‘ศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้’ พื้นที่เกษตร เพื่อชีวิตที่ยั่งยืน

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


ภาพประกอบจากเพจศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้


'ศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้' พื้นที่เกษตร เพื่อชีวิตที่ยั่งยืน thaihealth


หลายครั้งที่เราเห็นข่าวสารของเกษตรกรผู้พ่ายแพ้ต่อชะตากรรม แบกรับหนี้สินมหาศาลและศิโรราบต่อความอัตคัด ส่งผลให้หลายคนท้อแท้และยุติการพัฒนาตนเองไปทันทีทันใด


แต่สำหรับเกษตรกรสมาชิกกลุ่ม ศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ ต.เมืองจัง อ.ภูเพียง จ.น่าน นั้น เกษตรกรสามารถพิสูจน์คุณค่าของตนเองด้วยการพัฒนาทักษะการเกษตรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ที่สอดคล้องกับนโยบายกรอบความร่วมมือสำคัญระดับโลกของรัฐบาลไทยในฐานะประเทศสมาชิกสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้ทำข้อตกลงไว้กับนานาประเทศ


'ศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้' พื้นที่เกษตร เพื่อชีวิตที่ยั่งยืน thaihealth


"สังคมไทยหากเคารพชาวนา ชาวไร่ ก็ต้องให้เราได้มีโอกาสบริหารทรัพยากรที่เกี่ยวข้องและให้โอกาสเราได้คิด ได้ทำได้ถ่ายทอด ได้วิจัยค้นคว้าด้วยตัวเองบ้าง ได้มีบทบาทในทุกอย่างด้วย คือไม่ใช่แค่ผลิตสินค้าเกษตรแล้วจบ แต่ต้องพัฒนาไปพร้อมกันโดยใช้ทั้งภูมิปัญญาชาวบ้านและความรู้สมัยใหม่ที่เป็นสากลด้วย และหากจะพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ในประเทศ ก็ต้องไม่อาศัยแค่ความรู้จากห้องแล็บอย่างเดียว แต่ต้องผสมผสานกันระหว่างความรู้จากนักวิชาการกับชาวบ้าน นั่นแหละจึงจะยั่งยืนสำรวย  ผัดผล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองจัง (อบต.เมืองจัง) และตัวแทนผู้ร่วมก่อตั้งและพัฒนาศูนย์โจ้โก้ สะท้อนความเห็นของการพัฒนาประเทศโดยให้เกษตรกรมีส่วนร่วม


คำว่า "โจ้โก้" เป็นภาษาท้องถิ่นทางภาคเหนือของประเทศไทย แปลว่าหมู่บ้านบนดอยหมู่บ้านบนเขา โดยศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ ก่อตั้งมานานกว่า 20 ปี โดยเริ่มขึ้นจากการเป็นพื้นที่ศึกษาของกลุ่มเยาวชนที่สนใจเรื่องราวของท้องถิ่นและทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อชุมชน จนกระทั่งทุกวันนี้ศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้เป็นต้นแบบการศึกษาด้านการเกษตรที่ยั่งยืน


'ศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้' พื้นที่เกษตร เพื่อชีวิตที่ยั่งยืน thaihealth


ก่อนหน้านี้ เกษตรกรเมืองจังต้องเผชิญวิกฤติทางการเกษตรเนื่องจากระบบเกษตรกรรมแบบพันธนาการ และมีระบบเกษตรเชิงเดี่ยวหรือเน้นการปลูกพืชชนิดเดียวในพื้นที่และปริมาณมากกระแสการผลิตดังกล่าวภายใต้วลีที่ว่า "ผลผลิตสูงและราคาดี"  แต่แล้วเกษตรดังกล่าวก็ไม่ยั่งยืนกรณีข้าว อยากได้ผลดีก็เร่งยา สุดท้ายค่าเคมีไม่พอ ก็ไปกู้หนี้ยืมสิน  ดังนั้นทางศูนย์จึงต้องทำหน้าที่เป็นโรงเรียนชาวนาให้เกษตรกรได้เข้ามาเรียนรู้


จากวิกฤติดังกล่าวเกษตรกรบางส่วนได้รวมกลุ่มกัน รวมทั้งนักพัฒนาเอกชนนักวิชาการท้องถิ่นที่ตระหนักกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวบุคคลเหล่านี้ได้ก่อรูปเป็นหน่วยปฏิบัติการโดยจากเวทีหารือได้ยกประเด็นเรื่อง"เมล็ดพันธุ์"ขึ้นมาเป็นประเด็นขับเคลื่อนหลักโดยมีชมรมอนุรักษ์พรรณพืชพื้นบ้าน จังหวัดน่าน เป็นหน่วยประสานงานโดยปัจจุบันเครือข่ายมุ่งเสริมศักยภาพเกษตรกรและเสริมองค์ความรู้ด้านเทคนิคเกษตรเพื่อให้เกษตรกรสามารถประยุกต์ใช้ในแปลงของเกษตรกรได้


'ศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้' พื้นที่เกษตร เพื่อชีวิตที่ยั่งยืน thaihealth


ปัจจุบันศูนย์โจ้โก้ ได้ทุนสนับสนุนหลายส่วน อาทิ ค่าบริการศึกษางานจากบุคคลและหน่วยงานภายนอก และเงินบริจาคทั่วไปทั้งแบบบุคคลและหน่วยงาน และปัจจุบันได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน ทำหน้าที่เชื่อมโยงเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เพื่อขยายแนวคิดกระบวนการโรงเรียนชาวนา และเป็นต้นแบบ  มีจำนวนกลุ่มที่พัฒนาและอนุรักษ์พันธุ์ข้าวใน จ.น่านมากถึง 12 กลุ่ม มีตัวแทนจัดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์เองมากถึง 3,000 ครัวเรือน และมีพันธุ์ข้าวที่ได้รับการปรับปรุงเพื่อใช้ปลูกมากถึง 15 ชนิด


และนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องจริงที่สำนักสนับสนุน สุขภาวะชุมชน สสส. ชวนมาเล่าแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในงานเวทีสานพลังชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 1 ประจำปี 2560 ตามรอยพ่อสานต่อปฏิบัติการชุมชนท้องถิ่น น่าอยู่ ระหว่างวันที่ 1-3 มีนาคม 2560 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ