วิถีใหม่แรงงานไทย เลิกสูบ เลิกจน
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจาก สสส.
รู้หรือไม่? บุหรี่กับเศรษฐกิจเป็นของคู่กัน หากจะกล่าวว่า การเติบโตของนักสูบนั้นมีอัตราผันแปรตาม การเติบโตของสังคมยุคอุตสาหกรรม ก็คงไม่ผิดนัก เพราะในกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่มีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ นับเป็นอีกกลุ่มนักสูบที่มีอัตราสูงไม่น้อย
ซึ่งที่มาของการสูบ หลายคนตอบตรงกันเพราะ "ความเครียด" จากการงาน ที่ต้องคร่ำเคร่งและการเผชิญกับชั่วโมง การทำงานยาวนานเฉลี่ยวันละไม่ต่ำกว่า 10-12 ชั่วโมง เป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ วัยแรงงานส่วนใหญ่เลือกหันมาพึ่งพา "บุหรี่" ด้วยหวังจะใช้เป็นเครื่องมือปลดปลงความเครียดตนเอง
แต่สุดท้ายการเดินเข้าสู่วังวน นักสูบกลับกลายเป็นวัฏจักรสร้างทุกข์ที่ไม่สิ้นสุด เพราะปลายทางของนักสูบส่วนใหญ่ มักต้องชดใช้ด้วยผลกระทบ ต่อสุขภาพ และยังเลยไปถึงการเบียดเบียนเงินทองในกระเป๋าที่ต้องหมดไป เพราะค่าบุหรี่และค่ารักษาตัว
ในการแถลงข่าว "ปฏิรูปวิถีแรงงาน เลิกสูบ เลิกจน" จัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รศ.ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ กรรมการบริหารแผนคณะ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และกรรมการกำกับทิศทางของ ศจย. กล่าวว่า ปัญหาการความยากจนกับ การสูบบุหรี่ จึงเป็นเรื่องที่ควบคู่กันไปตั้งแต่ระดับบุคคลและครัวเรือนไปถึงระดับโลก ในระดับโลกพบว่า ผู้สูบบุหรี่ส่วนใหญ่ถึง 84% อยู่ในประเทศยากจน หรือประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะกับประชากรวัยทำงาน "ซึ่งสาเหตุสำคัญของการติดบุหรี่ในประชากรวัยแรงงาน มีทั้งปัญหาในเชิงโครงสร้างของระบบการทำงานและปัญหาส่วนตัว" รศ.ดร.แลระบุ
เสริมด้วยข้อมูลจาก ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ระบุ "หากคนๆ หนึ่งเลิกสูบบุหรี่จะประหยัดเงินทั้งปีไปได้ถึง 8,700 กว่าบาท ซึ่งถ้าคนทั้งประเทศ เลิกสูบบุหรี่ได้ ประเทศไทยเราจะประหยัดเงินไปถึง 93,000 ล้านบาท นี่คือตัวเลขเงินเฉพาะที่ใช้ซื้อบุหรี่เท่านั้น เพราะยังไม่รวม ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโรคต่าง ๆ ที่เป็นผลมาจากบุหรี่ ซึ่งทำร้ายสุขภาพและความสุขในการใช้ชีวิตของคนสูบ"
เมื่อการบุหรี่เป็นปัจจัยหนึ่งของ ปัญหาทางเศรษฐกิจในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ศจย. จึงร่วมกับสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่เชิญชวนให้วัยแรงงานหันมาเลิกสูบ โดยขับเคลื่อนผ่านกลไกของสมาพันธ์จังหวัด ซึ่งประกอบด้วยสมาพันธ์และสหภาพแรงงานเครือข่าย โดยมีการนำผลสำรวจจากสวนดุสิต มาพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานควบคุมยาสูบ ในกลุ่มผู้ใช้แรงงานของประเทศให้เหมาะสม กับสถานการณ์ปัจจุบัน
รศ.ดร.แล กล่าวถึงที่มาความร่วมมือว่า เนื่องจากทุกวันนี้ แรงงานไม่ได้อยู่อย่างกระจัด กระจาย แต่อยู่เป็นกลุ่ม อาทิ สหภาพแรงงาน สมาพันธ์แรงงาน จึงเป็นกลไกสำคัญในการสื่อสารและปฏิรูป ถ้าสามารถเข้าไปร่วมกับ กลุ่มองค์กรต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อดูแล ผลประโยชน์ของเขาโดยการป้องกันเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ส่งเสริมการแก้ไขให้ สภาพการจ้าง สภาพการทำงานมีลักษณะปลอดภัยและผ่อนคลายมากขึ้น รวมถึงในระดับปัจเจก คือการให้ความรู้วัยแรงงานเกี่ยวกับอันตราย ความสูญเสียจากบุหรี่ รวมถึงสร้างสิ่งแวดล้อมที่นำไปสู่วัฒนธรรมที่ไม่ส่งเสริมให้สูบบุหรี่
อย่างไรก็ตามอุปสรรคปัญหา การทำงานว่า "ที่ผ่านมาบุหรี่ถูกสร้างทัศนคติว่า เป็นสินค้าจำเป็น ไม่ว่าจะเป็น "วัฒนธรรมลูกผู้ชายต้องสูบบุหรี่" "ผู้หญิงสูบบุหรี่ถึงเท่" ควรต้องสร้างทัศนคติใหม่ให้คนฝืนกระแสว่า กล้าเปลี่ยนหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่ไปแตะต้องเรื่องเหล่านี้ จะไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ เพราะพฤติกรรมนี้เป็นเรื่องอยู่ในกระแสสังคมไทยมานาน"
สอดคล้องกับการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคยาสูบของ "กลุ่มผู้ใช้แรงงาน" ทั้งในและนอกระบบโดยทางสวนดุสิตโพลล่าสุด ที่แม้จะพบว่าปัญหารายได้ ที่ลดลง อันเป็นผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้นักสูบทั้งหลายเลือกที่จะ "ตัดใจ" หย่าขาดจากยาสูบเป็นอันดับต้น ๆ มากขึ้น แต่ก็มีบางกลุ่มคนที่กลับสูบมากขึ้นเช่นกัน
"แต่อีกผลสำรวจน่าตกใจมากกว่า คือยังพบว่าขณะนี้เพศหญิงกลายเป็น กลุ่มที่มีอัตราบุหรี่ไฟฟ้าสูงกว่าเพศชาย เพราะมีความเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ทำให้เกิดมะเร็ง และทำให้เลิกสูบบุหรี่ได้ ทั้งที่บุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมาย" ดร.ณัฐพล แย้มฉิม ประธานสวนดุสิตโพลให้ข้อมูล
ขณะที่ อนุชิต ธูปเหลือง อดีตรองประธานสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย สะท้อนมุมมองว่า ปัจจุบันสหพันธ์แรงงานและรัฐวิสาหกิจ มีสมาชิกเครือข่ายกว่า 1,400 สหพันธ์ ซึ่งหากศจย.เข้ามาช่วยเผยแพร่โดยผ่านกลไกสหพันธ์ ก็จะสามารถเข้างถึงกลุ่มแรงงานส่วนใหญ่ทั้งประเทศที่มีกว่า 38 ล้านคนให้ปลอดภัยจากควันบุหรี่ได้
"บุหรี่ยิ่งสูบยิ่งจน ยิ่งเครียด เป็น ข้อเท็จจริง ซึ่งวัตถุประสงค์ของสหภาพ แรงงาน ก่อตั้งขึ้นเพื่อดูแลสิทธิและ ผลประโยชน์ของพนักงาน และเพิ่มความรู้ และสวัสดิการ ซึ่งการป้องกันการสูบบุหรี่ ของพนักงาน ถือเป็นสวัสดิการหนึ่งที่สามารถช่วยพนักงานได้ ในการแก้ปัญหา ความจนความเครียด" อนุชิตกล่าวย้ำในตอนท้าย