‘ศิริวร แก้วกาญจน์’ ผู้นำสารแห่งโลกประหลาดฯ

 

'ศิริวร แก้วกาญจน์' ผู้นำสารแห่งโลกประหลาดฯ

 

นี่คือนวนิยายที่ตั้งคำถามกับสังคม แต่ในขณะเดียวกันก็ตอบโจทย์สำคัญหลายประการ โลกประหลาดฯ’ ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ จึงเป็นมากกว่านวนิยายที่มีจุดเริ่มต้นเพื่อยกระดับจิตใจคน

สภาวการณ์ทางสังคมหลายอย่างสะท้อนว่านี่กำลังสู่ยุคเสื่อมถอย ไม่ใช่แค่สังคมเสื่อม แต่จุดเล็กๆ อย่างจิตใจของคนก็ตกต่ำไม่แพ้กัน ในฐานะองค์กรที่ต้องแสดงบทบาทเป็นผู้รับผิดชอบต่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงดำริโครงการสร้างสรรค์สื่อที่ช่วยยกระดับจิตใจไปจนถึงสังคม นี่คือจุดเริ่มต้นของ ‘โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า’ หนึ่งในนวนิยายภายใต้โครงการฯ

อุบัติการของ ‘โลกประหลาดฯ’

จากถ้อยคำปรารภของ หมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ที่มีต่อ อธิคม คุณาวุฒิ ว่าอยากผลิตสื่อที่ช่วยยกระดับสังคมนี้ ให้ผู้คนได้ครุ่นคิดถึงจิตใจตน ซึ่งนวนิยายก็เป็นสื่อหนึ่งที่หมอประเสริฐต้องการ

อธิคมจึงแบกแนวคิดนั้นไปปรึกษา ดอนเวียง-วชิระ บัวสนธ์ เพื่อเฟ้นหานักเขียนที่จะมาร่วมกันสร้างสรรค์นวนิยายเพื่อสังคมชุดนี้ และหนึ่งในนั้น คือ ศิริวร แก้วกาญจน์

ศิริวรมีเวลาหกเดือนเพื่อเขียนนวนิยายหนึ่งเรื่อง หากเป็นนักเขียนบางคน ระยะเวลาเพียงเท่านี้ ไหนจะลงพื้นที่ ไหนจะคิดประเด็น ไหนจะวางโครงเรื่อง อาจเหลือเวลาเขียนจริงเพียงน้อยนิด ทว่า ศิริวร ผู้ที่ได้ชื่อว่านักเขียนรอบจัด ระยะเวลาจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญ

ในที่สุดนวนิยายเรื่องโลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้าของเขาก็เสร็จ และตกเป็นลิขสิทธิ์ของโครงการหนึ่งปี (2553) หลังจากพ้นหนึ่งปี ศิริวรก็กลับมาครุ่นคิดกับงานของตน ทำให้เขาพบว่ายังมีทางทำให้มันสมบูรณ์ขึ้นอีก…

ศิริวรเล่าย้อนไปถึงตอนที่ได้รับโจทย์นี้มาว่าตอนนั้นในหัวยังเป็นสุญญากาศ แต่เมื่อได้เงื่อนไขเพิ่มที่ว่าตัวละครต้องมีอยู่จริงและไม่จำเป็นต้องเป็นคนไทย เขาก็คิดได้ทันทีว่าตัวละครนั้นคือใคร

“น่าจะเริ่มมาจากเมื่อ 20 กว่าปีก่อนซึ่งตอนนั้นผมพักอยู่แถวรามคำแหง มีนักศึกษาพม่ากลุ่มหนึ่งหนีมาจากเหตุการณ์ 8888 มาอยู่แถวรามคำแหง แล้วพี่ชายของผมคนหนึ่งเขาเช่าบ้านให้นักศึกษากลุ่มนั้นอยู่ เป็นกลุ่ม abfds ผมเองก็คลุกคลีสนิทสนมกับพวกเขาเหล่านั้น ต่อมาวันหนึ่งราวๆ ปี 2535 หรือ 2536 เพื่อนๆ นักศึกษาพม่ากลุ่มนี้เองที่ชวนผมกับเพื่อนนักศึกษารามคำแหงเดินทางไปที่ค่ายกองกำลังรบของพวกเขาในป่าของรัฐทวาย พวกเราออกจากกรุงเทพฯไปเมืองกาญจน์ แล้วก็นั่งรถขึ้นไปทองผาภูมิ เหมืองปิล๊อก ตอนนั้นการเดินทางลำบากมาก หมายถึงว่ามีรถสองแถวขึ้นไปเหมืองปิล๊อกวันหนึ่งแค่เที่ยวเดียว เส้นทางคดเคี้ยวและแคบๆ ไต่ขึ้นไปบนภูเขา ไประยะทางราวๆ 70 กิโลเมตร แต่ใช้เวลาถึงค่อนวัน ถึงปิล๊อกเพื่อนนักศึกษาพม่าก็ติดต่อกับเพื่อนเขาอีกกลุ่มที่อยู่ตั้งกองกำลังรบเพื่อสู้รบกับกองทัพพม่าในป่าของรัฐทวาย เป็นเพิงพักเล็กๆ พวกเราเดินขึ้นเขาลงห้วยข้ามไปจนถึงทวาย เรื่องราวและชะตากรรมของพวกเขาเหล่านั้นมันก็ผนึกแน่นอยู่ในความทรงจำ”

มนุษยธรรมบนโลกประหลาด

แน่นอนว่าเมื่อเอ่ยถึงพม่าในการรับรู้ของคนทั่วไปหรือจะเรียกว่าทั่วโลกก็ได้ เรื่องการจำกัดสิทธิมนุษยชน ถือเป็นภาพแรกๆ ที่ผุดขึ้นพร้อมคำว่าพม่า แน่นอนอีกว่า เมื่อนวนิยายของศิริวรเล่าเรื่องพม่า ประเด็นสิทธิมนุษยชนย่อมถูกชูเป็นหลักใหญ่

สำหรับศิริวรนั้นเรื่องคุณค่าแห่งมนุษย์มิได้กำหนดด้วยพรมแดนหรือภูมิศาสตร์แต่อย่างใด เพียงแต่ว่าโลกใบเล็กๆ ที่เขาได้ไปสัมผัสขณะลงพื้นที่ แตกต่างจากโลกอุดมคติหรือโลกของอภิปรัชญาก็เท่านั้น

“สิ่งที่ผมไปรู้ไปเห็นมาตามแนวตะเข็บชายแดน ความเป็นมนุษย์ของกลุ่มผู้พลัดถิ่นกลุ่มนั้นถูกแบ่งแยกด้วยพรมแดนต่างๆ เยอะมาก ไม่ว่าพรมแดนในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ พรมแดนทางวัฒนธรรม พรมแดนทางภาษา พรมแดนความเชื่อ พรมแดนของอคติ อะไรต่างๆ เหล่านี้ การปรับใช้ ถ้าจะเรียกอย่างนั้นก็น่าจะในแง่ของการที่ผมพยายามสาธิตความหมายของความเป็นคนนอก กับ คนใน โดยใช้กลวิธีการเล่าเรื่องแบบคู่ขนาน โดยใช้ตัวละครสองชุดใช้ภาษาสองแบบในช่วงแรกๆ เล่าถึงโลกสองใบที่ทั้งตอบโต้ ต่อต้าน จนนำไปสู่การเลื่อนไหลและซ้อนทับกันในที่สุด คือก่อนที่เราจะนิยามความเป็นคนนอกคนในได้เนี่ย เบื้องต้นเราต้องนิยามพื้นที่นั้นให้เข้าใจตรงกันก่อนว่า ในพื้นที่หรือในภูมิประเทศที่ท่วมท้นไปด้วยสภาวะของความพลัดถิ่นแบบนั้น ทุกคนพร้อมที่จะถูกมองว่าเป็นคนนอก ขณะเดียวกันทุกคนก็อยากที่จะนิยามตนเองว่าเป็นคนใน หมายความว่า ถ้าเราพูดในบริบทของความเป็นรัฐชาติ พวกเขาเหล่านั้นคือคนนอก แต่ถ้าพูดผ่านบริบทของเมืองเล็กๆ ริมชายแดนซึ่งเต็มไปด้วยคนพลัดถิ่นหรือวัฒนธรรมพม่า พวกเขาก็ถือเป็นคนใน และตัวละครที่ใช้สรรพนามว่าผมที่เดินทางเข้าไปในพื้นที่หรือนั้นก็จะถูกมองในลักษณะไม่ต่างกัน ในเมื่อทุกอย่างมันซ้อนทับและเลื่อนไหลไปมา นิยามความเป็นมนุษย์ก็ไม่ง่ายที่จะนิยามมันแบบตายตัว

ที่ผมพูดตั้งแต่ตอนแรกว่า ทำไมผมจึงต้องใช้กลวิธีการเล่าเรื่องสองแบบ โดยตัวละครสองชุด ชุดหนึ่งคือกลุ่มคนพลัดถิ่นที่พยายามรื้อฟื้นความทรงจำของตนเองเพื่อกอบกู้ตัวตนที่ถูกทำให้กระจัดกระจายโดยสภาวะของคนพลัดถิ่น และนักเขียนหนุ่มคนที่ถูกเลือกก็เพราะว่า ความเป็นนักเขียนนั้นก็คือเครื่องมือนำความทรงจำหรือตัวตนของพวกเขาไปบอกเล่าต่อให้กับโลกภายนอกได้รับรู้ แต่ขณะเดียวกัน นักเขียนหนุ่มเองก็ถูกเหวี่ยงมาในพื้นที่ดังกล่าวโดยสภาวะของคนนอก เขาตัดขาดตัวตนของตัวเองออกจากตัวตนของคนอื่นโดยสิ้นเชิง เพราะฉะนั้นแน่นอนว่า ย่อมเกิดการตอบโต้ เกิดการปะทะประสานกันของโลกสองใบที่ซ้อนทับและเลื่อนไหลไปมาในสมรภูมิสองแบบ ทั้งภายนอกและภายใน”

กลวิธีของศิริวรทั้งเล่าเรื่องที่แตกต่างกันและตัดสลับฉากไปมานั้นสร้างมิติในนวนิยายเรื่องนี้มาก เขาเลือกให้ตัวละครอายุประมาณสามสิบปีซึ่งถือเป็นรอยต่อของชีวิต แต่นั่นไม่ใช่แค่รอยต่อของชีวิตเพราะต้องไปอยู่ที่รอยต่อพรมแดนประเทศ…เป็นรอยต่ออันทับซ้อน

“ฉะนั้น โลกทั้งโลกนี้ไม่มีความหมายกับเขาเลย เขาหมกมุ่นอยู่กับความเศร้าส่วนตัว กับชะตากรรมในเชิงปัจเจก เขาตัดขาดตนเองออกจากผู้อื่น ไม่มีพื้นที่สำหรับความเป็นอื่น และเต็มไปด้วยอคติ ตัวละครตัวนี้ ผมไม่รู้ว่าเขาอาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตามนะครับ แต่ตัวละครตัวนี้ถูกครอบงำด้วยอคติ อาจเป็นอคติจากเรื่องเล่า หรืออคติทางประวัติที่ถูกนำเสนอผ่านแบบเรียนแบบชาตินิยม ไม่เฉพาะไทยนะครับที่แบบเรียนถูกเขียนขึ้นแบบนี้ แต่ประเทศเพื่อนบ้านเราก็เขียนแบบเรียนผ่านมุมมองแบบเดียวกัน เพียงแต่ผมเลือกที่จะพูดถึงปัญหาที่กำลังเกิดอยู่ในชายแดนไทย-พม่า และตัวละครผมตัวนี้ นอกจากมีปัญหาส่วนตัวแล้ว ในแง่หนึ่งก็ไม่ต่างจากการมองเพื่อนบ้านผ่านความเป็นรัฐชาติไทยหรือในบริบทของความเป็นไทยอีกด้วย ในกรณีนี้พม่าสำคัญและน่าพูดถึงที่สุดสำหรับผมตอนนั้น”

ความสมบูรณ์อันขาดพร่อง…ของเรื่องและโลก

อย่างที่บอกไปว่าโลกประหลาดฯที่อยู่ในโครงการของสสส.นั้นเป็นลิขสิทธิ์โครงการเพียงหนึ่งปี แล้วหลังจากนั้นศิริวรก็นำมาปัดฝุ่นใหม่ เขาขัดเกลาอีกครั้ง คล้ายการพินิจถึงบางสิ่งย่อมพบอีกบางสิ่งที่เคยหลงหายไปจากความทรงจำ โลกประหลาดฯแบบฉบับที่ได้เข้าไปรอบ short list รางวัลซีไรต์ปีนี้ จึงมีจุดแตกต่างจากฉบับสสส.อยู่พอสมควร

“มันหนากว่า ก็เห็นอยู่แล้วว่ามันหนากว่า (หัวเราะ)” ศิริวรกล่าวด้วยอารมณ์ขัน

“จริงๆ เรื่องนี้ผมยอมรับว่าได้รับแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งจากเรื่องสั้นของตัวเองเรื่อง ‘วัวพม่า’ ผมกลับมาคิดต่อ มันมีประโยคหนึ่งซึ่งผมคิดต่อมาจากตลกพม่า คือในพม่ามันจะมีตลกอยู่คณะหนึ่งชื่อว่า ‘ตลกปาปาเลย์’ เขาจะเล่นตลกการเมืองแล้วเขาก็ถูกจับเข้าคุกบ่อย พอทหารพม่าจับเข้าคุก หลุดคดีออกมาเขาก็กลับมาเล่นต่อ ซึ่งตลกปาปาเลย์เนี่ยเขาจะมีกันสามคนพี่น้อง เล่นตลกการเมือง ถึงแม้จะถูกจับขังคุกกี่ครั้ง หลุดออกมาก็จะเล่นอีก ซึ่งนั่นก็คือการยืนยันอุดมคติ การยืนยันจุดยืนความคิดของเขา

นั่นทำให้ผมนึกถึงเรื่องตลก คือมันมีผู้ชายอยู่สองคน ที่แข่งกันว่าแต่ละคนมีอะไรที่ใหญ่กว่าคนอื่น ชายคนแรกพูดขึ้นว่า “วัวของฉันตัวใหญ่มาก” ชายคนที่สองก็เกทับลงไปว่า “ฉันคิดว่าวัวของฉันตัวใหญ่กว่า เพราะมันสามารถยืนคร่อมภูเขาแล้วก้มลงมากินหญ้าที่อีกหมู่บ้านหนึ่งได้สบายๆ” ชายคนแรกได้ฟังก็หัวเราะแล้วบอกว่า “ถ้าอยากนั้นฉันก็คงผูกวัวของเธอไว้ในบ้านของฉันได้ เพราะว่าบ้านของฉันเนี่ยใหญ่มหึมา ขนาดที่ว่าถ้าเด็กคนหนึ่งตกลงมาจากหลังคา กว่าจะถึงพื้นก็กลายเป็นคนแก่ไปแล้ว” ชายคนที่สองได้ฟังก็ไม่ยอมแพ้และโต้กลับไปว่า “ถ้าอยากนั้น ลุงของฉันคงจะเข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านของเธอได้แน่ๆ เพราะลุงของฉันตัวใหญ่ขนาดที่คนในย่างกุ้งและมัณฑะเลย์สามารถมองเห็นได้พร้อมๆ กัน” ได้ยินดังนั้นชายคนแรกก็ยังไม่ยอมแพ้ พูดขึ้นมาอีกว่า “ถ้าอย่างนั้นลุงของเธอคงจะเหมาะกับป้าของฉันแน่ๆ เพราะว่าเพียงแค่ป้ายกเข่าขึ้นมา เข่าของป้าของฉันก็สามารถกระแทกท้องฟ้าดัง ทึง…ทึง…เหมือนจะทำให้ท้องฟ้าถล่มลงมาได้ นอกจากนั้นป้าของฉันยังมีงอบครอบหัวอยู่ใบหนึ่งที่เมื่อสวมแล้วสามารถคุ้มแดดคุ้มฝนให้ประชาชนในประเทศพม่าได้เลยทีเดียว” ซึ่งประโยคนี้ทำให้ผมรู้สึกว่านี่คือตัวแทนของ ออง ซาน ซูจี นี่คือสิ่งที่ตลกปาปาเลย์พูดไว้แล้วผมเอามาคิดต่อ เหมือนว่าเขาเล่นมุกกันเพื่อเอาชนะคะคานกัน แต่มันมีนัยยะทางการเมืองซ่อนเร้นอยู่”

จะเห็นว่าโลกประหลาดฯมีทั้งประเด็นการเมือง ประเด็นสังคม เรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องการต่อสู้ของชนกลุ่มน้อย ทุกประเด็นล้วนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งในนวนิยายเรื่องนี้ประกอบด้วยข้อมูลและเรื่องเล่า นักเขียนจึงต้องสมดุลทั้งสองสิ่งให้ได้ เพื่อคงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือและไม่บิดเบือนจากความจริง…เพราะละเอียดอ่อน หากผิดพลาดอาจส่งผลเสียได้

ศิริวรเล่าว่าเขาแทบไม่จัดการกับเรื่องเล่าเลย เพราะว่าโดยชีวิตประจำวันทุกวันนี้ก็ถูกท่วมทับไปด้วยเรื่องเล่า

“ที่ผมเลือกให้นักเขียนสารคดีเป็นผู้เล่าในอีก part หนึ่ง ในส่วนของตัวละครอีก part หนึ่งซึ่งผมวางไว้ให้เป็นนวนิยายเนี่ยเขาเลือกที่จะเล่าความทรงจำของตัวเอง เพราะฉะนั้นผมต้องหาตัวละครที่เป็นนักเขียน นักเขียนสารคดีหรือนักเขียนอะไรก็แล้วแต่ เพราะนักเขียนเนี่ยจะเป็นเครื่องมือในการนำสาร อย่างที่ตอนแรกเขาเล่าเรื่องของเขาเองเพราะว่าเขาต้องการที่จะสร้างตัวตนของเขาขึ้นมาใหม่ หลังจากที่มันถูกกระทำให้แตกกระจายด้วยอะไรก็แล้วแต่ จนมาถึงเมื่อเขาก้าวข้ามพรมแดนมาอีกประเทศหนึ่ง อีกภาษาหนึ่ง อีกวัฒนธรรมหนึ่ง เพราะฉะนั้นผมคิดว่ามีแต่นักเขียนเท่านั้นที่จะสามารถบอกเล่าความทรงจำของคนกลุ่มนี้ได้ เพื่อที่จะให้ความจำของเขาเนี่ยมีชีวิต และถูกมองเห็น ถูกรับรู้ ในปริมณฑลที่มันกว้างออกไป

ผมจึงสมดุลด้วยรูปธรรมในแง่รูปแบบการเขียนที่เห็นชัดเจนเลย นี่คือการสมดุลอย่างหนึ่ง ซึ่งเราจะไม่พูดว่าในเชิงนามธรรมผมจะจัดการกับเรื่องเล่าชุดนี้ได้หรือเปล่า หนึ่ง ผมเลือกให้ตัวละครสื่อสารผ่านการบันทึกประจำวันและหมกมุ่นครุ่นคิดอยู่กับความเป็นตัวของตัวเองซึ่งไม่มีโลกอื่น คนอื่นไม่มีความสลักสำคัญอะไรเลย แต่ในขณะเดียวกันเขาก็เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ที่ในความเป็นอื่นวนรอบตัวเขาอยู่ จนกระทั่งวันหนึ่งเขารู้สึกอะไรบางอย่างและเกิดคำถาม”

โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า คือ นวนิยายอีกเรื่องหนึ่งที่เล่าความเป็นไปของซอกมุมหนึ่งบนโลกนี้ แม้องคาพยพใหญ่จะถูกเคลือบด้วยสีสรรพ์แห่งโลกาภิวัฒน์ ทว่า ซอกมุมที่ศิริวรพูดถึง-เขียนถึงนั้นช่างน่าเศร้าและน่าสนใจไปพร้อมกัน แต่ก็เกินกว่าจะมีเสียงเล็ดลอดสู่ภายนอกได้ นอกจากตัวหนังสือที่เขาเขียนถึง

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

Shares:
QR Code :
QR Code