“ศูนย์คนไร้บ้าน” บ้านหลังใหญ่ ของคนไม่มีบ้าน
บ้านแต่ละหลังคงมีองค์ประกอบที่แตกต่างกันออกไปบางบ้านประกอบด้วยสามี ภรรยา ขณะที่บางบ้านอาจเป็นครอบครัวขยายมีทั้งพ่อ แม่ ลูก ปู่ ย่า ตา ยาย แต่สำหรับ “ศูนย์คนไร้บ้าน สุวิทย์ วัดหนู”มีสมาชิกทุกเพศ ทุกวัย มาจากต่างที่ แต่ก็อยู่ด้วยกันได้อย่างเอื้ออาทรแบบพี่น้อง
เป็นภาพที่สร้างความประทับใจให้กับน้องๆ กว่า 10 คนใน “โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม”ของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม(มอส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ลงพื้นที่ศึกษาปัญหาและทำกิจกรรมจิตอาสาด้านสิทธิคนจนเมือง และคนไร้บ้านที่ศูนย์คนไร้บ้าน สุวิทย์ วัดหนู บางกอกน้อย เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อให้คนรุ่นใหม่มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสภาพ สาเหตุ และแนวทางแก้ไขปัญหาสังคม ปลูกจิตสำนึกใหม่ในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น
น.ส.กันณิการ์ ปู่จินะ ผู้อยู่อาศัยในศูนย์คนไร้บ้านฯ ถ่ายทอดเรื่องราวของตนเองให้เยาวชนในโครงการฟังว่า เมื่อก่อนนอนอยู่ที่สนามหลวง ต่อมามูลนิธิคนไร้ที่อยู่อาศัยชักชวนให้คนไร้บ้านรวมตัวกันสร้างเต็นท์ที่อยู่อาศัยที่ศาลแม่หมูเป็นที่แรก ต่อมาย้ายไปอยู่ที่หมอชิตจนกระทั่งปี 2544 จึงย้ายมาที่บางกอกน้อยจนถึงปัจจุบัน มีคนไร้บ้านอาศัยอยู่ทั้งหมด 53 คนไม่มีใครเป็นหัวหน้า อยู่กันแบบพี่แบบน้อง บางคนยังหางานไม่ได้ คนอื่นๆก็ช่วยเหลือเรื่องอาหาร เพราะไม่ได้มีการช่วยเหลือจากส่วนใด ต้องหารับประทานกันเอง ในบ้านไม่มีหัวหน้า แต่อยู่กับแบบพี่น้อง คอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน บางคนมีอาชีพของตนเอง เช่น เก็บของเก่าขาย แต่บางคนยังไม่มีงานทำก็จะอยู่ภายในบ้านช่วยเหลืองานในบ้าน
ด้าน น.ส.อัฉรา แก้วมาศ อายุ 21 ปี หรือน้องเมย์ สถาบันชุมชนอีสาน จังหวัดมหาสารคามหนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการฯเล่าว่า จุดเริ่มต้นที่เข้าร่วมโครงการนี้ เพราะอยากพบเพื่อนใหม่ อยากเรียนรู้ในสิ่งต่างๆ ที่ไม่เคยรู้ ที่สำคัญอยากจะพัฒนาตนเองให้เก่ง พอได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้เห็นได้เลยว่าได้พัฒนาขึ้น อย่างเมื่อก่อนเป็นคนไม่ค่อยพูด ก็กลายเป็นคนช่างพูด ช่างถาม รู้สึกว่าไม่เคยเห็นองค์กรใดที่ทำงานสาธารณประโยชน์และงานให้กับเด็กจริงๆ แบบนี้ และจะนำประสบการเหล่านี้ไปพัฒนาชุมชนที่เราอยู่ โดยจะพัฒนาให้ชุมชนไม่มียาเสพติด ไม่อยากให้เยาวชนในชุมชนท้องก่อนวัยเรียน และสิ่งที่ได้ไปจากการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ก็จะเล่าต่อให้เขาน้องๆ ในชุมชนฟังถึงประสบการณ์ที่ได้รับด้วย”
ด้าน น.ส.ศิริพร ฉายเพ็ชร เจ้าหน้าที่ฝ่ายฝึกอบรมโครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่ฯ มอส. กล่าวว่า โครงการนี้ต้องการเปิดโอกาสให้คนหนุ่มสาวทั่วประเทศ มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกัน เนื่องจากมองว่าคนหนุ่มสาวเติบโตมาก็ต้องหารากของตนเองให้เจอ และการเข้าใจสังคมโดยภาพรวมเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ฉะนั้นการมารู้จักคนจนที่เป็นกลุ่มสุดท้ายที่คนในสังคมจะเหลียวมอง ว่าเกิดอะไรขึ้นกับกลุ่มบุคคลเหล่านี้บ้าง เพื่อหาความจริงจากรากฐานของปัญหา
“อยากให้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชนระดับแกนนำขององค์กรต่างๆ มาหาความจริงของปัญหาสังคม ไม่ด่วนตัดสินรู้จักคิดวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น ถือว่าเป็นหน้าที่ที่สำคัญมาก อย่างกลุ่มคนไร้บ้านจำนวนมากไม่มีที่นอน ยังนอนที่สนามหลวงลำบากที่สุดคือ ตอนฝนตกต้องวิ่งแยกกันไปนอนที่ตู้โทรศัพท์ เวลาป่วยไข้ก็ไม่มีใครเหลียวแล อาศัยปากต่อปากบอกว่าที่ไหนมีการแจกยา ให้ข้าวกินฟรีบ้างซึ่งการที่เขาไม่มีที่อยู่ก็มีความเป็นมาเป็นไป จึงอยากให้น้องๆ รุ่นใหม่มาค้นหา”นางสาวศิริพร กล่าว
นี่เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม การนำเยาวชนคนรุ่นใหม่ ลงพื้นที่ศึกษาลึกถึงปัญหา จึงเป็นความหวังว่า จะเกิดการกระตุ้นให้พวกเขากลายเป็นพลังที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง