วางระบบการศึกษาเพื่อเด็กพิเศษ
สอศ. ร่วมกับสสค.วางระบบการสอนอาชีวศึกษาสายอาชีพเพื่อเด็กพิเศษ นำร่องวิทยาลัยสารพัดช่าง 5 แห่ง
7 เม.ย. 58 ที่วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการประชุมทิศทางการจัดการศึกษาสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษทางการเรียนรู้สายอาชีพเพื่อการมีงานทำ
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การจัดการศึกษาอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมเป็นเรื่องที่สภาปฏิรูปเน้นให้เป็นเรื่องหลัก และมีการพูดถึงการลงทุนแนวใหม่เพื่อสร้างหลักประกันทางการศึกษาให้กับเด็กไทยทุกคน จึงจำเป็นต้องมีการจัดสรรงบประมาณแบบใหม่ ซึ่งจะเป็นการจัดสรรงบตามตัวผู้เรียน ทั้งนี้การจัดการศึกษาที่ดี หัวใจสำคัญอยู่ที่ห้องเรียนโดยเฉพาะผู้อำนวยการและครูที่มีความเข้าใจ
นายวณิชย์ อ่วมศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า ปัจจุบันจำนวนเด็กบกพร่องการเรียนรู้จากภาวะทางสมอง ประกอบด้วย สมาธิสั้น แอลดี เรียนช้า และออทิสติก มีจำนวนถึง 12-13% ของประชากรเด็กทั้งหมด แนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของเด็กบกพร่องการเรียนรู้ส่วนหนึ่งมาจากอัตราส่วนประชากรที่เพิ่มขึ้น การค้นพบเด็กมีมากขึ้น ระบบการจัดการศึกษาจึงต้องถูกออกแบบเพื่อรองรับกับคนทุกกลุ่ม โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การสอนให้มีอาชีพและดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคม จึงได้เกิดโครงการนำร่องร่วมกับสสค. มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการออกแบบการจัดการเรียนการสอนสายอาชีพเพื่อรองรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษทางการเรียนรู้
นายวณิชย์ กล่าวว่า เพื่อจับมือและหาแนวทางจัดการสอนสำหรับเด็กพิเศษ โดยลงลึกถึงสาขาวิชาในการจัดการสอน การออกแบบหลักสูตร วิธีการสอน การวัดประเมินผล พร้อมกับการอบรมและพัฒนาครูให้มีความรู้และความเข้าใจ โดยมีการจัดทำงานวิจัยมารองรับเพื่อทำให้เป็นระบบมากขึ้น ซึ่งเบื้องต้นมีวิทยาลัยสารพัดช่าง 5 แห่งนำร่อง ประกอบด้วย วิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร วิทยาลัยสารพัดช่างนครหลวง วิทยาลัยสารพัดช่างสี่พระยา วิทยาลัยสารพัดช่างสมุทรปราการ และวิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ โดยสาเหตุที่เริ่มต้นในวิทยาลัยสารพัดช่างและวิทยาลัยการอาชีพ เนื่องจากมีความพร้อมและมีความยืดหยุ่นในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการสอนหลักสูตรระยะสั้น และสามารถเทียบโอนหลักสูตรในระดับปวช.ได้ และจะเริ่มทดลองเรียนพร้อมกับเก็บข้อมูลการวิจัยในช่วงปิดภาคเรียนตั้งแต่วันที่ 20 เมษายนนี้ และหลังจากนั้นในปีการศึกษา 2559 จะเป็นการเปิดภาคเรียนอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้การจัดการสอนอาชีพจำเป็นต้องคำนึงถึงความเหมาะสมตามศักยภาพของผู้เรียน และหากครูมีความเข้าใจก็สามารถคัดเลือกอาชีพหรือจัดอาชีพที่เหมาะสมกับเด็กได้
ที่มา : สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.)