ศูนย์ลดโลกร้อนตำบลอุโมงค์
ที่มา : วิถีชุมชน สร้างเศรษฐกิจฐานราก : ศูนย์เรียนรู้
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ศูนย์ลดโลกร้อนตำบลอุโมงค์ เทศบาลตำบลอุโมงค์ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน
ศูนย์ลดโลกร้อนประกอบด้วยสองอาคาร อาคารแปดเหล่ยม หรือเฮือนแปดเหลี่ยนมและอาคารปูนอีกหลังติดกัน โดย วิโรจน์ นิไทรโยค ผู้อำนวยการกองศึกษา เล่าความเป็นมาของศูนย์นี้ว่า ในปี 2548 เทศบาลตำบลอุโมงค์ได้ร่วมกับโรงเรียนอุโมงค์วิทยาคมจัดทำ “โครงการลดเมืองร้อนด้วยมือเรา” เพื่อส่งให้สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยพิจารณาและได้รับการคัดเลือก
โครงการนี้ได้รณรงค์ให้คนในท้องถิ่นตระหนักถึงความสำคัญของพลังท้องถิ่น และพลังของเยาวชนในท้องถิ่นในการร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศด้วย การริเริ่มสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ เริ่มที่โรงเรียน สำนักงานเทศบาล ร่วมกันขยายผลไปสู่ครอบครัวและชุมชน
แรกๆ ชาวบ้านไม่เข้าใจเกี่ยวกับลดโลกร้อนตรงไหน แต่เดี๋ยวนี้ชาวบ้านเข้าใจ ทั้งน้ำท่วม ดินถล่ม ฝนไม่ตกตามฤดูกาลเป็นรูปธรรมชัดเจน อาศัยการให้ความรู้แก่เยาวชน เพื่อไปบอกกับผู้ปกครองอีกต่อหนึ่ง ซึ่งแนวคิดของการทำศูนย์ลดโลกร้อนนี้เกิดขึ้นเพราะต้องการแนวร่วม โดยอาคารแปดเหลี่ยมคือหนึ่งในสองผลผลิตจากโครงการทั่วประเทศ
แม้เป็นโครงการที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่วันนี้ก็ยังคงสร้างรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้างชุมชน ‘Zero Waste’ ที่บ้านป่าเส้า หมู่ที่ 9 กับ ‘ชุมชนสีเขียว’ อีก 2 ชุมชนด้วยกัน คือบ้านอุโมงค์ หมู่ที่ 1 และบ้านกอม่วง หมู่ที่ 2
บ้านป่าเส้า หมู่ที่ 9 ได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการประกวดชุมชนปลอดขยะเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 80 ชุมชน ระดับประเทศ ประเภทชุมชนขนาดใหญ่ ในปี 2555 ส่วนบ้านอุโมงค์นั้นเป็นชุมชนสีเขียวที่โดดเด่นด้วยการรักษาธรรมชาติ การทำรั้วต้นชา ลดถุงพลาสติก และลดขยะ ส่วนบ้านกอม่วงนั้นเป็นชุมชนสีเขียวที่เด่นในเรื่องของการปรับพฤติกรรมและการลดขยะ
ไม่จำเพาะแค่ชุมชนเท่านั้น แต่ที่นี่รณรงค์ถืงข้างในสำนักงานเทศบาล โดยมีการทำ Carbon Footprint เป็นการวัดผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ที่มีต่อระบบสิ่งแวดล้อมในแง่ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมนั้นๆ โดยวัดคาร์บอนไดออกไซต์ที่ปล่อยออกมา เพื่อสร้างความตระหนักและตื่นรู้
ด้วยความที่ตำบลอุโมงค์มีลำไยมาก หลายคนอาจไม่รู้ว่าเปลือกลำไยถ้าปล่อยทิ้งไว้ตามธรรมชาติจะปล่อยก๊าซมีเทนออกมา ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกตัวสำคัญที่ทำให้โลกร้อนขึ้น ที่นี่จึงเอามาทำ ‘ดังโหงะ’ หรืออีเอ็มบอล โดยใช้เปลือกลำไย ซึ่งทำหน้าที่แทนกากน้ำตาลและรำ
อย่างลำน้ำปิงห่างที่เลียบเคียงศูนย์ลดโลกร้อน เมื่อก่อนน้ำเน่าก็ได้ดังโหงะเปลือกลำไยช่วยไว้ เพียงแค่ 7 วัน ค่าพีเฮชในน้ำกลับมาอยู่ที่ 8
เวลานี้ศูนย์ลดโลกร้อนยังเปิดให้เรียนรู้ ฝึกปฏิบัติ มีกิจกรรมลงฐานให้ได้เรียนรู้สำหรับผู้ที่สนใจ อย่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็เลือกศูนย์นี้เป็นศุนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาเชิงนิเวศ โดยที่นี่พยายามแทรกแนวคิดสอนให้ผู้ที่มาเรียนรู้ตระหนักว่า ทุกสิ่งล้วนมีที่มาจากมนุษย์ทั้งนั้น ต้องใช้ด้วยความพอดี ต้องใช้อย่างมีเหตุผล อย่างที่ในหลวงท่านมอบหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ท่านก็อยากให้ลูกๆ ของท่านย้อนคิดย้อนดูตัวเอง