วาดเพลงกล่อมไทยใส่แอนิเมชั่น

/data/content/26559/cms/e_cgjlmoqrsz67.jpg


          บทเพลงกล่อมเด็ก ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ แสดงถึงรากเหง้าของชีวิตความเป็นอยู่ดั้งเดิมของไทยที่สืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน มากมายไปด้วยคุณค่าในการเรียนรู้ทั้งด้านวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต อีกทั้งยังช่วยปูพื้นฐานทางภาษาและวรรณกรรมให้แก่เยาวชนได้อีกด้วย


          ทว่าเมื่อมาถึงวันนี้เสียงเพลงกล่อมเด็กค่อยๆ เลือนไป ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาให้ ภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ และคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม จัดทำโครงการ "วาดเพลงกล่อมไทย" ในรูปแบบบทเพลงกล่อมเด็กและเพลงเด็กร้องเล่นของไทย ผ่านแอนิเมชั่นประกอบเพลงขึ้น


          โดยในงานแถลงข่าวและเปิดนิทรรศการภาพประกอบเพลง ซึ่งมี อ.ชนิศา ชงัดเวช หัวหน้าภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร ในฐานะหัวหน้าโครงการ พร้อมด้วย ศิรินชญา กันธิยะ รองผอ.รักษาราชการแทน ผอ.สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม, ผศ.ชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ผศ.เอกพงษ์ ตรีตรง คณบดี คณะมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร, อ.วุฒิชัย เลิศสถากิจ รองคณบดี คณะดุริยางคศาสตร์ ม.ศิลปากร และ สุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ช่วยกันบอกเล่าความเป็นมารวมถึงความคาดหวังของการดำเนินการในครั้งนี้ ที่หอศิลป์ร่วมสมัย/data/content/26559/cms/e_filqsz456789.jpgราชดำเนิน เมื่อวันก่อน


          อ.ชนิศา ชงัดเวช เล่าถึงที่มาของโครงการนี้ว่า เพราะเยาวชนรุ่นใหม่ยังขาดความเข้าใจในเรื่องของประเทศชาติโดยเฉพาะประเด็นเรื่องความรักชาติที่พูดๆ กันอยู่ทุกวันนี้แต่ขาดความลึกซึ้ง ไม่รู้ว่าเราเป็นใครมีอัตลักษณ์ตัวตนอย่างไร โดยเฉพาะสื่อที่เยาวชนได้รับทุกวันนี้จะเป็นสื่อต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ จนไม่เข้าใจว่าคนไทยมีรากเหง้าอย่างไร ก็เลยเกิดแนวคิดนี้ขึ้นมา เพื่อให้เข้าใจในวัฒนธรรม ประเพณี รวมถึงศิลปะ และเพลงกล่อมเด็กนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งเพราะมีเนื้อหาครอบคลุมหมด ทั้งเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม วิถีชีวิต ความเชื่อ ประวัติศาสตร์ของชาติ และเรื่องของธรรมชาติชีวิตที่จะกล่อมเกลาจิตใจด้วย ขณะเดียวกันภาษาก็ไพเราะเป็นทั้งวรรณกรรมและวรรณศิลป์ จึงนำเอาเนื้อหาเหล่านี้มาสร้างให้เกิดภาพผ่านแอนิเมชั่น


          "ความคาดหวังของโครงการนี้ คืออยากสร้างสรรค์ผลงานที่มีการผสมผสานระหว่างอดีตกับปัจจุบันออกมาได้อย่างลงตัว การดีไซน์ที่คงความเป็นเอกลักษณ์ไทยได้อย่างเป็นสากล อีกส่วนหนึ่งเราอยากให้เป็นที่ประทับใจของเยาวชนของครอบครัวให้ได้นำไปใช้อย่างแพร่หลาย เป็นบทเพลงในครอบครัวเป็นเพลงของทุกคนในสังคมใครก็ร้องได้ ฉะนั้นนักร้องที่ร้องจะมีตั้งแต่คุณพี่ คุณแม่ คุณน้า คุณย่า และเด็กเล็กๆ สำหรับบทเพลงทั้ง 22 บทเพลงนั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ เพลงกล่อมเด็ก ซึ่งคัดเลือกจากเพลงที่เคยได้ยินสืบทอดมาจากอดีตจนถึงปัจจุบันจำนวนหนึ่ง เพื่อกระตุ้นให้คนฟังสนใจว่าเคยได้ยินและยังรับรู้อยู่ เช่นเพลงนกขมิ้น นกกาเหว่า วัดเอ๋ยวัดโบสถ์ เป็นต้น และอีกส่วนเราเลือกเพลงที่มีคุณค่าและสาบสูญไปแล้วคือไม่มีการสืบต่อไม่มีการร้องแล้วคนรุ่นใหม่ไม่รู้จัก เช่น เพลงเดือนหงาย เพลงลมพัดชายเขา โดยมี รศ.กุลวรา ชูพงศ์ไพโรจน์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านวรรณกรรมสำหรับเด็ก เป็นที่ปรึกษาทางวิชาการ/data/content/26559/cms/e_ahnoquvxz256.jpg อีกประเภทคือบทเพลงร้องเล่นของเด็กไทยจำนวน 10 เพลง" เจ้าของโครงการบอกเล่ารายละเอียด


          หนึ่งในผู้ประพันธ์ทำนองเพลงร้องเล่นของเด็กไทย อ.กานต์ สุริยาศศิน หัวหน้าภาควิชาดนตรีเชิงพาณิชย์ คณะดุริยางคศาสตร์ เล่าว่าอันที่จริงแล้วการพูดในภาษาไทยก็เหมือนการร้องเพลงอยู่กลายๆ อยู่แล้ว ดังนั้นในงานประพันธ์ทำนองจึงเริ่มต้นจากศึกษาเนื้อร้อง ความหมายของเดิมว่าเป็นอย่างไร ศึกษาอักขระของตัวคำร้อง เสียงสูงเสียงต่ำของคำร้อง อักษรเสียงสั้นเสียงยาวเพื่อให้ได้ทำนองแนบเนียนที่สุดกับคำร้อง โดยเน้นความเชื่อมโยงระหว่างอดีตกับปัจจุบัน อดีตคือคำร้อง ความหมายส่วนของปัจจุบันที่เติมแต่งเข้าไปคือการทำให้คำร้องตรงนั้นแจ่มชัดขึ้นเกิดเป็นทำนองโดยอาศัยตัวอักษรที่อยู่ในเนื้อร้องนั้นๆ สำหรับในเรื่องของดนตรีที่เป็นเสียงดนตรีไทยก็จะยังคงพยายามรักษาอัตลักษณ์ของเครื่องดนตรีนั้นๆ เช่น เสียงขลุ่ยไม่เอาการบรรเลงให้เหมือนเล่นฟลุต จะไม่เอาระนาดมาตีเหมือนเล่นไซโลโฟน เป็นต้น


          ทั้งนี้ ศิรินชญา กล่าวว่า สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เล็งเห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์และเผยแพร่เพลงกล่อมเด็กที่มีคุณค่านี้ จึงให้การสนับสนุนจัดทำโครงการ "วาดเพลงกล่อมไทย" ขึ้น โดยคณะผู้จัดทำรวบรวมบทกล่อมเด็กและบทร้องเล่นสำหรับเด็ก จำนวน 22 บทเพลงมาสร้างสรรค์เป็นแอนิเมชั่นประกอบเพลง และจัดทำเป็นแอพพลิเคชั่นเสริมเกร็ดความรู้ให้เป็นสื่อการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมที่ร่วมสมัยแก่เยาวชนและสังคมสืบต่อไป สำหรับผู้ที่สนใจเพลงกล่อมเด็ก และ เพลงเด็กเล่นของไทย สามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นได้ฟรีที่ Wadpleng klom thai#wadplengklomthai ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


 


 


          ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code