก็มีแปลงดินเล็กๆ จึงได้จัดสรรทำเป็นโครงการพี่สอนน้องโดยให้เด็กประถมกับน้องปลูกผักด้วยกัน เมื่อได้ผลผลิตก็นำมาแบ่งกับน้องๆ บางทีก็จะมีผู้ปกครองมาสอนทำบัวลอยให้เด็กๆ ซึ่งทั้งนี้ถือเป็นการสอนที่เด็กๆได้ปฏิบัติจริง ซึ่งที่ผ่านมามีงานประเพณีตานก๋วยสลาก ก่อนวันจริงเราก็ชวนเด็กๆมาเตรียมข้าวของพากันไปทำพิธีที่วัดก่อนไปจริงกับผู้ปกครองในวันรุ่งขึ้น
เด็กหรือเยาวชนที่จะเป็นอนาคตของชาติ ผู้ที่อบรม สั่งสอนนอกจากครู อาจารย์แล้ว ผู้ปกครองก็เป็นส่วนหนึ่งในการสั่งสอนพร้อมทั้งเตือนสติก่อนกระทำความผิดของบุตรหลาน เพราะพ่อ แม่ คือส่วนสำคัญในการผสานสัมพันธ์ในครอบครัว นอกจากจะหลีกเลี่ยงการกระทำผิดต่างๆ แล้วยังหลีกเลี่ยงการติดยาเสพติดในอนาคตของบุตรหลานได้อีกด้วย
ส่วนที่ “โรงเรียนบ้านต๋อม” ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาสประจำตำบล ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนว่า เป็น”โรงเรียนสร้างสุข” ทำการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ บูรณาการการเรียนรู้หลักสูตรท้องถิ่น เชื่อมโยงประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาของชุมชน จัดทำห้องสมุดมีชีวิตเพื่อการเรียนรู้อย่างสนุกสนาน บรรยากาศดี และมีเทคโนโลยีทันสมัย มีกิจกรรมคัดแยกขยะใส่ใจสิ่งแวดล้อม และปลูกฝังหัวใจอันดีงามให้นักเรียนคิดกิจกรรมเพื่อสังคม จนเกิดเป็นกิจกรรมดูแลผู้สูงอายุตามบ้านของ”ชมรมจิตอาสาน้อย”
ครูปานเลขา สารศรี โรงเรียนบ้านต๋อม เล่าว่าเด็กๆที่มาเรียนในโรงเรียนนี้ ส่วนใหญ่เป็นเด็กกลุ่มด้อยโอกาสที่บ้านยากจนหลายคนครอบครัวหย่าร้าง อาศัยอยู่กับญาติพี่น้อง และส่วนหนึ่งไม่สามารถสอบเข้าโรงเรียนในเมืองได้ แต่ขณะเดียวกัน ผลจากการส่งเสริมการเรียนรู้ก็ช่วยทำให้เด็กนักเรียนมีสัมฤทธิ์ผลทางการศึกษาอยู่ในระดับที่ดี นักเรียนหลายคนสามารถสอบวัดผลโอเน็ตและ เอเน็ต ติดอันดับต้นๆของจังหวัดได้
คำถามคือ อะไรคือสิ่งที่ใช้ชี้วัดคุณภาพของการศึกษากันหรือ คำตอบคือ เราไม่สามารถที่จะทราบได้ แต่มีความคิดเห็นว่าเมื่อยกคอกรั้วของโรงเรียนออกไป ความหมายของการเรียนรู้ก็จะทั้งไพศาลและครอบคลุมหลายมิติของชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้งโรงเรียนเด็กเล็ก เด็กโตในตำบลบ้านต๋อมกำลังทำอยู่
ครูปานเลขาเล่าว่า โรงเรียนที่นี่มีเด็กที่เรียนรู้ได้ไม่เท่ากันอยู่เยอะ บางคนอาจจะไม่เก่งเลข ไม่เก่งอังกฤษ แต่ครูเชื่อว่าการให้เขาออกไปเรียนรู้ข้างนอก ได้เรียนรู้ทักษะชีวิตความแตกต่างของเด็กแต่ละคนก็จะถูกพัฒนาไปด้วยกันได้ ทุกอย่างคือการสอน เป็นประสบการณ์ให้เด็กรู้ว่าตัวเองน่าจะไปทางไหนได้ อย่างน้อยให้เด็กค้นพบว่า ตนมีดีอะไรมีความสามารถอะไรจะได้มีแนวทางในการดำเนินชีวิต ผู้ใหญ่บางคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองต้องการอะไร ถ้าเด็กเขาได้เรียนรู้หลายอย่าง ได้เจอทางของเขา ต่อไปเขาก็จะมีความสุขิ นอกจากนี้ครูปานเลขา ยังเล่าอีกว่าในส่วนของชุมชนนั้นก็ได้มีการส่งเสริมกิจกรรมการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในแทบทุกย่อมหญ้า เริ่มต้นจาก “ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนตำบลบ้านต๋อม”มีกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการและการดูแลเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์แม่ กระทั่งเติบโต อีกทั้งผู้ใหญ่ใจดียังเปิดโอกาสให้มี”สภาเด็กและเยาวชนตำบลบ้านต๋อม”ให้เด็กได้มีช่องทางพัฒนาตนเอง แสดงบทบาท ศักยภาพ ผ่านกิจกรรมต่างๆที่คิดทำขึ้นมาโดยมีผู้ใหญ่คอยสนับสนุน
ในหมู่บ้านต่างๆ เด็กๆ ก็ได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญา วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรมจากพ่อครูแม่ครูภูมิปัญญา เกิดเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนซึ่งทำกิจกรรมสร้างสรรค์หลายกลุ่ม ได้แก่ “ลานผญ้าสืบสานศิลปวัฒนธรรมล้านนาตำบลบ้านต๋อม” ใช้ลานวัดเรียนศิลปะการต่อสู้กระบี่กระบอง และขยายไปสู่มวยไชยา “กลุ่มสะล้อซอซึงบ้านแท่นดอกไม้” เด็กๆ เรียนดนตรีล้านนารวมวงกับผู้ใหญ่”กลุ่มสืบสานสายใยรักในท้องถิ่นศิลปินรุ่นเยาว์” เจ้าอาวาสมีแนวคิดก่อตั้งวงปีพาทย์พื้นบ้านในชุมชน จนขยายผลไปสอนเด็กๆในโรงเรียน
“เด็กๆ ก็เป็นเหมือนต้นไม้เล็กๆ ที่จำต้องเติบโตมาด้วยสายใยรัก”
ด้านลุงสุรชัย มูลเชื้อ ครูสอนกระบี่กระบองที่ลานผญ๋า เล่าความในใจให้ฟังว่า”ชีวิตลุงใกล้เวลาแล้ว ถ้าเปรียบเทียบก็คงเหมือนไม้ขีดไฟก้านสุดท้ายในกลัก จุดใช้ก้านอื่นมาหมดแล้ว ลุงไปมาแล้ว เป็นมาแล้วหลายอย่างเมื่อแก่ตัว ก็อยากเอาวิชาความรู้ที่ตัวเองมีมาสอนลูกสอนหลานทีบ้านเกิด จุดไม้ขีดไฟก้านสุดท้ายให้มีแสงสว่าง อีกไม่นานลุงก็จะตายแล้ว แต่ลูกหลานยังอยู่ อะไรดีไม่ดีลุงก็จะสอน อยากให้เขาเป็นคนดี มีเส้นทางที่ดี”
มีอีกหลายความในใจ จากครูอีกหลายคนที่น่าประทับใจ แต่นี่คงเพียงพอจะเป็นตัวแทนซึ่งจะบอกได้ว่า คนที่ทุ่มเทแรงใจให้กับการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กๆที่นี่คิดอะไรอยู่ เราคงสัมผัสได้ชัดเจนว่าพวกเขาทั้งหมดกำลังร่วมสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่อให้เมล็ดพันธุ์น้อยๆลูกหลานของพวกเขาได้เติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ที่แข็งแรงมีอนาคตอันสดใส ปัจจุบันนี้ตำบลบ้านต๋อม สามารถขับเคลื่อนเป็นตำบลสุขภาวะโดยการสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
แน่นอนว่าที่บ้านต๋อม ความสุขของชุมชนคงไม่ใช่แค่การเพียรกอบกู้ความง่อนแง่นเจียนล่มสลายของอดีต แต่คือการทุ่มแรงเทใจคิดสร้างสรรค์ทำสิ่งต่างๆ มากมายเพียงเพื่อให้ปัจจุบันมีแต่เรื่องน่ายินดีมีความหมายเท่านั้น ทว่า จะสามารถสร้างอนาคตที่อยู่เย็นเป็นสุขให้ลูกหลานได้อย่างไรต่างหากเป็นคำถามใหญ่ ซึ่งคอยผลักดันให้พวกเขาร่วมลงมือสร้างคำตอบอันเต็มเปี่ยมด้วยความหวังอยากให้เป็นจริงและยั่งยืน
ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย