วิธีป้องกัน “เด็กติดเกม”

ที่มา : มูลนิธิหมอชาวบ้าน


วิธีป้องกัน


แฟ้มภาพ


ลักษณะอย่างไรจึงเข้าข่ายเป็น "เด็กติด (คลั่ง) เกม?" เล่นเกมเกิน 3 ชั่วโมง ในแต่ละครั้ง  เล่นเกมจนไม่ยอมกิน ไม่ยอมนอน ไม่ยอมเรียน (มักชอบโดดเรียน) เล่นเกมจนผลการเรียนตกต่ำ เล่นเกมจนไม่มีเงิน หรือเล่นจนต้องขโมยเงินขโมยของ โกหกเพื่อที่จะได้เล่นเกม กระสับกระส่าย หงุดหงิดงุ่นง่าน หรือถึงขั้นอาละวาดหากไม่ได้เล่นเกม


ดังนั้น…ก่อนจะสายเกินไป เราจึงควรแสวงหาวิธี "ป้องกันไว้ก่อน" ดังเช่นข้อแนะนำต่อไปนี้…


  1. ชวนลูกคุยเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะในเรื่องเกม โดยอาจจะยกข่าวเกี่ยวกับภัยของเกม หรือให้ข้อมูลข้อเท็จจริง แล้วให้ลูกแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ (โดยเราอย่าจ้องแต่จะขัดคอ หรือตำหนิ) จากนั้นก็ร่วมกันหาข้อตกลง เช่น ควรเล่นเกมได้สัปดาห์ละกี่วัน ? วันละกี่ชั่วโมง ? รวมทั้งช่วยกันเลือกเกมที่สร้างสรรค์ และเหมาะสมกับวัยของลูก
  2. ควรวางเครื่องคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในที่ ๆ พ่อแม่สอดส่องถึง เช่น ห้องรับแขก หรือห้องโถง และไม่ควรไว้ในห้องนอนหรือห้องส่วนตัวของลูก
  3. ในหลาย ๆ กรณีของเด็กติดเกมนั้น เริ่มต้นจากการที่พ่อแม่ไม่เอาใจใส่มาตั้งแต่ต้น ด้วยอาจเห็นว่าเกมทำให้ลูกอยู่ติดบ้าน หรือลูกนั่งแต่หน้าคอมฯ ก็ดีจะได้ไม่ทำตัววุ่นวายรบกวนพ่อแม่  แต่ครั้นปล่อยไประยะหนึ่งจึงได้รู้ว่าลูกรักโดน "ภัย" จากเกมเล่นงานจนงอมแงมซะแล้ว! 


ดังนั้น จึงควรหากิจกรรมสร้างสรรค์ดี ๆ มาทดแทน หรือลดเวลาในการเล่นเกมของลูก ยิ่งลูกอยู่ในวัยอยากรู้อยากเห็น และมีพลังเหลือเฟือ ยิ่งควรคิดถึงในเรื่องนี้ให้มาก 


วิดีโอเกม เกมคอมฯ เกมบอย เกมทั้งหลายไม่ได้มีแต่โทษ เลือกเกมดีก็มีประโยชน์ ทางการแพทย์ได้ทดลองเอาเกมมาลดอาการเจ็บปวดของเด็ก ปรากฏว่าได้ผลดีทีเดียว ได้มีการทดลองใช้ในผู้ป่วยเด็กที่เป็นมะเร็งก็สามารถลดอาการอาเจียน ลดความกลัวลงได้เช่นเดียวกัน


เกมสามารถนำมาใช้กับผู้ป่วยหลังการบาดเจ็บที่มือและอยู่ระหว่างการฟื้นสภาพ ต้องการการออกกำลังกายนิ้ว มือและแขน ก็สามารถนำเอาการเล่นเกมต่างๆ มาใช้ในการออกกกำลังกายได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่ถูกน้ำร้อนลวกหรือถูกไฟไหม้ที่มือซึ่งจะเกิดการยึดติดของนิ้วได้ง่าย เช่นเดียวกับในเด็กที่มีความพิการของมือ อาจนำมาใช้ในการออกกำลังกายได้เช่นกัน


ของทุกอย่างก็แบบนี้  มีทั้งดีและโทษ ต้องเลือกใช้อย่างฉลาด อย่าตกเป็นเหยื่อวัตถุนิยม

Shares:
QR Code :
QR Code