วิเคราะห์อุบัติเหตุปีใหม่’60 สู่แนวทางปลอดภัยลดเจ็บ-ตาย

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


วิเคราะห์อุบัติเหตุปีใหม่'60 สู่แนวทางปลอดภัยลดเจ็บ-ตาย thaihealth


แฟ้มภาพ


เหตุการณ์สุดสะเทือนใจรับปีไก่ รถตู้หลับในข้ามเลนชนปิกอัพจนมีผู้เสียชีวิตถึง 25 ราย เบื้องต้นมีข้อมูลชี้ว่าคนขับต้องขับต่อเนื่อง 5 รอบในช่วง 31 ชั่วโมง ส่งผลต่อสมรรถนะในการขับขี่และการหลับใน เป็นหนึ่งในอุบัติเหตุรุนแรงช่วงเทศกาลปีใหม่ สะท้อนให้เห็นชัดว่ากลไกการทำงานป้องกันอุบัติเหตุทางถนนยังไร้ประสิทธิภาพ


หากดูในภาพรวมสถิติอุบัติเหตุ 7 วันอันตรายยิ่งชัดเจน ทั้งเสียชีวิตเพิ่มและความรุนแรงเพิ่มขึ้น ข้อมูลศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้รวบ รวมข้อมูลอุบัติเหตุที่มีผู้ได้รับรักษาตัวในโรงพยาบาล ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2559-4 มกราคม 2560 พบอุบัติเหตุ 3,919 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปีใหม่ที่ผ่านมา 540 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 4,128 ราย เพิ่มขึ้น 623 ราย ผู้เสียชีวิต 478 ราย เพิ่มขึ้น 98 ราย หรือเพิ่ม 25.79%


ทั้งนี้ จะพบว่าดัชนีความรุนแรงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอด 10 ที่ผ่านมา จาก 8.96 ในปี 2551 เพิ่มเป็น 11.25 ในปี 2559 และครั้งนี้สูงถึง 12.20 ในอุบัติเหตุ 100 ครั้ง มีคนตาย 12 คน นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าสัดส่วนการเสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 56 เป็นร้อยละ 60


นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.สนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 จนถึงปัจจุบัน เน้นการรณรงค์และป้องกันอุบัติเหตุตลอดทั้งปี ไม่ใช่เพียงเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่หรือสงกรานต์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าช่วงเทศกาลจะมีจำนวนอุบัติเหตุทางถนนสูงกว่าช่วงเวลาปกติถึง 2 เท่า สสส.จึงได้ใช้เป็นวาระในการรณรงค์กระตุ้นเตือนสังคมเป็นพิเศษใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1.สนับ สนุนกลไกการทำงานเพื่อการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนทั้งในระดับชาติ จังหวัด และระดับพื้นที่ โดยเฉพาะชุมชนและท้องถิ่นให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2.สนับสนุนข้อมูลวิชาการ การวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลให้แก่ภาคีเครือข่าย หน่วยงานภาครัฐ 3.รณรงค์สังคมผ่านเครือข่ายลดอุบัติเหตุ ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน


"อุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่แล้วความสูญเสียยังคงมาจากการดื่มแล้วขับ ขับเร็วเกินกฎหมายกำหนด รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ ถ้าขับรถด้วยความเร็ว 100 กม./ชม. เพียงละสายตามองหน้าจอมือถือ 2 วินาที หากเกิดการชนจะมีแรงปะทะเทียบเท่าการตกตึก 13 ชั้น รวมถึงง่วงแล้วขับ สสส.และภาคีเครือข่ายจำเป็นต้องรณรงค์และควบคุมให้ผู้ขับขี่ลดปัจจัยเสี่ยงเพื่อร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนให้เกิดขึ้นในสังคมไทย" นพ.ธนะพงศ์กล่าว


นพ.ธนะพงศ์ วิเคราะห์สถานการณ์อุบัติเหตุปีใหม่ 2560 ว่า แม้จำนวนอุบัติเหตุใหญ่ 38 ครั้งจะใกล้เคียงกับปีใหม่ที่ผ่านมา แต่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นรวมกันถึง 99 ราย และคิดเป็น 1 ใน 5 ของการตายรวมในช่วง 7 วัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 2 เท่าเมื่อเทียบกับอุบัติเหตุใหญ่ปีใหม่ 2559 โดยพบว่าเกี่ยวข้องกับหลับใน 8 ใน 38 ครั้ง ทำให้มีคนเสียชีวิตถึง 49 ราย คิดเป็นครึ่งหนึ่งของการตายในกรณีอุบัติเหตุใหญ่ เช่นเดียวกับกรณีเหตุการณ์สำคัญรถตู้หลับในข้ามเลนไปชนปิกอัพเสียชีวิตถึง 25 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างสอบสวนสาเหตุเชิงลึก เบื้องต้นมีข้อมูลบ่งชี้ว่าคนขับต้องขับต่อเนื่องในช่วง 31 ชั่วโมง โดยมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อลดความเสี่ยงของการเดินทางโดยรถตู้จากหลายฝ่าย


นอกจากนี้ยังมีอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการบรรทุกท้ายกระบะจำนวนมาก 4 ครั้ง มีการเสียชีวิต 5 ราย มีกรณีที่บรรทุกคนงานถึง 32 ราย รวมทั้งรถกระบะยางระเบิด 3 ครั้งเสียชีวิตในเหตุการณ์ 7 ราย ในส่วนที่เหลือจะเป็นการตายจากรถจักรยานยนต์ซ้อน 3 หรือ 4 คน ชนกับรถกระบะหรือรถอื่นๆ อีกสาเหตุคือเพิ่มการเดินทาง ทยอยกลับเร็ว เพิ่มช่วงฉลองดื่มเร็วและฉลองนานขึ้น


ส่วนข้อมูลกระทรวงคมนาคมประมาณการมีผู้เดินทางเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรถส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ประกอบกับแบบแผนการเดินทางที่ทยอยเดินทางกลับเร็ว ตั้งแต่วันที่ 27-28 ธันวาคม ทำให้ช่วงเดินทางในเส้นหลักๆ การจราจรชะลอตัว แต่ไม่ติดเหมือนที่ผ่านมาและใช้ความเร็วได้ในบางช่วง ที่สำคัญคือ ช่วงฉลอง 31 ธันวาคม-1 มกราคม จะเริ่มเร็วขึ้นตั้งแต่ 30 ธันวาคม ที่มีผู้เสียชีวิตถึง 71 ราย


ขณะที่ ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขจะพบว่า ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นจาก 7,805 ราย เป็น 8,820 ราย เพิ่มขึ้น 13% โดยเฉพาะวันที่ 29 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันแรกของเทศกาล มีผู้บาดเจ็บที่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นถึง 33% จาก 816 เป็น 1,089 ราย โดยตลอด 7 วันพบเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปีถึง 1 ใน 5 ประสบอุบัติเหตุโดยมีการดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วยถึง 1,864 ราย เฉลี่ย 11 คนต่อชั่วโมง


ในช่วง 7 วันของเทศกาลปีใหม่ มีการดำเนินคดีใน 10 ข้อหาหลัก 727,558 คดี โดยการไม่มีใบขับขี่พบสูงสุด 295,894 ราย ร้อยละ 28 รองลงมาคือ ไม่สวมหมวกนิรภัย แต่ถ้าพิจารณาแนวโน้มการดำเนินคดีตลอด 5 ปีที่ผ่านมาจะพบว่าไม่ได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมีนัยเมื่อเทียบกับพฤติกรรมเสี่ยงบนถนน ประกอบกับบทลงโทษที่ไม่รุนแรงแม้จะเป็นพฤติกรรมที่อันตราย เช่น การไม่มีใบขับขี่ ร้อยละ 28 บทลงโทษเพียงโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ปกติจะปรับ 200-300 บาท ส่งผลให้การป้องปรามขาดประสิทธิภาพ


ผู้จัดการ ศวปถ.ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ตำรวจจราจรจะมีภาระทั้งการจัดการจราจรและการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งช่วงเทศกาลจะมีการสัญจรจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงการเดินทางไป-กลับ ทำให้ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างเต็มที่ ขณะที่ มาตรการทางสังคมโดยเฉพาะบทบาทด้านชุมชนยังดำเนินการได้จำกัดในหลายพื้นที่ จะเห็นได้จากพื้นที่ชุมชนหลายแห่งมีกิจกรรมรื่นเริงเคาต์ดาวน์ปีใหม่ มีการตั้งด่าน แต่ยังพบอุบัติเหตุกับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ทั้งในกลุ่มอายุไม่ถึง 15 ปี กลุ่มที่มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนใหญ่ไม่สวมหมวกนิรภัย ซ้อนเกินสองคน


สำหรับข้อเสนอแนะ นพ.ธนะพงศ์เห็นว่า ควรมีข้อพิจารณาสำคัญเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบังคับใช้กฎหมาย เพราะการเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องจริงจังจึงจะเห็นผลในช่วงเทศกาล คณะกรรมการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจพิจารณาแยกบทบาทด้านการจัดการจราจร ควบคุมสัญญาณไฟระบายรถ ฯลฯ ให้เป็นบทบาทท้องถิ่นและหน่วยงานที่ดูแลถนน สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดนโยบายที่ชัดเจน ให้การเสียชีวิตจากคดีอุบัติเหตุจราจรเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องสอบสวนและรายงาน เช่นเดียวกับคดีอาชญากรรม รวมถึงเพิ่มอุปกรณ์บังคับใช้กฎหมายในความเสี่ยงสำคัญ เช่น ขับเร็ว ดื่ม/เมาขับ ให้เพียงพอ เพิ่มบทลงโทษและจริงจังกับการขับรถอันตราย ดื่มแล้วขับ ขับรถโดยไม่มีใบอนุญาต ขับรถฝ่าสัญญาณไฟจราจร ขับรถย้อนศร นอกจากนี้เร่งกระบวนการพัฒนาระบบข้อมูลความผิดซ้ำและการเชื่อมโยงข้อมูลผู้กระทำความผิดระหว่างตำรวจและกรมการขนส่งทางบก


ถัดมา พัฒนาการสอบสวนสาเหตุและจัดทำฐานข้อมูลที่ระบุสาเหตุสำคัญ แยกกลุ่มที่ประมาท/สุดวิสัย กับกลุ่มที่กระทำความผิดทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตให้ชัดเจน


ส่วนกรณีรถโดยสารสาธารณะที่เป็นเหตุสุดสยองรับปี 60 ผู้จัดกาค ศวปถ.เห็นว่า ต้องสอบสวนสาเหตุเชิงลึกมาวิเคราะห์สาเหตุประกอบการกำหนดมาตรการระยะเร่งด่วนและระยะยาว ทั้งนี้มีข้อพิจารณาสำคัญ ได้แก่ ทบทวนโครงสร้างประกอบการ โดยเฉพาะการออกใบอนุญาตเส้นทางที่เอื้อให้รายย่อย มีรถ 1-2 คันก็มาวิ่งร่วมบริการได้ จะทำให้การจัดการด้านความปลอดภัยทำได้จำกัด เพราะเป็นต้นทุนที่รายย่อยไม่สามารถแบกรับภาระได้ ให้เน้นมาตรการที่จะกำกับชั่วโมงการทำงานคนขับ มีบทลงโทษทั้งคนขับ เจ้าของรถและวินรถ เมื่อตรวจพบการขับรถเกินชั่วโมงที่กฎหมายกำหนด พิจารณาใช้ทั้ง พ.ร.บ.ขนส่ง, พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน กำกับรถผิดประเภทที่ขึ้นนอกสถานี โดยเฉพาะรถรับนักท่องเที่ยว ดำเนินการร่วมกับกระทรวงท่องเที่ยว


"กำหนดให้ทุกครั้งที่มีอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ จะต้องมีระบบสืบสวนสาเหตุพร้อมการตรวจสอบผู้ประกอบการ เพิ่มบทบาทผู้โดยสารในการเฝ้าระวังตรวจสอบ เช่น การมีรางวัลเมื่อมีการแจ้งเหตุกรณีกระทำความผิดและได้รับโทษ ส่วนแบ่งค่าปรับ" นพ.ธนะพงศ์เสนอ


ในตอนท้าย นพ.ธนะพงศ์ยังสรุปด้วยว่า ควรพิจารณาทบทวนกำหนดเป้าหมายในการลดความสูญเสียช่วงเทศกาล เพื่อกระตุ้นให้ทุกพื้นที่มีการวิเคราะห์ ตั้งเป้าหมายและวางการทำงานที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น พร้อมทั้งกำหนดให้มีการประเมินผลการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ ส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมเฝ้าระวังและส่งข้อมูลความเสี่ยงบนท้องถนน เช่น CCTV พร้อมทั้งกำหนด จุดรับข้อมูลที่จะรวบรวมและดำเนินการกรณีมีความผิด มีการส่งเสริมการทำงานศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) อำเภอ และ ศปถ.อปท. ให้มีบทบาทในการจัดการปัญหาทั้งในเทศกาลและตลอดทั้งปี ร่วมกับการทำงานของชุมชน เช่น ด่านชุมชน สุดท้ายกำหนดให้หน่วยงานองค์กรทั้งรัฐและเอกชนมีมาตรการองค์กรด้านความปลอดภัยทางถนนเพื่อกำกับบุคลากรในสังกัด เช่น สวมหมวกนิรภัย

Shares:
QR Code :
QR Code