ศูนย์สุขภาพชุมชนบ้านธิ จ.ลำพูน
ร้องขอองค์กรท้องถิ่นช่วยแรงงานในชุมชน
ศูนย์สุขภาพชุมชน โรงพยาบาลบ้านธิ จ.ลำพูน หนึ่งในศูนย์บริการสุขภาพ เพื่อให้บริการรักษาผู้ป่วยเบื้องต้น เร่งดำเนินการสำรวจเก็บข้อมูลแรงงานด้านกลุ่มอาชีพ ความเสี่ยงที่เกิดจากการทำงานพร้อมให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพ ควบคู่กับการนำข้อมูลมาวิเคราะห์หาแนวทางปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานของแต่ละกลุ่มอาชีพ ร้องขอองค์กรท้องถิ่นต้องมีบทบาทมากขึ้น ทั้งด้านงบประมาณสนับสนุน และการจัดการอย่างเป็นระบบ เพราะแรงงานส่วนใหญ่เป็นคนที่อยู่ในชุมชน เมื่อสัมภาษณ์ตัวแทนแรงงานเย็บผ้า บอกว่าชีวิตเปลี่ยนไป “สุขภาพดี ครอบครัวผาสุข ต้องไม่รับงานเยอะ”
สุจิน ใสสะอาด นักวิชาการสาธารณสุขโรงพยาบาลบ้านธิ กล่าวถึงการทำงานว่า “ศูนย์สุขภาพชุมชน บ้านธิ นอกจากจะรับบริการผู้ป่วยเบื้องต้น ได้ร่วมกับแผนพัฒนาแรงงานอกระบบ เพื่อทำยุทธศาสตร์เชิงรุกในการดูแลแรงงานที่อยู่ในพื้นที่ ให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพในการทำงานเช่นในกลุ่มเย็บผ้า จะนำความรู้เรื่องกายศาสตร์ การจัดท่าทางในการทำงาน การป้องกันฝุ่นฝ้าย การดูแลระบบสายตา ซึ่งต้องเชื่อมโยงกับองค์กรท้องถิ่นในการเข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุงสถานที่ทำงานให้ถูกต้อง” ขั้นตอนต่อไปจะร่วมจัดตั้งคณะอำนวยการเครือข่าย เพื่อวางแผนร่วมกันระหว่างศูนย์สุขภาพชุมชนและกลุ่มอาชีพ เพื่อจัดการกับสภาพปัญหาที่มีอยู่ และผลักดันให้องค์กรท้องถิ่นให้เห็นความสำคัญมากกว่านี้
จากข้อมูลกลุ่มอาชีพ 16 กลุ่มของอำเภอบ้านธิ พบว่า 70% กลุ่มเกษตรกร ทำนาและปลูกลำใย, 10% เป็นกลุ่มเย็บผ้า ซึ่งข้อมูลจำนวนผู้ป่วย 161 คน ในปี 2548-2549 ของผู้มารับบริการศูนย์สุขภาพชุมชน บ้านธิ พบว่า มีอาการเกิดโรคนิ้วล็อค ซึ่งเกิดจากความผิดปรกติของกล้ามเนื้อของนิ้วมือ เกี่ยวข้องกับอาชีพของแรงงานที่อยู่ในอำเภอบ้านธิ ที่ประกอบอาชีพการเกษตร รับจ้างแกะลำใย จักสานและถักผ้า ที่ต้องใช้มือในลักษณะซ้ำๆ นานๆ ใช้แรงกด สมหมาย ยะเมืองมอญ ตัวแทนกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า บ้านใหม่ กาดเหนือ ต.บ้านธิ ให้ข้อมูลว่า “กลุ่มตัดเย็บมีสมาชิกทั้งหมดประมาณ 50 คน เดิมกลุ่มตัดเย็บทำงานวันละ 11 ชั่วโมงตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น ทำงานหนัก เพื่อไปทันกับปริมาณงานที่รับจ้างจำนวนมาก เวลาพักกินข้าวจะนำอาหารมาวางที่จักร ไม่สวมรองเท้าเวลาทำงาน เกิดปัญหาต่อสุขภาพทั้งปวดกระบอกตา สายตาไม่ดี เกิดโรคหืดหอบ ตามมาด้วยโรคอ้วนและเบาหวาน แต่เมื่อได้รับความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ จึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทำงานใหม่ เช่น การรับงานน้อยลงเพื่อให้มีเวลาพักมากขึ้น จากเดิมที่รับงานมากในเวลาน้อยในแต่ละครั้งเป็นพันตัวเหลือครึ่งเดียว พักงานทุก 2 ชั่วโมง เวลาทำงานน้อยลง ทำงานถึง 5 โมงเย็น ปรับเปลี่ยนท่าทางในการทำงานใหม่ จะกรอกตาบ่อยๆ เมื่อเกิดอาการล้า เปลี่ยนเก้าอี้ทำงานเป็นแบบมีพนักพิง เอนหลังได้ เมื่อถึงเวลาพักทานข้าวจะล้อมวงเป็นกลุ่มเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหาระหว่างกัน ตอนเย็นจะชักชวนกันไปออกกำลังกายทั้งครอบครัว เช่นเต้นแอโรบิค ไทเก๊ก ซึ่งส่งผลดีกับตนเองและครอบครัว ปัญหาครอบครัวน้อยลง การทะเลาะในครอบครัวลดลงในกลุ่มจะดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอในแต่ละเดือนจะได้รับการตรวจปอด และสายตาจากศูนย์สุขภาพชุมชน
ความหวังที่จะดูแลสุขภาพให้ดีขึ้นของแรงงานกลุ่มตัดเย็บ อยากให้มีการตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งยังไม่มีงบประมาณรองรับ สิ่งที่ช่วยเหลือตนเองได้คือการเก็บออมจากสมาชิกคนละหนึ่งบาททุกวัน เพื่อจัดเป็นสวัสดิการตรวจสุขภาพ ออม 25 บาท อีก 5 บาท รวมเป็นกองทุนสำหรับการเจ็บป่วยของสมาชิกที่ต้องนอนโรงพยาบาล และเงินช่วยเหลือการเยี่ยม 2 ครั้ง ครั้งละ 200 บาท
เพื่อให้เป้าหมายของการดูแลสุขภาพของแรงงานในชุมชนมากขึ้น การรวมตัวเป็นเครือข่ายของกลุ่มแรงงานอาชีพ เพื่อนำเสนอข้อปัญหาให้กับองค์กรท้องถิ่นเข้ามาดูแลชุมชน และนำงบประมาณสนับสนุนให้ตรงกับความต้องการของชุมชนมากที่สุด
เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต
Update : 01-09-51