ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน ด่านหน้าสกัดกั้น-จัดการผลกระทบน้ำเมา
ครอบครัวมีหน้าที่สร้างสรรค์สมาชิกที่มีคุณภาพ ดูแลและให้ความรักความอบอุ่นกับลูกหลานอย่างเหมาะสม รวมทั้งมีบทบาทสำคัญช่วยส่งเสริมค่านิยมการดำเนินชีวิตตามหลักศีลธรรมที่ดี รู้จักแยกแยะว่าสิ่งใดถูกหรือผิด
แต่ปัจจุบันนี้ยังมีครอบครัวอีกจำนวนมากที่ละเลยบทบาทหน้าที่ ขณะเดียวกันสมาชิกในครอบครัวถูกกระทำความรุนแรงทั้งด้านร่างกาย จิตใจ เด็กผู้หญิงถูกกระทำรุนแรงทางเพศ เหตุจากสุราและยาเสพติด กรณีผลกระทบของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับปัญหาความรุนแรงยังปรากฏเป็นข่าวต่อเนื่อง ยังไม่รวมกรณีที่ไม่ตกเป็นข่าว แน่นอนว่ายังมีอีกเยอะในชุมชน
การพัฒนากลไกการทำงานด้านครอบครัวในชุมชนเพื่อให้ก้าวพ้นความรุนแรงในครอบครัว เมื่อเร็วๆ นี้มีความคืบหน้าผ่านโครงการพัฒนากลไกการทำงานด้านครอบครัวในชุนชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งลุกขึ้นมากระตุ้นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำงานเชิงรุกด้านครอบครัว เตรียมความพร้อมด้านคนที่ทำงานด้านนี้ มีบทบาทหลักในการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัวในชุมชนของตนเอง
เพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า การดึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามามีบทบาทพัฒนาครอบครัว จะทำให้การทำงานและการรณรงค์เรื่องสุขภาวะและคุณภาพชีวิตในครอบครัวมีพลังที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น โดย สสส.เป็นองค์กรหล่อลื่น สังเคราะห์ความรู้ และสนับสนุนความรู้เพื่อสื่อสารกับสังคม สนับสนุนการดำเนินการที่ชอบธรรมในสังคม จากโครงการนี้จะเกิดศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน โดยมีโครง สร้างที่คนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการคิดเพื่อไปสู่เป้าหมายให้เป็นครอบครัวที่มีความสุข นอกจากนี้มีตัว อย่างการทำงานด้านครอบครัวที่เข้มแข็ง นำองค์ความรู้จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญมาถ่ายทอด เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้
“ผลจากโครงการนี้ คาดหวังจะเห็นครอบครัวในชุมชนในระดับตำบลมีข้อมูลของครอบครัวที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเป็นเชิงลึก ทั้งคนแก่ติดเตียง เด็กติดเหล้าและยาเสพติด ครอบครัวแม่วัยรุ่น ครอบครัวเลี้ยงเด็ก ครอบครัวผู้พิการ ครอบครัวที่มีลูกหลานผ่านกระ บวนการกระทำผิด เนื่องจากเป็นครอบครัวที่น่าเป็นห่วง การรู้ข้อมูลจะนำมาสู่การวางแผนทำงานที่ถูกต้องร่วมกันของท้องถิ่นทั้งยังช่วยลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว เน้นย้ำบทบาท อปท. การทำงานพัฒนาครอบครัวต้องอยู่บนข้อมูลที่ถูกต้องและการวางแผนที่ดี
ด้าน สมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวว่า ครอบครัวเป็นพื้นฐานหลักของสังคม หากครอบครัวมีความสัมพันธ์ที่ดี มีความประพฤติตามศีลธรรมอันดีงาม ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมีการดำเนินชีวิตที่ดี จะเป็นครอบครัวที่อบอุ่นและเข้มแข็งช่วยลดปัญหาสังคมได้ โดยเฉพาะปัญหาความรุนแรงที่มีเหตุจากน้ำเมา พม.มีจุดมุ่งหมายความสุขของครอบครัว เป็นโอกาสดีที่มี สสส.เป็นเพื่อนคู่คิดในการพัฒนาครอบครัว แล้วก็เห็นความสำคัญดึง อปท. ทำโครงการและกิจกรรมพัฒนาครอบครัว เดินหน้าจัดทำข้อมูลครอบครัวในชุมชนที่เป็นจริง ครบถ้วน ตอนนี้เรามีนโยบายเร่งรัดหนุนการทำงานของศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพด.) ปัจจุบันมีกว่า 300 ศูนย์ ผู้บริหารระดับสูงตั้งเป้าสู่ 1,000 ศูนย์ ในปี 2557 ด้วยเห็นเป็นแนวทางแก้ปัญหาในครอบครัวทั้งตั้งครรภ์ไม่พร้อม ค้ามนุษย์ ใช้แรงงานเด็กและความรุนแรงในครอบครัวจากน้ำเมา
“เรามีต้นทุนที่ดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะครอบครัวในต่างจังหวัด อย่างครอบครัวในภาคอีสาน มีทุนที่เข้มแข็ง ช่วยกันเลี้ยงดูลูกหลาน ในครอบครัวมีความรักและอบอุ่น แม้แต่ต่างประเทศก็ยังยอมรับ รวมถึงครอบครัวในภาคเหนือและใต้ จะช่วยสร้างสมาชิกที่ดี หากไม่อยู่ในมลพิษที่กัดกร่อนครอบครัว อย่างมีร้านเหล้า สถานบันเทิง แหล่งโลกีย์ใกล้ชุมชน ทำให้เข้าถึงสิ่งเสพติดได้ง่ายทั้งเด็กและเยาวชน เราเน้นขับเคลื่อนโดยใช้ทุนทางสังคมที่มีแต่เดิม” สมชายเผยแนวทางการดำเนินงานร่วมกับ สสส.
สำหรับการตั้งศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนนั้น ผอ.สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ให้รายละเอียดเพิ่มเติมอีกว่า ผู้นำท้องถิ่นเข้าใจและเข้าถึงพื้นที่ซึ่งสำคัญมากในการกำหนดทิศทางการทำงานพัฒนาครอบครัว โดยศูนย์นี้จะเป็นตัวช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งและเป็นด่านหน้าสกัดกั้นปัญหาในพื้นที่ โดยมีหน่วยบัญชาการในท้องถิ่น ในปีหน้าจะเคลื่อนขบวนอย่างเต็มที่ร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อจัดการกับปัญหาสุขภาพและสุขภาวะในพื้นที่ ซึ่งการจัดการผลกระทบจากการดื่มก็รวมอยู่ด้วย
ตัวอย่างของการทำงานพัฒนาครอบครัวในชุมชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประสบผลสำเร็จสร้างสุขภาวะที่ดีทั้งกายและจิตใจให้คนในท้องถิ่นก็มีต้นแบบมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือ มงคล ชัยวุฒิ ประธานศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนเทศบาลตำบลเชิงดอย จังหวัดเชียงใหม่
มงคลย้ำชัดเจนว่า อปท.จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน น้ำไหลไฟสว่าง ถนนหนทางนั้นไม่เพียงพอ เพราะในชุมชนยังมีเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยง คนพิการ คนสูงอายุ ตนอยากยกกรณีเด็กสาววัย 16 ในชุมชน อุ้มท้อง คลอดในหอพัก ไม่มีทักษะการเลี้ยงลูก กรณีแบบนี้ท้องถิ่นก็มีบทบาทดูแลได้ สำหรับศูนย์พัฒนาครอบครัวนั้นเราตั้งกันมาก่อนตั้งแต่ปี 2548 เป้าหมายคือไม่อยากให้คนในชุมชนเข้าโรงพยาบาล สถานีตำรวจ สถานกักกันเด็กและเยาวชน รวมถึงผู้สูงอายุเข้าบ้านพักคนชรา
“ครอบครัวมีความสำคัญ อยากให้สมาชิกอยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา มีครอบครัวที่อบอุ่น พอมีพอกิน ทำงานเชิงรุก รณรงค์ในหลายประเด็น ทั้งเหล้า เศรษฐกิจพอเพียง นำหลักศาสนามาเป็นต้นทุนขับเคลื่อน นอกจากอบรมถ่ายทอดความรู้และอาชีพต่างๆ เพื่อนำไปประกอบอาชีพ หารายได้ ท้องถิ่นเราทำงานร่วมกับชาวบ้านภายใต้คำขวัญ “เราจะดูแลกันและกันตั้งแต่ในครรภ์ถึงเชิงตะกอน” ทั้งหมดนี้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี” ประธานศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนเทศบาลตำบลเชิงดอย เชียงใหม่ ย้ำครอบครัวดีๆ ช่วยลดปัญหาสังคมได้
ทั้งนี้ มงคล อปท.ต้นแบบยังฝากถึงการตั้งศูนย์ครอบครัวในชุมชนอื่นๆ จะประสบผลสำเร็จได้ขึ้นอยู่กับท้องถิ่นได้รับความร่วมมืออย่างจริงจังจากภาคีเครือข่าย ทั้งบ้าน วัด โรงเรียน เจ้าหน้าตำรวจ นายอำเภอ พม.จังหวัด จนกระทั่งประธานกลุ่มต่างๆ แม่บ้าน เยาวชน ผู้สูงอายุ เป็นที่ปรึกษาช่วยกันคิด คอยเฝ้าระวังเป็นหูเป็นตา และดำเนินงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ณ เวลานี้ตนเป็นแม่ข่ายและมีลูกข่ายมาเรียนรู้การทำงานด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต ก็หวังให้ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนทั้งที่ตั้งแล้วและกำลังจะจัดตั้ง ไม่ลืมหน้าที่ในการแบ่งปันประสบการณ์และช่วยกันแก้ปัญหา เพราะนี่จะเป็นอีกแนวทางเสริมพลังเกิดเครือข่ายที่เข้มแข็งด้านครอบครัวของประเทศ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์