‘วิ่งด้วยกัน’ ความอิ่มใจของคนพิการ-ไกด์รันเนอร์
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
ภาพโดย สสส.
'วิ่งด้วยกัน' ความอิ่มใจของคนพิการ-ไกด์รันเนอร์
หลังจบงานวิ่งใหญ่ประจำปีของโครงการวิ่งด้วยกัน Run2gether "วิ่งด้วยกัน" ครั้งที่ 4 The Championship ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาเจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี อันสุดแสนชื่นมื่นหัวใจ เหล่านักวิ่งพิการ และไกด์รันเนอร์ ก็กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง และยังคงซ้อมวิ่งเป็นประจำทุกเดือนเพื่อสร้างเสริมสุขภาพที่ดีร่วมกัน ก้าวข้ามข้อจำกัดและความแตกต่างทางด้านร่างกายเติมเต็มกันและกัน
การแข่งขันที่ผ่านมามีผู้พิการและไม่พิการรวมทั้งอาสาสมัครร่วมงานกว่า 2,000 คน แปรเปลี่ยนความแตกต่างให้เป็นพลังในการเสริมสร้างความเข้มแข็ง โดยเกิดจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บริษัทกรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) สมาคมกีฬาคนตาบอดแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา บริษัท กล่องดินสอ จำกัด และบริษัท ชูใจ กะกัลยาณมิตร ภาคีเครือข่ายที่ร่วมกันจัดงานในบรรยากาศที่แสนอบอุ่น
เมื่อสาระสำคัญของงานวิ่งด้วยกันอยู่ที่ปลายทางและเรียนรู้ร่วมกันระหว่างทางระหว่างผู้พิการและไม่พิการ กิจกรรมวิ่งเป็นเครื่องมือที่นุ่มนวล และสร้างความเข้าใจได้ดีกว่าวิธีอื่น ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. ซึ่งร่วมวิ่งเป็นไกด์รันเนอร์สำหรับผู้พิการตาบอดในครั้งนี้ บอกว่า การวิ่งเป็นหนึ่งรูปแบบกิจกรรมทางสังคมที่เปิดพื้นที่ เปิดทางเลือกว่ากิจกรรมที่คนอื่นทำได้ผู้พิการก็ทำได้ การวิ่งเป็นเหมือนการสาธิตเบื้องต้นให้เห็นตัวอย่างการรู้จักคนพิการผ่านกิจกรรม ซึ่งไม่เฉพาะการวิ่งเท่านั้นที่จะเป็นสื่อให้ผู้พิการและผู้ไม่พิการมีกิจกรรมร่วมกัน เช่น เต้นรำ ทำอาหาร เรียน หรือแม้กระทั่งทำงานในองค์กรเดียวกัน เป็นสื่อที่จะทำให้ทั้งสองฝ่ายได้ทำกิจกรรมร่วมกันได้
มากไปกว่าการมาวิ่งด้วยกันคือ ความสัมพันธ์ การยอมรับ และเห็นคุณค่าของคนพิการ การฟังเสียงของเขาเป็นสิ่งสำคัญมากเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงของคนที่เป็นไกด์รันเนอร์ เพื่อที่จะเข้าใจว่าอุปสรรคของผู้พิการแต่ละด้านก็มีความแตกต่างกัน คนตาบอดมีความต้องการอย่างหนึ่ง คนที่นั่งรถวีลแชร์ก็มีความต้องการพิเศษอีกอย่างหนึ่ง หรือผู้บกพร่องทางการได้ยินก็ต้องการความเข้าใจอีกแบบหนึ่ง หรือน้อง ๆ ที่เป็นออทิสติกก็ต้องการที่แตกต่างออกไป
"งานวิ่งด้วยกันเป็นโมเดลให้กับผู้จัดงานวิ่งที่อยากเพิ่มรายละเอียดสำหรับผู้พิการมากขึ้น โดย สสส. ได้จัดทำไกด์ไลน์เป็นแนวทางให้กับผู้จัดงานวิ่งในเรื่องที่ควรคำนึงถึงสำหรับผู้มีความต้องการพิเศษเช่น เส้นทาง จุดให้น้ำ อาสาสมัคร รวมทั้งสัญลักษณต่าง ๆ การจัดงานสำหรับผู้พิการไม่ได้ยาก เพียงแค่ใส่ใจในรายละเอียดเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย ก็อยากขยายแนวคิดนี้ไปสู่ผู้จัดอื่น ๆ ด้วย" ผอ. สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ กล่าว
น้องปราง-อนงค์นาท สอนแย้ม จากศูนย์ฝึกอาชีพผู้พิการสามพราน จ.นครปฐม เผยความรู้สึกว่า สำหรับการวิ่งในครั้งนี้ได้รับรู้ได้ถึงบรรยากาศที่อบอุ่นตลอดเส้นทางวิ่ง ผู้นำการวิ่งของเธอดูแลและให้คำแนะนำเป็นอย่างดี ปรางบอกว่าสิ่งสำคัญในการวิ่งร่วมกับไกด์รันเนอร์คือความไว้วางใจ ขณะที่ผู้นำวิ่งเองก็ต้องไม่ทิ้งผู้พิการไว้ระหว่างทาง ต้องคอยเตือนเรื่องพื้นผิวถนน รวมทั้งบรรยายบรรยากาศระหว่างทางเพื่อให้ก้าวไปพร้อมกันได้
นอกจากจะมีคนพิการทุกรูปแบบแล้ว คนไม่พิการที่ได้มาเป็นไกด์รันเนอร์ก็ได้มีทัศนคติเปลี่ยนไปเช่นกัน ไกด์รันเนอร์มือใหม่บอย-จุฑา ธนวัทรัตน์ชัย ที่เป็นไกด์ครั้งแรกก็คว้าถ้วยรางวัลที่ 3 มาครอง ร่วมกับ "ตี๋-เกษมพล หุ่นมี"อาจารย์วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา ที่ปั่นวีลแชร์เข้าเส้นชัยระยะทาง 10 กม. ในเวลา 48 นาที
จุฑา บอกว่า เป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับการเป็นไกด์รันเนอร์ ทุกครั้งจะวิ่งเพื่อทำเวลาเพื่อให้ตัวเองดูเก่ง ครั้งนี้ที่มาเพราะว่าเคยมีโอกาสทำหน้าที่อาสาสมัครในปีที่แล้ว ครั้งนี้มีโอกาสเป็นไกด์รันเนอร์ คู่วิ่งของผมก็นั่งวีลแชร์ ซึ่งเราก็ช่วยกระตุ้นบ้าง เข็นบ้าง จนเข้าเส้นชัยเป็นอันดับสามมาพร้อมกัน ในฐานะไกด์รันเนอร์ก็ดีใจมาก เราก็ต้องไปศึกษาก่อน เพราะการวิ่งเป็นคู่ก็ต้องรู้จักคู่วิ่งของเราด้วย หน้าที่ของไกด์คือเป็นกำลังใจเพื่อผลักดันให้คู่วิ่งของเราให้ก้าวข้ามกำแพงของตัวเอง ทางเรียบเราก็ให้เขาปั่นเอง แต่ถ้าเขาเหนื่อยหรือทางเนินผมก็ช่วยเข็น ทุกทีเราวิ่งกับเพื่อนเราก็เหมือนแข่งกันเร็ว แต่ครั้งนี้เราก็ดีใจที่ได้ทำอะไรที่เป็นประสบการณ์ใหม่และยังเป็นประโยชน์กับคนอื่นได้ด้วย ดีใจที่เขาไม่ยอมแพ้
ขณะที่ เกษมพล บอกว่า สำหรับตัวเองวิ่งด้วยกันครั้งนี้เป็นครั้งที่สาม ที่ผ่านมาไปวิ่งที่ จ.ชลบุรี เพราะทำงานเป็นอาจารย์อยู่ที่พัทยา ครั้งนี้มีพี่บอยเป็นไกด์รันเนอร์ ที่คอยบอกเส้นทาง เชียร์อัพให้เราสนุก นอกจากนี้ยังได้เห็นผู้พิการที่หลากหลายมาออกกำลังกาย มันตอกย้ำว่าพวกเราก็สามารถมีชีวิตที่เป็นปกติได้ คิดว่างานนี้มีพลังบวกต่อกัน ได้สนุกและสุขภาพที่แข็งแรงด้วย จากงานนี้ทำให้รู้ว่าเราพัฒนาได้อีก กลับไปจะไปฝึกฝนให้ตัวเองเก่งขึ้น เพื่อปั่นพาตัวเองเข้าเส้นชัยให้ได้เวลาดี ๆ เหมือนที่มีไกด์รันเนอร์คอยซัพพอร์ต
งานวิ่งด้วยกันไม่เพียงจุดกระแสเปิดโอกาสให้คนพิการและคนไม่พิการได้ออกมาวิ่ง ก้าวเข้าสู่เส้นชัยพร้อมกันของคู่นักวิ่งเท่านั้น แต่เป็นการสร้างความเท่าเทียมกันของผู้คนในสังคม สร้างทัศนคติใหม่ที่ดี และเปลี่ยนแปลงชีวิตของทั้งคนพิการและคนไม่พิการไปตลอดกาล