ศวปถ.เผยสงกรานต์54 จยย.แชมป์อุบัติเหตุ
ศวปถ.เผยผลการสำรวจเหยื่ออุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 54 พบกว่า 60 % เป็นสิงห์มอเตอร์ไซค์ 92 % ไม่สวมหมวกกันน็อก ตามติดด้วยรถปิกอัพ 13.6% จี้รัฐต้องเร่งป้องกันต่อเนื่อง…
เมื่อวันที่ 23 เม.ย.2554 นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากการดำเนินงานด้านการป้องกันอุบัติเหตุจากเทศกาลสงกรานต์ปี 2554 ที่ผ่านมา ของหน่วยงานต่างๆ อาทิ การออกมาตรการที่ให้มีการดำเนินงานเน้นการบังคับใช้กฎหมายใน 3 พฤติกรรมเสี่ยงหลัก ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ขับเร็ว และการสวมหมวกนิรภัย ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติการดำเนินการกวดขันการขายสุราที่ไม่ได้รับอนุญาต รวมไปถึงการกำหนดพื้นที่ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ของหน่วยงานระดับจังหวัด และอปท. จำนวน 60 พื้นที่ ใน 44 จังหวัด และถนนข้าวต่างๆ อาทิถนนข้าวสาร ถนนข้าวเหนียว จำนวน 16 แห่ง ส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตในช่วงสงกรานต์ลดลงเป็น 271 รายจากปีที่แล้ว 361 ราย (หรือ 25%)
ขณะที่จำนวนการเกิดอุบัติเหตุและจำนวนผู้บาดเจ็บรุนแรงที่เข้ารับการรักษา พยาบาล ลดลงเช่นกัน โดยจำนวนอุบัติเหตุรวม 3,215 ครั้ง จากปีที่แล้ว 3,516 ครั้งและผู้บาดเจ็บรุนแรง ลดลงเป็น 3,476 รายจากปีที่แล้ว 3,802 ราย
ผจก.ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นวัยแรงงาน 54% อายุระหว่าง 20-49 ปี ขณะที่ กลุ่มอายุน้อยกว่า 20 ปี พบสูงถึง 28% ทั้งนี้ สาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุยังคงเป็น เมาสุรา 38.7% รองลงมาคือ ขับรถเร็วเกินกำหนด 20.5% ขับขี่มอเตอร์ไซค์ไม่ปลอดภัย 15.6%
โดยผู้ขับขี่และซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์เป็นกลุ่มหลักที่เสียชีวิต อยู่ที่ 62.3% รองลงมาคือ รถกระบะ 13.6% ทั้งนี้ผู้เสียชีวิตที่ขับขี่ หรือซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ยังคงไม่สวมหมวกนิรภัย 92.2% เช่นเดียวกับสงกรานต์ที่ผ่านมา ที่พบผู้เสียชีวิตที่ไม่สวมหมวกนิรภัย 91% ในกลุ่มผู้เสียชีวิตทั้งผู้ขับขี่และซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์เกือบทั้งหมด 92% ไม่สวมหมวกกันน็อก
จากผลสรุปดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ที่ปกติจะไม่สวมหมวกกันน็อกอยู่แล้ว จะยิ่งใช้โอกาส ของเทศกาลสงกรานต์ไม่สวมหมวกกันน็อกมากขึ้น ทำให้โอกาสการเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น
นพ.ธนะพงศ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการบังคับใช้กฎหมาย สามารถเรียกตรวจยานพาหนะได้ถึง 4,910,038 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว497,159 คัน และมีผู้ที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรการลดพฤติกรรมเสี่ยงรวม 646,837 ราย เทียบกับสงกรานต์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 145,244 ราย (เพิ่มขึ้น28.9%)
โดยพฤติกรรมเสี่ยงหลักที่ถูกเรียกตรวจ ได้แก่ เรื่องของการไม่สวมหมวกนิรภัย 202,956 ราย ขับรถเร็วเกินกำหนด 23,166ราย และ เมาแล้วขับ จำนวน 12,855ราย โดยแม้ในภาพรวมเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจะลดลง แต่หากดูเป็นรายพื้นที่จังหวัดแล้วจะพบว่า บางจังหวัดกลับมีจำนวนอุบัติเหตุผู้บาดเจ็บ หรือ เสียชีวิตเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้อง จะต้องหาแนวทางแก้ปัญหาต่อไป
ดังนั้น จะเห็นว่ามาตรการดำเนินการป้องกันอุบัติเหตุ ควรได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและครอบคลุม โดยเฉพาะการตรวจเมาแล้วขับในช่วงสงกรานต์ ที่เป็นพฤติกรรมเสี่ยงหลัก
ผจก.ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวด้วยว่า ถึงแม้จะตรวจได้ถึง 12,855 ราย แต่เมื่อคิดเฉลี่ยการดำเนินคดี ยังคงจับกุมได้เพียง จังหวัดละ 24.5 คนต่อวัน เท่านั้น ในขณะที่มีคนดื่มและเมาแล้วขับอยู่เต็มถนน
นอกจากนี้ ต้องเน้นการสนับสนุนให้มีการบังคับใช้กฎหมายไม่เฉพาะแค่ในช่วงวันสงกรานต์ รวมทั้งหาแนวทางการเพิ่มความครอบคลุมในการสวมหมวกกันน็อกให้ได้ 100% อีกทั้ง ควรมีการศึกษาและกำหนดมาตรการความปลอดภัยในการเดินทางและเล่นน้ำสงกรานต์โดยใช้รถปิกอัพ เป็นยานพาหนะ เช่น มาตรการห้ามดื่มบนท้ายรถ การบรรทุกผู้โดยสาร และสิ่งของเกินกำหนด
รวมทั้งการควบคุมความเร็ว และเพิ่มการรณรงค์เรื่องความอ่อนล้าในการเดินทาง และเรื่องง่วงแล้วขับในช่วงเทศกาลให้มากขึ้น โดยเฉพาะเดินทางไปและกลับภูมิลำเนา ช่วงเทศกาล
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ