วิธี ‘เลิกเหล้า’ อย่างปลอดภัย

ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์


แนะหยุดเหล้า อย่าหักดิบ thaihealth

แฟ้มภาพ


กรมสุขภาพจิต แนะวิธีหยุดเหล้าอย่าหักดิบ อาจเกิดอาการลงแดง เพิ่มความอยาก


นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ปัญหาการดื่มสุรา มักจะตามมาด้วยความรุนแรง เนื่องจากฤทธิ์ของสุราไปควบคุมสมองส่วนความคิด การตัดสินใจ และการใช้เหตุผล ทำให้ผู้ดื่มขาดสติ การยับยั้งชั่งใจ ไม่รับรู้ว่าสิ่งใดผิดหรือถูก และเกิดความคึกคะนองก้าวร้าว จนนำไปสู่สร้างความเดือดร้อนต่อผู้อื่นได้ง่าย และในที่สุดก็เกิดปัญหาอาชญากรรมตามมา รวมทั้งส่งผลต่อปัญหาสุขภาพจิต โดยพบว่าในแต่ละปี มีผู้เข้ารับการบำบัดรักษาปัญหาสุขภาพจิต จากการดื่มสุราของโรงพยาบาลสวนปรุง ซึ่งเป็นศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะด้านการบำบัดรักษาผู้ติดสุรา จำนวนไม่น้อยกว่า 4 พันราย/ปี และคาดว่า ยังมีแนวโน้มพบผู้ติดสุรา จนต้องส่งมารักษาอยู่อีกจำนวนมาก


"การลด ละ เลิก หรือไม่ดื่มเลย จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่ต้องขอย้ำว่า ควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยค่อยๆลดปริมาณการดื่มลง ให้ต่ำกว่าที่เคยดื่ม ดื่มน้ำเปล่าสลับบ้างในระหว่างที่ดื่มสุรา เพื่อทิ้งช่วงในการดื่มให้ห่างขึ้น ทำกิจกรรมอย่างอื่นทดแทน เช่น เล่นดนตรี เล่นกีฬา ทำงานศิลปะ งานอดิเรกต่างๆ ปฏิบัติธรรม หลีกเลี่ยงกลุ่มเพื่อนที่เคยดื่มด้วยกันพบปะหรือเข้าร่วมกิจกรรมกับเพื่อนที่ไม่ดื่มแทน หากถูกชักชวนให้ดื่ม ให้ปฏิเสธโดยตรงว่ามีปัญหาสุขภาพ หรือหมอสั่ง และไม่ควรดื่มสุราเมื่อมีการทานยาทุกชนิด" อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุ


นพ.เจษฎา ยังย้ำอีกว่า การหักดิบ หรือหยุดดื่มในทันที ย่อมทำให้เกิดอาการถอนพิษสุรา หรือ อาการลงแดงได้ เช่น ตัวสั่น เครียด ชัก ประสาทหลอน สับสนวุ่นวาย และอาจกลับมาดื่มในปริมาณที่มากขึ้น ดังนั้นโดยเฉพาะในช่วง 3 วันแรก หากพบว่า มีอาการคลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง หงุดหงิดกระสับกระส่าย ใจสั่นมือสั่น เหงื่อแตก หลังจากหยุดดื่ม ให้รีบพบแพทย์โดยด่วน ที่สำคัญแจ้งให้ชัดว่าต้องการหยุดดื่มสุรา


 


 

Shares:
QR Code :
QR Code