“วิ่งเพื่อบ้านปลอดบุหรี่” งานวิ่งดีๆ สำหรับทุกคนในครอบครัว เพื่อครอบครัว
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
วันที่ 23 ธันวาคม 2561 มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านการควบคุมยาสูบ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมเดิน-วิ่งการกุศล เพื่อครอบครัวไทย ในชื่อเครือข่ายครอบครัวเดิน-วิ่งการกุศล เพื่อครอบครัวไทย ครั้งที่ 7 “ วิ่งเพื่อบ้านปลอดบุหรี่” Run for smoke free family โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ครอบครัวและประชาชนทั่วไปได้ออกกำลังกายและทำกิจกรรมร่วมกัน สร้างความสามัคคี สร้างสัมพันธภาพอันดีในครอบครัว และมุ่งรณรงค์ให้บ้านเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ เพื่อให้ครอบครัวเป็นเกราะป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่และยาเสพติด
นายสุจิตต์ ไตรพิทักษ์ กรรมการบริหารแผนคณะที่ 4 (ผู้ทรงคุณวุฒิด้านครอบครัว) สสส. เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ให้ข้อมูลว่า เป็นโอกาสอันดีที่มูลนิธิเครือข่ายครอบครัวได้จัดกิจกรรมเครือข่ายครอบครัวเดิน-วิ่งการกุศล เพื่อครอบครัวไทย ครั้งที่ 7 “ วิ่งเพื่อบ้านปลอดบุหรี่” Run for smoke free family ซึ่งเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่จะร่วมมือขับเคลื่อนโครงการบ้านปลอดบุหรี่ เพราะบ้านเป็นสถานที่ส่วนบุคคลที่อยู่นอกเหนือขอบเขตของกฎหมายคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ที่จะบังคับได้ การสูบบุหรี่ในบ้าน หรือบริเวณบ้าน จะทำให้สมาชิกในครอบครัวได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่มือสอง ดังนั้นการร่วมกันรณรงค์ ผลักดันให้ครอบครัวเห็นความสำคัญของการทำให้บ้าน ให้ครอบครัวปลอดบุหรี่ เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างมาก ส่งผลต่อสมาชิกในครอบครัวทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิตความสัมพันธ์ที่ดีและส่งเสริมการเป็นแบบอย่างให้กับเด็ก เยาวชน
ด้านนางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัน ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส.กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าการสูบบุหรี่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งตัวผู้สูบเองและคนในครอบครัว โดยเฉพาะต่อตัวเด็ก เช่น มีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดลมอักเสบ ปอดบวม หอบหืด ติดเชื้อในหูชั้นกลาง และมีพัฒนาการทั้งทางร่างกายและสมองช้ากว่าเด็กทั่วไป เป็นต้น ข้อมูลจากศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) พบว่า ในปัจจุบันมีเด็กไทยที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ร้อยละ 87.5 ที่ต้องอาศัยในบ้านที่มีสมาชิกในครอบครัวอย่างน้อย 1 คนที่สูบบุหรี่ และคนกลุ่มนี้ร้อยละ 70 ระบุว่า ตนเองมักสูบบุหรี่ในบ้านหรือในขณะที่มีเด็กอยู่ด้วย ซึ่งสมาชิกที่สูบบุหรี่ในบ้านมากที่สุดก็คือพ่อของเด็กๆ นั่นเอง แน่นอนว่าเด็กกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะได้รับสัมผัสควันบุหรี่มือสองในบ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยยืนยันได้จากการตรวจพบสารโคตินินในปัสสาวะของทารกที่มีผู้ปกครองสูบบุหรี่อย่างน้อย 1 คน ถึงร้อยละ 40.7 และในจำนวนนี้ร้อยละ 3.4 มีปริมาณโคตินินเทียบได้กับที่ตรวจพบในผู้สูบบุหรี่เป็นประจำ
และกล่าวต่อว่า แม้ว่า “พ่อ” จะเป็นบุคคลที่สูบบุหรี่ในบ้านมากที่สุด แต่ยังมี “พ่อ” อีกถึงร้อยละ 45.8 ที่มีความกังวลใจต่อผลกระทบทางสุขภาพของลูกที่มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ของตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ความพยายามอย่างมากที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของตนเอง เช่น ไปสูบนอกตัวบ้าน และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ในที่ที่มีสมาชิกในบ้านทำกิจกรรมอยู่ อีกร้อยละ 54.6 มีความคิดที่จะเลิกสูบบุหรี่ นอกจากนี้เกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 56.0 เห็นด้วยกับการรณรงค์ให้บ้านเป็นเขตปลอดบุหรี่
“มีงานวิจัยที่ชี้ชัดว่า เด็กที่ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านมีความเสี่ยงที่จะเติบโตกลายเป็นคนติดบุหรี่มากกว่าเด็กที่ไม่ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านถึง 3 เท่า หากต้องการลดปัญหาการสูบบุหรี่ของเด็กและเยาวชน โดยไม่ให้เด็กก้าวเข้ามาเป็นนักสูบหน้าใหม่ ต้องเน้นการทำให้พ่อแม่-ผู้ปกครองตระหนักถึงผลกระทบจากการสูบบุหรี่ของตนเองต่อปัญหาสุขภาพของลูกหลาน และการเป็นแบบอย่างของพ่อแม่-ผู้ปกครองโดยการไม่สูบบุหรี่ให้ลูกหลานเห็นด้วยการรณรงค์ให้บ้านปลอดบุหรี่เพื่อสุขภาพที่ดีของเด็กไทย สำหรับผู้สูบบุหรี่ที่ต้องการเลิกบุหรี่ สามารถโทรติดต่อได้ที่สายด่วนเลิกบุหรี่ โทร 1600 โทรฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว