ศธ. จับมือ สสส.รวมพลังสู้หวัด 2009
ป้องกัน นร.-นศ. กว่า 10 ล้านชีวิตพ้นภัยหวัด
เหยื่อหวัด 2009 เป็นเด็กวัยเรียนสูงถึง 60% ตาย 9 ติดเชื้อกว่า 2 พันราย ศธ.เข้มเดินหน้ามาตราการป้อง นร.-นศ. กว่า 10 ล้านชีวิต และคณาจารย์ บุลากรทางการศึกษาอีกกว่า 5 แสน ให้พ้นภัยหวัด
(3 ก.ย.) โรงเรียนสตรีวิทยา – กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับ คณะอนุกรรมการควบคุม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาของการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ 2009 สสส. ลงนามความร่วมมือ “กระทรวงศึกษาธิการ-คณะอนุฯ หวัด สสส. รวมพลังสู้หวัด 2009” เพื่อร่วมกันรวมพลังสู้หวัด 2009
นางสาวนริศรา ชวาลตันพิพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อหวัด 2009 ส่วนใหญ่ ประมาณ 60% อยู่ในกลุ่มอายุ 6 – 20 ปี ซึ่งเป็นวัยเรียน เนื่องจากธรรมชาติของโรคนี้จะระบาดในสถานที่ ๆ มีคนอยู่ร่วมกันจำนวนมากและอยู่ด้วยกันเป็นเวลานาน ดังนั้น นักเรียน นักศึกษาเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญ และ จากข้อมูลของ ศธ. พบว่า ตั้ง มิ.ย. 52 มีนักเรียนติดเชื้อหวัด 2009 แล้ว จำนวน 2,125 คน เสียชีวิต 8 คน เฝ้าระวัง 59,470 คน มีครูติดเชื้อ 14 คน รวมทั้งมีนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต้องเฝ้าระวัง 59,470 คน และมีสถานศึกษาถูกปิดไปแล้วจำนวน 430 แห่ง แต่ขณะนี้ ทุกแห่งเปิดการเรียนการสอนตามปกติแล้ว
“ไม่ต้องการให้สถานศึกษาย่อหย่อนในมาตรการต่าง ๆ ที่เคยดำเนินการมาก่อนหน้านี้ เพราะฉะนั้นจึงลงนามร่วมมือกัน สสส. รณรงค์ให้สถานศึกษาทุกแห่งดำเนินการตามมาตราเฝ้าระวัง ป้องกันการระบาดของโรคหวัด 2009 ต่อไปอย่างต่อเนื่อง ความร่วมมือนี้มีมาตรการสำคัญในการเน้นอนามัยพื้นฐาน การหมั่นล้างมือ ไอ จาม ใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปาก และข้อความร่วมให้ทุกโรงเรียนเปิดศูนย์บริการ ให้คำปรึกษาด้านการป้องกัน รวมถึงการรักษา คัดกรองนักเรียนและบุคลากร จัดจุดล้างมือ ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม ส่งเสริมการออกกำลังกายสม่ำเสมอ สร้างแกนนำนักเรียนรณรงค์ป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และจัดกิจกรรมรณรงค์ในสถานศึกษา เพื่อป้องกันนักเรียน นักศึกษา ในสังกัดกว่า 10 ล้านคน” รมช.สธ. กล่าว
นพ.มงคล ณ สงขลา ประธานอนุกรรมการควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาของการแพร่ระบาดของไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 สสส. กล่าวว่า ไม่เพียงแต่หวัด 2009 เท่านั้น ในอนาคตอาจมีโรคระบาดอื่นๆ ตามมาอีก เพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สภาพแวดล้อม ทำให้เกิดโรคใหม่ๆ ขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจะต้องสร้างกระบวนการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ทำให้เกิดเป็นพฤติกรรมสุขภาพที่ติดตัวนักเรียน นักศึกษา เช่น สร้างนิสัยล้างมือบ่อยๆ ไม่เข้าไปในที่ๆ มีคนชุมนุมกันมาก ทำความสะอาดสิ่งของที่ใช้ร่วมกัน หรือ เป็นจุดสัมผัสร่วม เช่น ราวบันได ตู้น้ำดื่ม ใส่หน้ากากเมื่อป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งจะทำให้เราสามารถป้องกันการระบาดของโรคต่าง ๆ ได้
เรื่องโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์ Team content www.thaihealth.or.th
Update 04-09-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์