“ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง”ตอบโจทย์ลดแออัด-รอคิวนาน
ที่มา : คมชัดลึก
แฟ้มภาพ
“ไปจองคิวตั้งแต่ตีห้า ได้ตรวจบ่ายสอง” คำพูดของผู้ป่วยที่ไปรับบริการตรวจรักษาในแผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในเขตเมือง พูดกันจนชินปาก ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่มีปริมาณมากขึ้น ส่งผลให้โรงพยาบาลรัฐเกิดสภาพความแออัดอย่างมาก จนนำมาสู่คำบ่นอย่างหลากหลายในเรื่องการรอคิวตรวจนาน กระทรวงสาธารณสุขจึงดำเนินการ “ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง” นำร่อง 8 แห่งทั่วประเทศ
ภายใต้นโยบายคลินิกหมอครอบครัว (Primary Care Cluster : PCC) ที่ถือเป็นระบบบริการปฐมภูมิ ซึ่งรัฐธรรรมนูญกำหนดไว้ให้มีระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม โดยมีการประเมินว่าหากดำเนินการได้สำเร็จจะประหยัดงบประมาณ 50,000 ล้านบาทต่อปี
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) อธิบายว่า คลินิกหมอครอบครัว 1 ทีม ดูแลประชาชน 10,000 คน หรือประมาณ 3,000 ครัวเรือน ซึ่งทีมหมอครอบครัวจะประกอบด้วยอย่างน้อยต้องมีแพทย์ 1 คน พยาบาล 2 คน และนักวิชาการสาธารณสุขอีก 2 คน แต่หากทีมใหญ่ก็จะมีหลากหลายสาขามากขึ้นอย่างน้อย 10 คน ที่ผ่านมามีการดำเนินการกระจายในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ตัวเมืองที่มีผู้ป่วยจำนวนมากเข้ารับบริการในโรงพยาบาลจังหวัด อย่างโรงพยาบาลศูนย์(รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) หากมีคลินิกหมอครอบครัวหรือศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองก็จะช่วยลดความแออัด ลดการรอคอยในโรงพยาบาล
ขณะที่ นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่า การพิจารณาความเหมาะสมให้พื้นที่ใดนำร่องจะเลือกจากจังหวัดที่มีความพร้อมที่จะผลักดันเรื่องนี้ คือเป็นเมืองใหญ่ๆ ชาวบ้านสามารถมารับบริการที่ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองได้ ซึ่งจะมีการให้บริการเหมือนแผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลใหญ่ และหากไม่สามารถมารับริการได้ก็จะมีหมอลงไปให้บริการถึงบ้าน โดยมีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัวโดยตรงมาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน จะสามารถลดความแออัดในโรงพยาบาลใหญ่ๆ ได้ ทั้งนี้จากข้อมูลในต่างประเทศ พบว่าหากประเทศใดมีคลินิกหมอครอบครัว ค่าใช้จ่ายก็จะลดลง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงอยากเห็นคลินิกเวชศาสตร์หมอครอบครัวเกิดขึ้นทั่วประเทศ
“สิ่งสำคัญที่จะทำให้ประชาชนศรัทธาต่อการให้บริการของทีมหมอครอบครัว จะต้องแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของการให้บริการ จากความพร้อมในเรื่องบุคลากรที่แพทย์จะต้องจบเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัวแล้ว ความพร้อมเรื่องสถานที่ปฏิบัติงานของหมอครอบครัว จึงมีการนำร่องตั้งเป็นศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง ที่จะทำให้ประชาชนเชื่อถือและมั่นใจที่จะเข้ามาใช้บริการที่ศูนย์ ว่าไม่แตกต่างจากแผนกผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาล เพราะจะมีทีมหมอครอบครัวทั้งแพทย์และสหวิชาชีพร่วมกันให้บริการ มีเครื่องเอกซเรย์ อัลตราซาวด์ เช่นเดียวกัน” นพ.เจษฎากล่าว
สำหรับเป้าหมายการจัดตั้งคลินิกหมอครอบครัวนั้นสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1.ระยะสั้น ลดความแออัด ลดการใช้บริการที่โรงพยาบาล 60% ลดการรอคอยในโรงพยาบาลใหญ่ มีการศึกษาว่าลดจาก 172 นาที เหลือ 44 นาที ลดการนอนโรงพยาบาล 15-20% 2.ระยะกลาง ลดป่วยช่วยป้องกันและควบคุมโรค ลดการตายของทารกแรกเกิด 10-40% เพิ่มคุณภาพการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและผู้สูงอายุ และ 3.ระยะยาว ลดค่าเดินทางของประชาชนไปโรงพยาบาล 1,655 บาทต่อคน ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 25-30% และช่วยรัฐประหยัดงบประมาณ 50,000 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ ในวันที่ 18 กันยายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไปเปิดศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง บ้านคลองศาลา รพ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเป็น 1 ใน 8 ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง โดยอยู่ห่างจากโรงพยาบาลเพชรบูรณ์แม่ข่ายเป็นระยะทาง 4 กิโลเมตร ระยะเวลาเดินทางโดยประมาณ 8 นาที มีประชากรในทะเบียน 26,022 คน มีการดำเนินงานตามเกณฑ์ 3s ดังนี้ 1.บุคลากร(Staff) เป็นทีมสหวิชาชีพ มีแพทย์ 3 คนเป็นหัวหน้าทีม และพยาบาลวิชาชีพ ทันตแพทย์ นักวิชาการ เภสัชกร แพทย์แผนไทย และอื่นๆ 2.ระบบ(System) จัดระบบบริการแบบ one stop service และ 3.โครงสร้างพื้นฐาน(Structure) สถานที่ที่เหมาะสม มีครุภัณฑ์ที่จำเป็นตามเกณฑ์ที่กำหนด
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ลดระยะเวลารอคอย เมื่อเทียบกับการรอคอยในรพ.เพชรบูรณ์ ลดลงถึง 3-5 เท่า ส่งผลให้บริการแบบผู้ป่วยนอกมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ถึง 1.5 เท่า เฉลี่ย 2,996 ครั้งต่อเดือน จำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลที่บ้านเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า การควบคุมโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง โดยใช้วิธีการเป็นที่ปรึกษาสุขภาพร่วมวางแผน ทำให้สามารถควบคุมโรคได้ดีขึ้น กลุ่มวัยเรียน วัยรุ่น สามารถค้นหาเด็กที่หลงทางสู่การใช้สารเสพติดกลับคืนสู่ชีวิตปกติมากกว่าร้อยคน ช่วยคืนลูกให้ครอบครัว และประชาชนมีความพึงพอใจในการให้บริการ 91.25%
ทั้งนี้ ตามเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการให้มีหมอครอบครัวครอบคลุมเพียงพอภายใน 10 ปี และมีศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองทั่วประเทศ 110 แห่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดหางบประมาณ
8 ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองนำร่อง
1.ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง โรงพยาบาลศูนย์บุรีรัมย์
2.ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง โรงพยาบาลกำแพงเพชร
3.ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง โรงพยาบาลขอนแก่น
4.ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง บ้านคลองศาลา โรงพยาบาลเพชรบูรณ์
5.ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง โรงพยาบาลศูนย์ตรัง
6.ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง โรงพยาบาลนครพิงค์สาขาแม่ริม
7.ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง โรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก
8.ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง โรงพยาบาลน่าน