วิธีง่ายๆ ในการเริ่มลด ‘การกินเค็ม’
ที่มา : คู่มือส่งเสริมการพัฒนาทักษะชีวิต สำหรับเด็กและเยาวชน เรื่อง Food & Fit สร้างชีวิตให้ Strong
แฟ้มภาพ
ตามปกติแล้วความเค็มของอาหารส่วนใหญ่มาจากเกลือ ที่เป็นส่วนประกอบในอาหารถ้าร่างกายได้รับเกลือในปริมาณที่มากเกินไป ทำให้เสี่ยงที่จะเกิดโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งในระยะแรกจะไม่แสดงอาการแต่จะทำลายอวัยวะต่างๆ ไปเรื่อยๆ และมีภาวะแทรกซ้อนต่อสมอง หัวใจ ตับและไต ถ้ารุนแรงอาจทำให้เกิดอัมพฤกษ์-อัมพาตได้ ก่อนจะสายเกินไปปรับเปลี่ยนการกินเค็มตั้งแต่วันนี้ก่อนที่จะสาย
1.เริ่มจากการเก็บขวดเกลือที่เคยวางอยู่บนโต๊ะอาหารไปไว้ที่อื่น
2.ปรุงอาหารโดยลดการเติมเกลือ น้ำปลา หรือซอสปรุงรสที่ให้รสเค็ม เหลือเพียงครึ่งเดียวจากที่เคยเติมตามความเคยชิน เมื่อคุ้นกับรสชาติใหม่แล้วก็เริ่มลดความเข้มลงเรื่อยๆ จนกระทั้งใช้ให้น้อยที่สุดหรือไม่ต้องปรุงเลย
3.ลดอาหารสำเร็จรูปโดยเฉพาะซุปกระป๋อง อาหารหมักดอง ของเค็มทั้งหลาย
4.เลิกนิสัยกินจุบจิบระหว่างวัน โดยเฉพาะขนมกรุบกรอบที่ส่วนใหญ่มีส่วนผสมของเกลือ นอกจากจะลดเกลือได้แล้ว ยังเป็นอีกทางหนึ่งช่วยลดน้ำหนักได้ด้วย
5.เวลาสั่งอาหารนอกบ้าน ให้ย้ำเสมอจนเป็นนิสัยว่า “ไม่เค็ม”
6.ถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงร้านอาหารประเภทจานด่วน เพราะอาหารเกือบทุกอย่างมีปริมาณโซเดียมสูง
7.อาหารที่ขาดรสเค็มไม่ชวนกิน แก้ไขโดยหารให้มีรสเปรี้ยวหรือเผ็ด หรือใส่เครื่องเทศต่างๆ
8.ลดความถี่ของการบริโภคอาหารที่ต้องมีเครื่องปรุง น้ำจิ้ม เช่น สุกี้ หมูกระทะ รวมทั้งลดปริมาณน้ำจิ้มด้วย