ว่าด้วยเรื่อง ‘ไข้หวัดใหญ่’ (Influenza)

 


ว่าด้วยเรื่อง ‘ไข้หวัดใหญ่’ (Influenza) thaihealth


 


            ไข้หวัดใหญ่หรือ influenza เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลัน เชื้อต้นเหตุเป็นไวรัสที่เรียกว่า influenza virus หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิดคือ influenza A และ B ส่วนไวรัส influenza อีกชนิดหนึ่งคือ influenza C นั้นเนื่องจากมีความรุนแรงน้อยและไม่มีความสำคัญในการแพร่ระบาดจึงอาจจะไม่นับอยู่ในกลุ่มของโรคไข้หวัดใหญ่ ไวรัสไข้หวัดใหญ่นั้นติดเชื้อในเยื่อบุทางเดินหายใจส่วนบนคือจมูกและคอและอาจลงไปถึงส่วนล่างอันได้แก่หลอดลมและปอดด้วย


อาการของไข้หวัดใหญ่เป็นอย่างไร?


            อาการของไข้หวัดใหญ่ได้แก่ ไข้ ปวดศรีษะ เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไอแห้งๆ คัดจมูกน้ำมูกไหล อาการต่างๆเหล่านี้มักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และอยู่นาน 6-10 วัน


ทำไมจึงต้องแยกไข้หวัดใหญ่ออกจากไข้หวัดธรรมดา?


            Common cold หรือไข้หวัดธรรมดาจะมีอาการคล้ายๆไข้หวัดใหญ่ได้ แต่ข้อแตกต่างก็คือไข้หวัดธรรมดามักมีอาการคัดจมูกน้ำมูกไหล ไอจาม คันคอ เป็นอาการเด่น และไม่ค่อยมีอาการไข้ และปวดกล้ามเนื้อ ความสำคัญที่จะต้องแยกไข้หวัดใหญ่ออกจากไข้หวัดธรรมดานั้นเนื่องจากไข้หวัดใหญ่จะมีภาวะแทรกซ้อนได้บ่อยกว่า และโดยทั่วไปอาการจะรุนแรงและยาวนานกว่าไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดธรรมดานั้นโดยทั่วไปมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้น้อยมาก แต่ไข้หวัดใหญ่โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงอาจเกิดภาวะแทกซ้อนที่รุนแรงถึงชีวิตได้เช่นปอดบวม ดังนั้นหากสามารถแยกไข้หวัดใหญ่ออกจากไข้หวัดธรรมดาได้ก็จะช่วยให้ดูแลผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงได้ดีขึ้น


ใครบ้างที่เสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่?


            ผู้ที่เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากไข้หวัดใหญ่ได้แก่ผู้ที่มีโรคประจำตัวได้แก่ โรคปอดเรื้อรัง หอบหืด โรคหัวใจ เบาหวาน และ ผู้สูงอายุ


จะวินิจฉัยไข้หวัดใหญ่ได้อย่างไร?


            จากลักษณะอาการเพียงอย่างเดียวอาจยากที่จะบอกว่าผู้ป่วยรายใดเป็นไข้หวัดใหญ่รายใดเป็นไข้หวัดธรรมดาจากการติดเชื้อไวรัสอื่นๆ ในช่วงที่มีการระบาดอาจจะช่วยให้วินิจฉัยได้ง่ายขึ้น การวินิจฉัยยืนยันทางห้องปฏิบัติการทำได้โดยแยกเชื้อไวรัสจากไม้ป้ายคอ (throat swab) หรือน้ำที่ดูดจากหลังโพรงจมูก (nasopharyngeal aspirate) ซึ่งกินเวลาอย่างน้อยประมาณ 1 สัปดาห์ หรือด้วยการตรวจหาโปรตีนแอนติเจนของไวรัสในสิ่งส่งตรวจนั้นซึ่งได้ผลเร็วในไม่กี่ชั่วโมง อย่างไรก็ตามการตรวจทั่ง 2 แบบนั้นยุ่งยากและทำได้ในห้องปฏิบัติการบางแห่งเท่านั้นและใช้ในการศึกษาติดตามการระบาดของไวรัสมากกว่าที่จะนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยแต่ละราย


การรักษาไข้หวัดใหญ่ทำอย่างไร?


            การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการได้แก่ยาบรรเทาปวดลดไข้ ยาแก้ไอ ถึงแม้มียาที่กดการเพิ่มจำนวนของไวรัสได้โดยตรง แต่ยานี้ไม่มีใช้ทั่วไป และในกรณีส่วนใหญ่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ ยาจะมีความสำคัญเฉพาะในรายที่มีอาการรุนแรงเช่นการติดเชื้อในผู้สูงอายุ ยาดังกล่าวนี้มีด้วยกัน 2 ชนิด คือ Amantadine และ Rimantadine


วัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นอย่างไร?


            วัคซีนใช้ป้องกันการติดเชื้อ และต้องให้ซ้ำทุกปีก่อนฤดูการระบาด แนะนำให้ฉีดวัคซีนในกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหากติดเชื้อ ได้แก่ ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี ผู้ที่มีโรคปอดเรื้อรัง เบาหวาน และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง วัคซีนจะสามารถป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ที่เหมือนหรือคล้ายกับสายพันธุ์ของไวรัสที่ใช้ทำวัคซีนเท่านั้น ในแต่ละปีสายพันธุ์ที่ใช้ทำวัคซีนจะแตกต่างกันไปตามความคาดหมายว่าเชื้อสายพันธุ์ใดจะระบาดในปีนั้นๆ ดังนั้นการฉีดวัคซีนจึงอาจไม่สามารถป้องกันเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นได้


ไข้หวัดใหญ่แพร่เชื้ออย่างไร?


            ไวรัสไข้หวัดใหญ่เข้าสู่ร่างกายทางทางเดินหายใจ โดยเชื้อจะอยู่ในละอองฝอยในอากาศที่ออกมาจากการไอจามของผู้ป่วย เมื่อสูดหายใจเอาเชื้อเข้าไป เชื้อก็จะเข้าไปเพิ่มจำนวนอยู่ในเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจ และทำให้เกิดอาการป่วยใน 18 ถึง 72 ชั่วโมง


สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ในปัจจุบันเป็นอย่างไร?


            ความสำคัญของไข้หวัดใหญ่อยู่ที่การที่ไวรัสนี้มีการแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางได้บ่อยบางครั้งเป็นการแพร่ระบาดทั่วโลก (pandemic) การแพร่ระบาดนี้มักเกิดในช่วงฤดูหนาว โดยทั่วไปทุกฤดูหนาวจะมีจำนวนผู้ป่วยสูงขึ้นกว่าฤดูอื่นๆ ในแต่ละปีมีการประมาณว่ามีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ทั่วโลกสูงถึง 10-15% ของประชากรทั้งหมด การที่ไวรัสมีการแพร่ระบาดได้อย่างกว้างขวางนี้เนื่องมาจากลักษณะที่สำคัญของไวรัสชนิดนี้ที่มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะของโปรตีนสำคัญที่เป็นเป้าหมายในการโจมตีของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ง่าย เมื่อลักษณะของโปรตีนดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปก็ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายของผู้ที่เคยติดเชื้อไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้ทำให้สามารถติดเชื้อซ้ำได้อีก


          ดังนั้นเมื่อไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงไปครั้งหนึ่งก็จึงมักจะมีการระบาดตามมาเพราะไม่มีผู้มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่อยู่เลย จึงทำให้มีไวรัสสายพันธุ์ต่างๆอยู่มากมาย โดยมีระบบเรียกชื่อสายพันธุ์ของไวรัสที่จะบอกชนิดว่าเป็น A หรือ B สถานที่ที่แยกเชื้อได้เป็นครั้งแรก ปีที่แยกเชื้อได้เป็นครั้งแรก และชนิดของโปรตีนสำคัญที่ผิวของไวรัสที่เป็นเป้าหมายของระบบภูมิคุ้มกันคือ hemagglutinin และ neuraminidase เช่น ไวรัส A/Bangkok/01/79(H3N2) ซึ่งแยกได้ที่กรุงเทพฯในปี คศ. 1979 เป็นไวรัสตัวที่ 1 ที่แยกได้ในปีนั้น และมี hemagglutinin type 3 และ neuraminidase type 2 และไวรัสที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในยุโรปและอเมริกาส่วนใหญ่เป็น influenza A(H3N2) แต่ก็มีรายงานพบ A(H1N1) ปนอยู่บ้างในบางประเทศรวมทั้ง influenza B ที่มีลักษณะคล้าย B/Yamanashi/166/98


          อย่างไรก็ตามระดับของการระบาดในปัจจุบันถึงแม้จะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นแต่ก็ยังไม่จัดอยู่ในระดับที่มีการระบาด เพียงจัดอยู่ในระดับที่เรียกว่ามีผู้ป่วยมากกว่าที่คาดในฤดูนั้น (higher than expected seasonal activity) กล่าวคือยังเป็นระดับที่ไม่รุนแรงนักคือมีผู้ป่วยระหว่าง 200-400 รายต่อประชากร 100,000 คน


 


 


          ที่มา : นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code