ศิลปะ พา ข้าม
ที่มา : ศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง
ถ้าคุณบังเอิญเดินผ่านบริเวณสยามสแควร์ซอย 1 2 3 แล้วสะดุดตาเข้ากับลวดลายการ์ตูนสีสันสดใส ซึ่งถูกเพ้นต์ไว้บนถนนอย่างสนุกสนาน และคิดว่านี่เป็นชิ้นงานสุดอาร์ตของศิลปินสักคนหนึ่ง คุณคิดผิด! เพราะที่จริงแล้วนี่คือ ‘ทางม้าลาย‘
ใครบอกว่า ‘ทางม้าลาย‘ ต้องเป็นสีขาวดำ? ชวนคุณข้ามถนนบนทางม้าลายแห่งความคิดสร้างสรรค์ เมื่องานศิลปะสาธารณะ ทำให้การเดินเท้าของคุณปลอดภัยขึ้น
‘Art and Crossing ศิลปะ พา ข้าม’
‘Art and Crossing ศิลปะ พา ข้าม’ คือหนึ่งในผลงานของโครงการ “ศึกษาแนวทาง การออกแบบพื้นที่สาธารณะ ที่มีความยืดหยุ่นต่อกิจกรรมที่หลากหลายภายในบริบทเมือง”
ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUURP) สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง (Healthy Space Forum) เป็นผู้ดำเนินการ ออกแบบและจัดทำ พื้นที่สาธารณะต้นแบบ ทางข้ามถนนในย่านพาณิชยกรรมเมือง
ด้วยการใช้แนวคิด “ศิลปสาธารณะ” หรือการใช้ศิลปะเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อพื้นที่สาธารณะ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการเดินเท้าอย่างปลอดภัย ส่งเสริมการใช้ทางข้าม ตลอดจนสร้างความตระหนักรู้สาธารณะ (Public Awareness) เกี่ยวกับการให้ความสำคัญกับผู้ใช้ทางเท้าและการใช้พื้นที่สาธารณะของคนเมือง โดยมีพื้นที่ทางข้ามต่อเนื่อง 3 จุด ระหว่างสยามสแควร์ซอย 1 สยามสแควร์ซอย 2 และสยามสแควร์ซอย 3 เป็นพื้นที่นำร่องสำคัญ
สยามสแควร์คือย่านพาณิชยกรรมใจกลางเมืองของกรุงเทพมหานคร ที่เต็มไปด้วยผู้คนและรถที่สัญจรผ่านไปมา ตามหลักการออกแบบเมืองแล้ว พื้นที่บริเวณนี้ควรออกแบบเพื่อให้คนเดินเท้ามีความสะดวกสบายมากกว่าผู้ขับขี่ยานพาหนะอื่น ๆ แต่สิ่งที่เราพบเห็นอยู่ในปัจจุบันคือผู้คนจำนวนหนึ่งยังต้องยืนรอจังหวะที่ถนนไม่มีรถก่อนจึงจะข้ามถนนได้
ซึ่งปรากฎการณ์นี้อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย หลายครั้งเราอาจจะโทษมารยาทในการขับขี่ แต่จริง ๆ แล้วอาจเกิดจากการออกแบบพื้นที่เมืองที่ให้ความสำคัญกับคนเดินเท้าไม่มากพอ การออกแบบสภาพแวดล้อมที่ไม่ให้ความรู้สึกถึงความเป็นสถานที่ส่งผลให้ผู้ขับขี่ไม่ระมัดระวังผู้คนเดินเท้า
‘Art and Crossing ศิลปะ พา ข้าม’ จึงจะช่วยให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะรับรู้ถึงทางข้ามได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ชะลอการสัญจรให้ช้าลง (Traffic Calming) ในพื้นที่ๆ มีคนเดินข้ามถนน เพื่อความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคนเดินเท้า นอกจากนี้ยังดึงดูดใจและทำให้คนเดินทางถนนรู้สึกมึคุณค่าที่จะใช้งานอีกด้วย
Meet the artist.
ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงาน ‘Art and Crossing ศิลปะ พา ข้าม’ คือคุณเชิดศักดิ์ เม้ยขันหมาก หรือชื่อที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในแวดวงศิลปะว่า ‘2choey‘
นอกจากความเชี่ยวชาญในงานศิลปะสาธารณะแล้ว ‘2choey’ ยังเป็นศิษย์เก่า ภาควิชาการวางแผนภาคและเมืองคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้สามารถสร้างสรรค์ทางข้ามถนนที่สวยงามโดดเด่นแล้ว และยังถูกต้องตามหลักการออกแบบ แถมยังปลอดภัยเป็นมิตรกับผู้ข้ามอีกด้วย
โดยคอนเซ็ปต์หลักในการออกแบบลวดลาย ‘Art and Crossing ศิลปะ พา ข้าม’ ของ ‘2choey’ คือ ‘สนามเด็กเล่นของคนเมือง‘ เนื่องจากต้องการสะท้อนภาพสยามสแควร์ว่า เป็นสถานที่แห่งการสร้างความสุขสนุกสนานเพลิดเพลินให้กับคนเมืองมาในทุกยุคทุกสมัย นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งรวมผลงาน เปรียบได้กับที่ปล่อยของ ของกลุ่มวัยรุ่น นักแสดงศิลปิน นักออกแบบสร้างสรรค์ ที่ได้มาโชว์ความสามารถด้านศิลปะในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ด้านแฟชั่น ดนตรี และด้านการแสดง ณ สถานที่แห่งนี้
‘2choey’ เลือกใช้สีสันและรูปร่างตัวการ์ตูนตามจินตนาการ ในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ เพื่อความเด่นชัด เป็นที่สะดุดตา และสื่อถึงความเป็นมิตร เช่นเดียวกับรูปแบบการใช้งานของ ‘Art and Crossing ศิลปะ พา ข้าม’ ที่ผู้คน จักรยาน รถยนต์ และมอร์เตอร์ไซต์ สามารถแบ่งปันพื้นผิวถนนร่วมกันได้อย่างเป็นมิตร
What happened around world?
ทางม้าลายบริเวณ Universal Studio, Japan
ทางม้าลายที่มีการออกแบบตัวการ์ตูน 3 มิติ เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้คนที่ผ่านไปมา โดยใช้เทคนิคพิมพ์แผ่นสติกเกอร์ขนาดใหญ่ ติดลงไปบนถนน เช่น กลุ่ม Peanuts บนทางม้าลาย โดยทำท่าเดินข้ามถนนเลียนแบบปกอัลบั้ม Abbey Road ของ The Beatles
ทางม้าลาย ย่าน Didube เมือง Tbilisi, Georgia
ทางม้าลายสามมิติ เพื่อส่งเสริมความปลอดภัย โดยการสร้างความโดดเด่นและทำให้มองเห็นทางม้าลายได้ชัดเจนขึ้นกว่าทางม้าลายทั่วไป
Public art as a part of safety city.
เมื่อศิลปะสาธารณะกลายเป็นส่วนหนึ่งของเมืองที่ปลอดภัย ดังนั้นหากถามว่างานศิลปะจะช่วยให้เมืองปลอดภัยขึ้นได้อย่างไร? คำตอบคือศิลปะจะทำให้บริเวณทางข้ามถนนมองเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น เป็นเหมือนสัญลักษณ์เตือนแก่ผู้ขับขี่ ช่วยสานต่อให้ทางม้าลายและทางเท้ากลายเป็นพื้นที่เดียวกัน และแฝงนัยยะว่าพื้นที่ดังกล่าวให้ความสำคัญกับคนเดินเท้ามาเป็นลำดับแรก
นอกจากนี้ ศิลปะจะช่วยส่งเสริมความเป็นสถานที่บริเวณนั้น และเพิ่มความระมัดระวังให้ผู้ขับขี่มากไปกว่านั้น ศิลปะ จะยิ่งดึงดูดผู้คนให้มีการเดินเท้าเข้ามายังพื้นที่มากขึ้นและเพิ่มความคึกคักให้กับย่านอีกด้วย ดังนั้นเมื่อเมืองปลอดภัย ก็จะส่งผลให้ผู้คนในเมืองมีการเดินมากขึ้น นำไปสู่การเป็นเมืองสุขภาวะและเมืองน่าอยู่ต่อไป
Art and Crossing ศิลปะ พา ข้าม
พบกัน ณ ทางข้าม ถนนสยามสแควร์
ระหว่างซอย 1-2-3 ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป