ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ ผ่านกลไก 3 “สาธารณสุข-ท้องถิ่น-ศึกษา”

การดูแลเด็กเล็ก 0-5 ปี นับเป็นยุคทองของพัฒนาการเรียนรู้ เพราะเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สมองมีการพัฒนาการสูงสุด อันส่งผลต่อสติปัญญา บุคลิกภาพ และความฉลาดทางอารมณ์

การลงทุนเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จึงถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด จากผลการศึกษาของ james heckman นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล (2542) ได้ติดตามศึกษาเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษในประเทศต่างๆ พบว่า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตั้งแต่ช่วงปฐมวัย จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า  โดยเด็กที่ได้รับสารอาหารและการดูแลสุขภาพที่ดีในช่วงแรกของชีวิตจะมีทักษะทางกายภาพ iq และ eq ที่ดีกว่า  มีโอกาสที่จะเข้าเรียนจนถึงระดับอุดมศึกษาสูงกว่า สามารถลดโอกาสการซ้ำชั้นหรือออกกลางคัน และมีโอกาสเป็นกำลังแรงงานที่มีคุณภาพ มีรายได้สูงในอนาคต 

สำหรับการดูแลเด็กปฐมวัยในประเทศไทย พบว่า เด็กวัย 0-2 ปี จะอยู่ในการดูแลของผู้ปกครอง และเมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 3 – 5 ปี จะส่งเข้าสถานรับเลี้ยงเด็กปฐมวัยต่าง ๆ เช่น โรงเรียนอนุบาล หรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ภายใต้การดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งในปี 2554 มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้งสิ้น 19,718 แห่ง เด็กปฐมวัย 911,143 คน และครูผู้ดูแลเด็ก/ผู้ดูแลเด็ก 51,193 คน กล่าวคือ ครู/ผู้ดูแลเด็ก 1 คน ต้องรับผิดชอบเด็กปฐมวัย 17 คน ซึ่งจากผลการศึกษาของสถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2550 พบว่า การจัดการศึกษาให้แก่เด็กปฐมวัยของท้องถิ่นยังมีอุปสรรคจากการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ด้วยข้อจำกัดของคุณภาพและมาตรฐานของการจัดการเรียนรู้แก่เด็กปฐมวัยของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขนาดใหญ่และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขนาดเล็ก ครูผู้ดูแลเด็กและผู้ดูแลเด็ก ไม่ได้รับการพัฒนาศักยภาพด้านการจัดทำหลักสูตรเท่าที่ควร และปัญหาการจัดสรรงบประมาณที่ไม่สอดคล้องกับสภาพจริง

โครงการศักยภาพภูมิปัญญาท้องถิ่น (capacity of a community treasures (coact) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ออกแบบระบบกลไกการทำงานของ “ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ” การพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีสุขภาวะที่ดีทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และสังคมที่สมวัย ต้องอาศัยการเชื่อมประสานและทำงานร่วมกันใน 3 ระบบ คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในฐานะผู้ดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ระบบสุขภาพผ่านโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และ ระบบสนับสนุนด้านการศึกษา

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลศรีษะเกษ จึงถือเป็นรูปธรรมของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ ที่เกิดจากกลไกการทำงานร่วมกันของ 3 ระบบ 

จากเดิมเทศบาลตำบลศรีษะเกษ อ.นาน้อย จ.น่าน มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจำนวน 8 แห่ง ในแต่ละศูนย์เด็กจะเรียนรวมกันไม่มีการแยกอายุ เพราะขาดแคลนผู้ดูแลเด็ก ในปี พ.ศ.2552 จึงมีการรวมศูนย์ทั้ง 8 แห่งเข้าด้วยกัน เพื่อให้มีงบประมาณที่เพียงพอในการบริหารจัดการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้เกิดประสิทธิภาพ

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลศรีษะเกษ จึงเป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งเดียวที่เกิดจากการยุบรวมกันของทั้ง 8 ศูนย์ ทำให้มีการแยกเด็กที่มีอายุต่างกันอยู่คนละห้อง มีการพัฒนาศักยภาพครูโดยการเปิดโอกาสให้ครูไปศึกษาเพิ่มเติมเรื่องการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย  ปัจจุบันศูนย์ฯแห่งนี้ให้การดูแลเด็กปฐมวัย 2 – 5 ปี จำนวน 179 คน และในจำนวนนี้มีเด็กที่มีความบกพร่องจำนวน 3 คน ครูผู้ดูแลจำนวน 13 คน โดยให้การดูแลเด็กในอัตราส่วนครูต่อนักเรียน 1:14 คน  โดยกำหนดวิสัยทัศน์ว่า “เด็กมีพัฒนาการสมวัย ผู้ดูแลเด็กมีศักยภาพ ชุมชนมีส่วนร่วม มุ่งสู่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ”

เทศบาลตำบลศรีษะเกษได้สนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน โดยครู/ผู้ดูแลร่วมกับนักวิชาการในการวิเคราะห์สถานการณ์การเลี้ยงดูเด็กในชุมชน วิเคราะห์ทุนทางสังคม และศักยภาพของพื้นที่เพื่อนำข้อมูลมานำเสนอแก่ชุมชนเพื่อให้เกิดการร่วมวางแผนร่วมแก้ปัญหา โดยมีการแต่งตั้งคณะทำงานในพื้นที่ที่มาจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท้องที่ ผู้นำชุมชน ปราชญ์ ครอบครัว ที่สมัครใจเข้าร่วมเป็นคณะทำงาน ดังเช่นการแก้ปัญหาความปลอดภัยของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ไม่มีรั้วกั้น ซึ่งอาจเกิดอันตรายจากวัว ควายและสัตว์ต่างๆ เข้ามาในบริเวณศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และบริเวณด้านหลังของศูนย์ฯมักเกิดไฟป่าบ่อยครั้ง แต่เนื่องจากงบประมาณของเทศบาลมีไม่เพียงพอสำหรับสร้างรั้วทั้ง 4 ด้าน ผู้นำชุมชนจึงประชาสัมพันธ์ให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมบริจาคไม้และช่วยกันสร้างรั้ว  ส่วนเทศบาลจะสนับสนุนอุปกรณ์และงบประมาณสร้างรั้วคอนกรีตด้านหลังของศูนย์เพื่อป้องกันอันตรายจากไฟป่า

รพ.สต.ศรีษะเกษ เช่นกรณีเมื่อพบปัญหาพัฒนาการและสุขภาพเด็ก ทั้งในด้านโภชนาการ และปัญหาโรคติดเชื้อต่างๆ ครู/ผู้ดูแลจะแจ้งให้ผู้ปกครองและเจ้าหน้าที่รพ.สต.ทราบ เพื่อวางแผนดำเนินการให้การช่วยเหลือและติดตามเยี่ยมบ้านเด็กแต่ละรายสม่ำเสมอทุกเดือน พร้อมทั้งให้คำแนะนำแก่ครูและผู้ปกครองในการดูแลเด็กเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพ และหากไม่สามารถดูแลรักษาและแก้ปัญหาให้ดีขึ้นได้จะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลชุมชนเพื่อให้เด็กได้รับการดูแลเฉพาะทาง 

นายอดุลย์ภัทร เหมภัทรสุวรรณ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลศรีษะเกษ กล่าวว่า ทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญของการบริหารประเทศ ซึ่งในสมัยที่ตนเป็นนายกเทศมนตรีฯครั้งแรกเห็นว่า การมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กถึง 8 ศูนย์จะขาดคุณภาพ เพราะติดขัดในเรื่องงบประมาณ การบริหารจัดการ และกำลังคน ก่อนจะยุบจึงทำประชาพิจารณ์โดยการประชุมผู้ปกครองใน 14 หมู่บ้าน จากนั้นจึงเริ่มดำเนินการยุบรวมศูนย์ และมีการซื้อรถซึ่งพบว่าประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าการจ้างรายเดือนเพื่อรับส่งเด็กในแต่ละหมู่บ้าน ทำให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของเทศบาลในปัจจุบันมีประสิทธิภาพ 

“สิ่งสำคัญอยู่ที่ทีมงานและการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม ทั้งเทศบาล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รพ.สต. มาร่วมกันจนได้รับรางวัลในเรื่องของสุขภาพ ทำให้เกิดไฟในการดูแลเด็กอย่างต่อเนื่อง ผมจึงประสานให้รพ.สต. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก วัด และโรงเรียนต้องทำงานร่วมกัน เพราะทุกฝ่ายเกี่ยวข้องกับเด็ก รวมถึงการจัดทำระบบฐานข้อมูลเด็ก เพราะถ้าไม่มีระบบฐานข้อมูลแล้วการทำงานจะลำบาก” นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลศรีษะเกษ กล่าว

นางดวงจันทร์ ติ๊บน้อย หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลศรีษะเกษ กล่าวว่า ศูนย์ฯแห่งนี้จะทำงานเชื่อมโยงระหว่าง รพ.สต. เพื่อดูแลสุขภาพเด็กเล็ก และโรงเรียน โดยจะมีสมุดบันทึกข้อมูลเด็กทั้งทางสุขภาพและพัฒนาการเรียนรู้ โดยวันแรกที่ผู้ปกครองพาลูกมาสมัครจะถ่ายเอกสารสมุดสีชมพูบันทึกสุขภาพเด็กหลังคลอดเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานทางสุขภาพของเด็ก และจะมีการประเมินพัฒนาการของเด็กทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ปีละ 2 ครั้ง พร้อมกับเชิญแพทย์มาร่วมให้ความรู้แก่ผู้ปกครอง

“ข้อมูลของเด็กจะถูกส่งต่อไปยังโรงเรียนเมื่อเด็กเข้าป.1 ทำให้เด็กถูกดูแลอย่างต่อเนื่อง ครูที่รับช่วงต่อจะได้ทราบพัฒนาการของเด็กว่าเป็นอย่างไรเพื่อดูแลเป็นรายกรณี เพราะบางรายพบว่าเด็กมีปัญหาคือ ไม่ยอมพูด จึงมีการออกติดตามร่วมกันของครูและเจ้าหน้าที่รพ.สต.ทำให้รับรู้ว่าแม่ของเด็กเป็นโรคประสาท ครูจึงรู้ภูมิหลังของเด็ก ทั้งครูและรพ.สต.จึงร่วมเข้ามาดูแล”หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลศรีษะเกษ กล่าว 

นายณรงค์ ถาต๊ะวงศ์ ผู้อำนวยการรพ.สต.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ในการเชื่อมต่อการทำงานร่วมกัน ได้จัดทำเป็น “ภาคีเครือข่ายสุขภาพ” โดยมีคณะกรรมการที่มาจากนายกเทศมนตรีฯ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ผู้นำภูมิปัญญาพื้นบ้าน เจ้าหน้าที่รพ.สต. และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งรพ.สต.จะดูเรื่องการคัดกรองสุขภาพเด็กว่าเด็กมีพัฒนาการที่สมวัยหรือไม่ และเป็นผู้คัดกรองเด็กที่มีความผิดปกติ โดยทำหน้าที่ประสานไปยังโรงพยาบาลนาน้อย และโรงพยาบาลน่าน เพื่อส่งต่อการรักษา และหากพบว่าเด็กมีปัญหาด้านสังคม เทศบาลก็จะประสานพัฒนาสังคมเข้ามาดูแล นอกจากนี้ได้มีการเยี่ยมบ้านร่วมกับครูในกรณีที่พบว่าเด็กมีปัญหา เช่น เด็กน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มากๆ ก็จะดูถึงสภาพความเป็นอยู่ที่บ้าน อาหารที่เด็กรับประทานเป็นประจำ ทั้งนี้การทำงานที่เชื่อมต่อกันในระดับตำบลและชุมชนนั้น เราจะไม่แบ่งว่าใครมาจากกระทรวงใด เพราะเด็กเหล่านี้เป็นลูกหลานของเรา และเป็นอนาคตของตำบลเช่นกัน

 

 

ที่มา : สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)

Shares:
QR Code :
QR Code