วิจัยวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกสำเร็จ
ประเทศไทยร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน 5 ชาติกลุ่มอาเซียน วิจัยวัคซีนไข้เลือดออกสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก เผยทดลองฉีดในเด็กอายุ 2-14 ปี กว่า 10,000 คน ป้องกันครอบคลุม 4 สายพันธุ์ ลดความรุนแรงของโรคได้ร้อยละ 88 คาดอีก 2 ปีคนไทยมีโอกาสได้ใช้
ที่โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวภายหลังเปิดการประชุมวิชาการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ว่า กรมควบคุมโรคกำลังพิจารณาบรรจุวัคซีนใหม่ที่จำเป็นเพิ่มขึ้น เพื่อลดการป่วยตายของคนไทย ตามคำแนะนำของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ในคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ โดยจัดทำเป็นโครงการระดับชาติเรียกว่า “โครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค” ได้แก่ 1. วัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี โรคมะเร็งปากมดลูก 2. วัคซีนป้องกันโรคอุจจาระร่วงในเด็กเล็ก 3. ผลักดันการฉีดวัคซีนคอตีบและบาดทะยักในผู้ใหญ่เป็นประจำ 10 ปีครั้ง และ 4. ผลักดันให้มีการใช้วัคซีนในกลุ่มผู้ใหญ่ บุคลากรทางการแพทย์ให้มากยิ่งขึ้น ทั้งไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนอื่นๆ ที่มีความสำคัญ
นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า สำหรับวัคซีนไข้เลือดออกที่ไทยร่วมวิจัยกับอีก 4 ประเทศและภาคเอกชนนั้น ทราบว่าได้ผลดี สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันไข้เลือดออกได้ 56.5% คาดว่า ในอีก 2 ปีข้างหน้าคนไทยจะมีโอกาสได้ใช้วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยสามารถป้องกันได้ 4 สายพันธุ์ที่พบการระบาดในไทย
พญ.อุษา ทิสยากร นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การผลิตวัคซีนไข้เลือดออกต้นแบบเป็นการวิจัยร่วมของ 5 ประเทศ คือ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ซึ่งได้ตีพิมพ์ความสำเร็จครั้งนี้ในวารสารแลนด์แซท (Landsat) ที่เป็นวารสารทางการแพทย์ระดับโลก ถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกของโลกที่จะมีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าป้องกันและลดความรุนแรงของโรคได้ ซึ่งจากการทดลองในกลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กอายุ 2 – 14 ปี จำนวนกว่า 1 หมื่นราย โดยการฉีดวัคซีนทั้งหมด 3 เข็ม ห่างกัน 6 เดือน และ 12 เดือน พบว่า สามารถป้องกันโรคได้ 56.5% ลดความรุนแรงของโรคได้ 88.5% และป้องกันได้ 4 สายพันธุ์
พญ.อุษา กล่าวว่า ไทยเริ่มวิจัยพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกเมื่อ 20 ปีก่อน ตั้งแต่สมัย ศ.นพ.ณัฐ ภมรประวัติ และเริ่มสำเร็จตั้งแต่ปี 2552 โดยพื้นที่ที่ได้รับคัดเลือกวิจัยต้องมีความพร้อม เช่น เป็นพื้นที่ที่มีความชุกของโรคสูง มีความร่วมมือของผู้บริหารและบุคลากรในพื้นที่ ตลอดจนมีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการวิจัยทดลองอย่างดีเยี่ยม ซึ่งพื้นที่ที่ทำการวิจัย คือ รพ.โพธาราม รพ.บ้านโป่ง และ รพ.กำแพงเพชร ทั้งนี้ จะมีการติดตามผลในกลุ่มตัวอย่างต่อเนื่องไปอีก 3 จนถึงปี 2560 ตามกฎเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก แต่ถือว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นนวัตกรรมที่คนไทยควรภูมิใจที่ได้มีส่วนเป็นเจ้าของนวัตกรรม ในการป้องกันโรคที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ
“หลังจากนี้ อีกประมาณ 2-3 เดือน อาจจะมีการประกาศความสำเร็จของการวิจัยทดลองวัคซีนไข้เลือดอออกในกลุ่มประเทศละตินอเมริกาอีก 5 ประเทศที่ทำการทดลองเช่นเดียวกับไทยในกลุ่มตัวอย่างกว่า 2 หมื่นราย โดยทำการทดลองในกลุ่มเด็กโต หากรวมกันระหว่าง 2 กลุ่มประเทศทั้งเอเชียและละตินอเมริกาก็จะทำให้กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยทดลลองวัคซีนของโลกมีสูงถึงกว่า 3 หมื่นราย” พญ.อุษา กล่าว
พญ.อุษา กล่าวอีกว่า ปัจจุบันไข้เลือดออกมีการเปลี่ยนแแปลงด้านอายุ โดยผู้ที่มีอายุมากขึ้นก็พบว่าเป็นโรคไข้เลือดออก ดังนั้น ผู้ใหญ่ก็สามารถเป็นไข้เลือดออกได้ไม่เฉพาะเด็กเท่านั้น อย่างไรก็ตามอยากเตือนถึงผู้หญิงที่มีประจำเดือนต้องระวังมากขึ้น เพราะหากป่วยเป็นไข้เลือดออกในช่วงที่มีประจำเดือน จะทำให้มีเลือดออกมากในช่องคลอด ซึ่งเป็นอันตรายมาก รวมถึงหญิงที่ตั้งครรภ์ก็มีอันตรายมากเช่นกัน
ที่มา : เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต