วิธีเลือกซื้อรองเท้าวิ่ง

ที่มา : จดหมายข่าว วารสารสุขสาระ ปีที่ 15 ฉบับที่ 172


วิธีเลือกซื้อรองเท้าวิ่ง thaihealth


แฟ้มภาพ


สำหรับนักวิ่ง เรื่องใหญ่สุดอีกเรื่องหนึ่งก็คือต้องมีรองเท้าวิ่งที่สวมใส่สบาย เพราะระหว่างการวิ่งจะมีการลงเท้าสู่พื้นอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนหลายพันครั้ง รองเท้าที่ดีจะช่วยในการลดแรงกระแทก ระบายความร้อน  และช่วยให้การลงเท้ามั่นคง และประหยัดแรง


วิธีเลือกซื้อรองเท้าวิ่ง


1.เลือกรองเท้าให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ที่เราวิ่ง  เพราะรองเท้าสำหรับการวิ่งบนพื้นเรียบและพื้นดินนั้นจะมีการออกแบบพื้นรองเท้าไม่เหมือนกัน  ดังนั้น ปัจจัยแรกที่ควรคำนึงถึง คือ เราวิ่งบนสภาพพื้นแบบไหน


2.เลือกรองเท้าให้เหมาะกับระยะทางที่เราวิ่ง  ข้อนี้ก็สำคัญไม่น้อย เพราะระยะทางที่เราวิ่งนั้นจะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของเท้าและข้อเท้า ดังนั้น รองเท้าวิ่งสำหรับระยะไกลจะถูกออกแบบมาเพื่อให้กระชับข้อเท้า  เพื่อพยุงและรองรับน้ำหนักที่จะกดทับซ้ำๆ ติดต่อกัน หรือที่เรียกกันว่า Long-distance track shoes (Long-distance spikes) ในขณะที่รองเท้าวิ่งระยะสั้นจะถูกออกแบบมาเพื่อให้เหมาะกับการวิ่งแบบจ๊อกกิ้ง  ช่วยประคองข้อเท้าและควบคุมจังหวะการวิ่งทางโค้งหรือเวลาวิ่งเลี้ยวให้เท้าอยู่ในรูปทรงที่ถูกต้อง


3.เตรียมถึงเท้าที่ใส่วิ่งจริงๆไปด้วย ถุงเท้าสำหรับใส่วิ่งนั้นมีทั้งแบบข้อสั้น ข้อยาว แบบวิ่งระยะทางไกล และแบบช่วยลดอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดจากการเสียดสี เป็นต้น อีกประการหนึ่งก็คือ ขณะที่ลองสวมรองเท้าใหม่ คุณควรคำนึงถึงความคับความหลวมที่อาจจะเกิดขึ้นขณะสวมและไม่สวมถุงเท้า ดังนั้น การนำถุงเท้าที่ใช้จริงไปลองสวมด้วยขณะลองรองเท้าใหม่จะทำให้ปัญหารองเท้าไม่พอดีเมื่อใช้งานจริงหมดไป


4.ควรรู้ถึงลักษณะของเท้าเวลาวิ่ง  เพราะในการวิ่งของแต่ละคนนั้น จะมีลักษณะในการย่ำเท้าหรือการเคลื่อนที่ของเท้าขณะวิ่งที่แตกต่างกัน เรียกว่า Pronation ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นประเภทหลักได้ 4 ประเภทด้วยกัน คือ


                4.1 Under pronation เป็นลักษณะการวิ่งที่ทิ้งน้ำหนักไล่จากบริเวณส้นเท้าด้านนอกไปจนถึงปลายเท้า


                4.2 Neutral เป็นลักษณะการวิ่งที่ทิ้งน้ำฟนักไล่จากส้นเท้าผ่านฝ่าเท้าไปจนถึงปลายเท้า


                4.3 Overpronation เป็นลักษณะการวิ่งที่ทิ้งน้ำหนักไล่จากบริเวณส้นเท้าผ่านส้นเท้าด้านในจนถึงปลายเท้า


                4.4 Severe Overpronation เป็นลักษณะการวิ่งแบบเดียวกับ Overpronation แต่จะมีการลงน้ำหนักเพื่อเร่งความเร็วและผ่อนน้ำหนัก เป็นจังหวะสั้นๆ การวิ่งลักษณะนี้ จึงเกิดแรงกระแทกมากกว่าแบบ Overpronation


5.รองเท้าวิ่งไม่ใช่รองเท้าแฟชั่น ในความเป็นจริงแล้วรองเท้าวิ่งถูกออกแบบมาให้มีลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกัน  ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะการวิ่งของเรา  ในที่นี้เราสามารถแบ่งลักษณะของรองเท้าวิ่งนอกเหนือจากรองเท้าสำหรับวิ่งบนพื้นถนนและรองเท้าสำหรับวิ่งบนพื้นดิน  ออกได้เป็นลักษณะอื่นๆ อีก ได้แก่


                5.1 Motion control running shoes ออกแบบมาเพื่อดูดซับแรงกระแทกของการวิ่งลักษณะ Overpronation และชะลอการเคลื่อนที่ของกล้ามเนื้อเท้าให้ช้าลง  เป็นรองเท้าที่มีความทนทานสูงและมีน้ำหนักมากกว่าแบบอื่น


                5.2 Cushioned running shoes รองเท้าวิ่งประเภทนี้ เหมาะสำหรับนักวิ่งที่มีลักษณะการวิ่งแบบ Neutral ซึ่งเป็นการวิ่งที่มีการกระแทกตรงบริเวณกลางฝ่าเท้า  เพราะถูกออกแบบมาเพื่อดูดซับแรงกระแทกที่จะเกิดบริเวณข้อเท้าระหว่างวิ่ง


                5.3 Stability running shoes เป็นรองเท้าที่ถูกออกแบบมาโดยมีคุณสมบัติระหว่าง Motion control และ Cushioned คือ มีคุณสมบัติในการดูดซับแรงกระแทกและมีความทนทาน


                5.4 Lightweight running shoes เหมาะสำหรับนักวิ่งที่เน้นด้านความเร็ว เพราะมีน้ำหนักเบาและมีคุณสมบัติคล้ายกับ Stability ในเรื่องของการดูดซับแรงกระแทกแต่อาจไม่เท่า Cushioned


6.ซื้อรองเท้าที่ร้านขายรองเท้าวิ่งโดยเฉพาะ  เนื่องจากมีพนักงานขายที่มีความรู้เกี่ยวกับรองเท้าวิ่งที่สามารถแนะนำรองเท้าที่เหมาะสมกับคุณได้นั่นเอง  แต่หากแถวบ้านไม่มีร้านขายรองเท้าวิ่งโดยเฉพาะ ก็สามารถเข้าร้านขายอุปกรณ์กีฬาแทนได้เช่นกัน


7.ไม่แนะนำให้ซื้อรองเท้าคู่ที่พอดีเกินไป  เพราะอาจเกิดการเสียดสีของผิวหนังกับรองเท้า ทำให้เกิดอาการเจ็บแสบผิวหนังบริเวณเท้าได้  ข้อแนะนำให้เลือกรองเท้าที่มีส่วนปลายยาวกว่านิ้วโป้งประมาณครึ่งนิ้ว ก็จะช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้ดี


8.ทดสอบความยืดหยุ่นของรองเท้าวิ่ง  รองเท้าวิ่งที่ดีควรมีความยืดหยุ่นที่ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป  ซึ่งคุณสามารถทดสอบได้ง่ายๆ เพียงออกแรงดึงปลายรองเท้าด้านหน้าเข้ามาด้านในเบาๆ หากรองเท้างอ แสดงว่าเป็นรองเท้าวิ่งที่เหมาะสม  แต่ถ้างอกมากๆ ให้เลี่ยงไว้ดีกว่า  เพราะอาจทำให้เท้าบาดเจ็บได้นั่นเอง

Shares:
QR Code :
QR Code