‘วิชาชีวิต’ ป้องกันแต่วัยเยาว์
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
"ปัจจัยทางโครงสร้างมันให้กำเนิดฆาตกร มันไม่ได้หล่นลงมาจาก ท้องฟ้า มันผุดขึ้นมาจากเนื้อดินของสังคมไทยซึ่งมีคุณภาพแบบนี้ มันก็ออกมาเป็นอย่างนี้ แต่ก็มีคำถามว่าแล้วทำไมคนอื่นไม่เป็น? ที่เขาไม่เป็นก็เพราะเงื่อนไขมันไม่เอื้ออำนวยให้ มันมีเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้เราเป็นอย่างที่เราเป็นในทางสังคม ถ้าคิดในแง่สังคมศาสตร์ เราก็ไปเน้นที่เหตุปัจจัยในทางสังคมซึ่งมีความสำคัญ ไม่แตกต่างกัน สัมพันธ์กันด้วย"
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์สาขาวิชาการเมือง การปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวในงานราชดำเนินเสวนา "ทางออกโทษประหาร กับปัญหากระบวนการยุติธรรม" ชวนสังคมไทยมองการเกิดขึ้นของ ผู้กระทำผิดกฎหมายต่างๆ ว่าคงไม่อาจมองแบบง่ายๆ เพียงใคร คนหนึ่งเป็นคนเลวโดยสันดาน แต่มาจากหลากหลายสาเหตุ เช่น ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ความไม่รู้ ฯลฯ และไม่มีเงื่อนไขอื่นๆ มาลดระดับความรู้สึกนั้น
ไม่ต่างจาก รศ.ดร.สุณีย์ กัลยะจิตร นักวิชาการด้านอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล ที่กล่าวว่า "เด็กที่เกิดมา พูดจารู้เรื่อง ทุกคนจะบอกว่าโตขึ้นอยากเป็นคนดี" ดังนั้นอยากให้ย้อนกลับไปมองว่ากว่าจะมาเป็นอาชญากรต้องผ่านอะไร มาบ้าง เช่น เป็นผู้ถูกกระทำหรือพบเห็นความรุนแรงในครอบครัว การถูกรังแกในโรงเรียน การไม่เป็นที่ยอมรับจึงแสวงหาการยอมรับโดยได้รับข้อมูลแบบผิดๆ การเห็นบางตัวอย่างจากผู้ใหญ่ในสังคม ฯลฯ
จากความเห็นของนักวิชาการสู่เรื่องเล่าจากคนทำงานจริงกับผู้ก้าวพลาด ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรม เด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวในเวทีเสวนา "จากวิชาชีวิต..สู่การแนะแนวเชิงรุกเพื่อเพิ่มทุนชีวิตนักเรียน : โอกาสและความท้าทาย" โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า การออกแบบหลักสูตรวิชาชีวิตในบ้านกาญจนาฯ มาจากหลักคิด "ไม่มีใครเลวโดยกำเนิด" แต่มาจากหลายปัจจัย
"เด็กจำนวนหนึ่งถูกหลงลืมถูกเพิกเฉย พ่อแม่ก็เป็นมนุษย์เงินเดือนต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัว แล้วก็ยังไม่มีใครไปเปลี่ยนทัศนคติว่าพ่อแม่ต้องทำอะไรมากกว่าการเลี้ยงลูกในแบบนี้ ทั้งหมดก็ทำให้เด็กกลุ่มหนึ่งค้นหาตัวเองไม่เจอ คิดว่าตัวเองไม่ได้เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามีความหมาย แล้วเมื่อเด็กเดินเข้าไปเป็นสมาชิกคนหนึ่งในห้องเรียน ห้องเรียนก็เสมือนซ้ำเติมแม้ไม่ตั้งใจ เพราะเนื้อหาหลักสูตรมันได้ตอกย้ำความเป็นผู้แพ้ ผู้ไม่เป็นที่ต้องการของเขา เด็กรู้สึกว่าความสุขมันหายากมาก" ผอ.บ้านกาญจนาฯ กล่าว
เมื่อขาดต้นทุนชีวิต เยาวชนจำนวนไม่น้อยก็เกิดปัญหา และบางคนก็พลาดพลั้งถึงขั้นทำผิดอาญาแผ่นดินถูกส่งไปควบคุมในสถานพินิจ ทิชา เล่าต่อไปว่า "เยาวชนที่ถูกส่งมายังบ้านกาญจนาฯ กว่าครึ่งมีปัญหาครอบครัว และคิดว่านั่นคือปมด้อย" ดังนั้นภารกิจของบ้านกาญจนาฯ คือต้องสลายความคิดนั้นผ่านหลักสูตรการอบรมในเนื้อหาที่ชื่อ "ผู้รอดบนความ ขาดพร่อง" ซึ่งเป็น 1 ใน 8 เนื้อหาของชุดวิชาชีวิตผู้รอดบนความขาดพร่อง หมายถึงการทำให้เห็นภาพว่า "ผู้เปลี่ยนแปลงโลกมักไม่ได้มาจากพื้นเพที่สมบูรณ์" อาทิ เรื่องราวของ สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) ผู้ก่อตั้งบริษัทแอปเปิล ทุกคนรู้ว่าจ็อบส์ถูกเลี้ยงดูมาโดยครอบครัวบุญธรรมไม่ใช่พ่อแม่ที่แท้จริง เรื่องนี้ให้ข้อคิด "ระหว่างสิ่งที่ขาดหายกับ สิ่งที่เหลืออยู่ เราควรให้คุณค่ากับอะไร?" ค่อยๆ จุดประกายให้ผู้ฟังค่อยๆ คิดตาม และเมื่อกวาดสายตามองไปยังบรรดา เห็นผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ก็พบว่าไม่น้อยเลยที่มีภูมิหลังคล้ายกันกับเจ้าพ่อเทคโนโลยีผู้นี้
ตลอดการฝึกอบรม บุคลากรที่ผ่านกาญจนาฯ ทั้งเจ้าหน้าที่ รวมถึงผู้อำนวยการ เก็บข้อมูล "การเดินทางทางความคิด" ของเยาวชนผู้ก้าวพลาด ผ่านบันทึกที่ให้เขียนบ้าง การให้ ฝึกวิเคราะห์ข่าว-วิเคราะห์ภาพยนตร์บ้าง "เป็นการทำงานที่หนัก เพราะจะไม่ละเลยข้อเขียนของใครทั้งสิ้น ทุกฉบับจะถูกอ่าน ทั้งหมด" ซึ่งเป็นการเรียนรู้ไปด้วยกันเนื่องจากทีมงานบ้านกาญจนาฯ ก็จะได้นำข้อมูลเสียงสะท้อนจากเยาวชนไปปรับปรุงหลักสูตรให้ดีขึ้นต่อไปด้วย
"เด็กหลายคนได้บอกกับเราต่างกรรมต่างวาระ ว่าถ้าเขาได้เรียนสิ่งเหล่านี้มาก่อนตั้งแต่ตอนที่เขาอยู่ต้นน้ำ เขาจะไม่ติดคุก อันนี้เราไม่ได้จินตนาการเอง แต่เด็กเป็นผู้บอกเองว่าทำไมตอน อยู่ที่โรงเรียนเขาไม่สอนผม ผมจะได้ไม่ต้องเสียเวลามาติดคุก เพราะการติดคุกมันไม่ใช่การย้ายบ้านย้ายห้องนอนมาอยู่ในสถานที่ ควบคุมเท่านั้น แต่มันพรากเอาคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเชื่อมั่นในตัวเขาไปหมดเลย ทำไมเราต้องปล่อยให้เด็ก เดินมาสายนี้ ผู้ใหญ่อย่างเราที่เกิดก่อนน่าจะคิดเรื่องพวกนี้ได้ก่อน" ผอ.บ้านกาญจนาฯ ระบุ
เสียงสะท้อนจาก อดีตเด็กบ้านกาญจนาฯ ฟิว-อภิชาติ กล่าวเสริมว่า ถ้าครอบครัวและโรงเรียนไม่สามารถเป็นที่พึ่งของเด็กๆ ได้ พวกเขาก็จะต้องไปหาเพื่อน แต่เพื่อนนั้นก็ไม่ได้แตกต่างกัน อยู่สถานะเดียวกัน จึงมีแต่จะพากันดึงลงไปในทางผิดๆ พร้อมกับย้ำว่า "หากในขณะที่กำลังตามหาตนเอง ถ้าเด็กๆ ได้เรียนวิชาชีวิตก่อนมั่นใจว่าไม่มีทางก้าวพลาด" ซึ่งในชีวิตคนเรานอกจากความรู้ทางวิชาการแล้ว การมีทักษะรับมือกับปัญหา ต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาในชีวิตก็จำเป็นไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะในบางสถานการณ์ ความรู้ทางวิชาการอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอ
บทเรียนจากบ้าน กาญจนาฯ ข้างต้น กลายเป็นโจทย์ต่อยอดไปอีกว่า "เหตุใดต้องรอให้ก้าวพลาด ก่อนค่อยมาเข้ากระบวนการ ฟื้นฟูพฤติกรรม?" วิชาชีวิต จึงถูกนำไปทดลองในพื้นที่ เล็กๆ ภายใน โรงเรียนวัดคู้บอนวัฒนานันท์อุทิศ ซึ่งอาจารย์ประจำชั้นมัธยม ศึกษาปีที่ 2 ห้อง 1 ทศทัศน์ บุญตา เล่าว่า จากประสบการณ์ 7 ปีที่สอนระดับมัธยมศึกษา พบว่า "เด็กร้อยละ 80 มาจากครอบครัวที่ไม่พร้อม" หลายคนอาจเห็นท่าทีที่เด็กแสดงออกแล้วรู้สึกว่าเป็นเด็กมีปัญหา
แต่หลังจากผ่านการทำกิจกรรมวิชาชีวิต เด็กๆ กล้าพูดกล้าเล่ามากขึ้น ครูได้รู้ว่าแต่ละคนผ่านอะไรมาบ้างจึงเป็นอย่างที่เห็น "เคยถามว่าทำไมเด็กๆ ถึงชอบชักสีหน้า? เขาบอกใน เมื่อผู้ใหญ่เห็นทุกอย่างก็ติไปหมดมองไม่ดีไปหมด เขาก็เก็บไว้ และแสดงสีหน้าแบบนี้" เป็นต้น การฝึกอบรมหลักสูตรวิชาชีวิต ทำให้เด็กๆ เริ่มค่อยๆ ได้คิดด้วยตนเองและเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น โดยหัวใจสำคัญคือ "เข้าไปหาด้วยท่าทีที่เป็นมิตร" และเปิดพื้นที่ปลอดภัย รวมถึงครอบครัวของเด็กๆ ที่ต้องให้ความร่วมมือด้วย อาทิ มีการเยี่ยมบ้านพูดคุย
การฝึกอบรมวิชาชีวิตแบ่งออกเป็น 8 เนื้อหา คือ 1.ผู้รอด บนความขาดพร่อง 2.การละเมิดสิทธิและอาชญากรรม 3.พฤติกรรม ทางเพศและความรุนแรงต่อผู้หญิง 4.ต้นทุนการเลือกค่านิยม 5.กระตุ้นความเป็นมนุษย์ใฝ่ดีสำนึกดี 6.การหลบหนีและผลลัพธ์ที่ตามมา 7.ชมภาพยนตร์และร่วมคิดร่วมคุยร่วมเขียนหลังชมภาพยนตร์ และ 8.การตอบกระทู้เพื่อพัฒนาเป็นกติกาหรือข้อตกลง โดยในแต่ละเนื้อหาจะมีกิจกรรมย่อยๆ สร้างความตระหนักรู้กับเยาวชน
หากขยายผลหลักสูตรวิชาชีวิตไปยังโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศได้คงเป็นเรื่องดี เพราะนี่คือการลงทุนเพื่อลดอาชญากรรมตั้งแต่ต้นเหตุที่สำคัญอีกทางหนึ่ง