วิธีให้กำลังใจ ผู้เลิกเสพยาสูบ

          วิธีให้กำลังใจ ผู้เลิกเสพยาสูบ

/data/content/19753/cms/abklnqvy4567.jpg

          “คุณหมอคะ สามีของดิฉันเป็นโรคความดันโลหิตสูง คุณหมอแนะนำให้เลิกบุหรี่ เขาก็พยายามค่ะ แต่เห็นวางแล้วก็หยิบมาสูบอีก ดิฉันจะช่วยอะไรได้บ้างมั้ยคะ” คุณวีณา ปรารภมา

          คุณวีณาคะ ผู้ใกล้ชิดของผู้ต้องการเลิกบุหรี่ มีบทบาทสำคัญมาก จะว่ามากที่สุดก็ได้นะคะ คุณวีณายังมีเพื่อนอีกหลายล้านคน เนื่องจากในประเทศไทยมีผู้สูบบุหรี่ตั้ง 12 ล้านคน นับเป็นจำนวนมาก ในบรรดาผู้สูบบุหรี่ มีผู้เป็นโรคเรื้อรังคือ ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน โรคถุงลมโป่งพอง โรคที่เกี่ยวกับจิตเวช และในผู้ป่วยเหล่านี้มีหลักฐานแน่ชัดว่า บุหรี่เป็นทั้งต้นเหตุ และเป็นตัวซ้ำเติมให้เกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรงมาก บางกรณีมีอันตรายถึงแก่ชีวิตทีเดียว

          ตัวอย่างง่ายๆ การสูบบุหรี่ จะทำให้สารนิโคตินเข้าไปสู่กระแสเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบลงชัดเจน เห็นได้จากขณะสวนหลอดเลือดหัวใจ สำหรับผู้ที่มีเบาหวานความดันโลหิตสูง และไขมันในหลอดเลือดสูง จะมีหลอดเลือดตีบแข็งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อถูกนิโคตินทำให้หลอดเลือดตีบลงอีก จะทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดกล้ามเนื้อหัวใจก็ขาดเลือด เรียกว่า หัวใจวาย มีโอกาสเสียชีวิตกะทันหัน ในกรณีที่หลอดเลือดตีบในสมอง เนื้อสมองขาดเลือด ทำให้เกิด อัมพฤกษ์ อัมพาต

          ทางด้านโรคถุงลมอุดกั้นเรื้อรัง ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากบุหรี่ ทำให้ความยืดหยุ่นของถุงลมเสียไป ถุงลมขยายแล้วไม่สามารถบีบไล่คาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้มีภาวะเลือดเป็นกรด หายใจหอบ ถ้าหายใจไม่ทัน ต้องใส่ท่อหายใจช่วย บางรายต้องเจาะคอใช้เครื่องช่วยหายใจไปตลอด เป็นที่น่าสมเพชเวทนายิ่งนัก ส่วนด้านผู้ป่วยจิตเวช ผู้สูบบุหรี่จะเป็นจุดตั้งต้นของการใช้สารเสพติดที่มีความร้ายแรงมากขึ้นทุกที

          ในประเทศไทย มีเครือข่ายวิชาชีพแพทย์เพื่อการควบคุมการบริโภคยาสูบ ทำงานร่วมกับเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อให้สังคมไทยปลอดบุหรี่ เครือข่ายทั้งหมดอยู่ในการกำกับของมูลนิธิรณรงค์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ที่เรารู้จักในนาม สสส.นั่นเอง

/data/content/19753/cms/bceijlmwx167.jpg

          บรรดาสมาชิกเครือข่ายเหล่านี้ ช่วยกันสร้างแนวทางในการบำบัดโรคเสพยาสูบในประเทศของเรา โดยเรียงลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่ผู้เข้ารับบริการเข้ามาถึงโรงพยาบาล แบบขั้นตอนดังนี้

          ขั้นที่ 1.การเข้าสู่บริการ ต้องสอบถามว่าผู้ใดสูบบุหรี่หรือไม่ แล้วลงบันทึก อาจใช้คอมพิวเตอร์ช่วยได้ ขั้นนี้เรียก ASK ถ้าทราบว่าสูบบุหรี่ บุคลากรจะแนะนำ (ADVISE) ว่าท่านควรเลิกบุหรี่ ใช้เหตุผลโรคเรื้อรังเข้าประกอบ

          ขั้น 2 การประเมินผู้ป่วย (ASSESSMENT) ประเมินความรุนแรงในการเสพยาสูบ มี 2 คำถามสำคัญคือ สูบบุหรี่วันละกี่มวน และมวนแรกหลังจากตื่นนอนกี่นาที

ขั้นนี้จะเสริมด้วยการให้ผู้เสพยาสูบ เป่าเครื่องวัดระดับคาร์บอนมอนอกไซด์ (Co) ได้ตัวเลขเท่าไร บันทึกไว้ เพื่อเปรียบเทียบกับหลังการเลิกบุหรี่แล้ว ค่า Co จะต้องเข้าสู่ระดับปกติ

          ขั้น 3 วางแผน ให้เหมาะสมกับสภาพผู้ป่วย ถ้ามีโรคเฉียบพลัน เช่น อัมพฤกษ์ หัวใจล้มเหลว หอบเหนื่อย ก็เป็นนาทีทองที่จะวางแผนการเลิกบุหรี่

          ขั้น 4 ให้การรักษา (ASSIST) บำบัดแบบไม่ใช้ยา คือ ให้คำปรึกษา ให้ เลือก วันที่จะเลิกบุหรี่ ลั่น วาจา บวกคนใกล้ชิด เพื่อขอแรงสนับสนุน ละ อุปกรณ์ ทั้งอุปกรณ์ เช่น ไฟแช็ก บุหรี่ ที่เขี่ยบุหรี่ ลงมือ หยุดบุหรี่เมื่อถึงวันที่เลือกไว้ ขั้นนี้คือ ใช้ 4 ล.

          ขั้นที่ 5 ให้ความรู้ความเข้าใจ อาจจะคุยเป็นการเฉพาะ หรือรวมกลุ่ม แลกเปลี่ยนประสบการณ์

          ขั้นที่ 6 นัดต่อเนื่อง (ARRANGE) ติดตามทางโทรศัพท์ ตามที่พอเหมาะโดยไม่รบกวนเวลาทำงาน และป้องกันการสูบใหม่ โดยให้ข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงของผู้ป่วย (Relerance) บอกความเสี่ยง (Risk) ให้คำชมเชย (Reward) ช่วยแก้ปัญหาข้องใจ (Roddblock) และย้ำต่อเนื่อง (Repetilirn) = 5 R

          ในขั้นตอน ASSIST อาจมีความจำเป็นก็ต้องใช้ยาช่วย แต่มีการสนับสนุนง่ายๆ เช่น ดื่มน้ำบ่อยๆ อมชิ้นมะนาว อมยาบ้วนปาก หางานทำ ออกกำลังกาย เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจมิให้จดจ่อกับยาสูบ บางท่านใช้อมหมากฝรั่ง และแผ่นแปะนิโคติน รวมแล้วมี 5 A 5 R และ 4 ล. ในกระบวนการดูแลรักษา

          คุณวีณา เชิญร่วมมือกับแพทย์ในการให้กำลังใจสามีทุกขั้นตอนตามแนวทางนี้ ควรจะได้ผลค่ะ ถ้ามีข้อข้องใจ มีสายด่วน 1600 เป็นหมายเลขศูนย์บริการเลิกบุหรี่แห่งชาติ จะมีเจ้าหน้าที่ให้ความกระจ่าง ในเวลาราชการ

 

 

          ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง โดยพ.ญ.อารยา ทองผิว

 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ